แก้ปัญหาสันติภาพในพม่านักวิชาการ-ผู้เชี่ยวชาญพม่าชี้ตั้งโต๊ะเจรจาไร้ผล
รัฐฉานในพม่าสะท้อนการแก้ปัญหาเรื่องชาติพันธุ์ ผู้ติดตามเรื่องการเปลี่ยนแปลงการเมืองรัฐฉานระบุกระบวนการสันติภาพไม่เคยเกิดขึ้นจากการตั้งโต๊ะเจรจา ด้านดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช ชี้ ผู้มีอำนาจที่แท้จริงทางการเมืองคือกลุ่มทหาร
3 มิถุนายน 2558 เว็บไซต์ประชาไทจัดเสวนา เปิดตัวหนังสือ "รัฐฉาน พิชัยยุทธทางการเมืองการทหาร” ของดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณ อาคารมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.)
ดร.ดุลยภาค กล่าวว่า รัฐฉานมีความสัมพันธ์ในเชิงอำนาจกับประเทศพม่า ซึ่งในอนาคตรัฐฉานจะมีความสำคัญต่อโครงสร้างของประเทศพม่า 3 ประการ ประการแรก คือเรื่องของแนวคิดทฤษฎี หรือรูปแบบรัฐที่ยังคงความก้ำกึ่งความเป็นนครรัฐ ประการต่อมาคือการเมืองในรูปแบบสหพันธรัฐนิยมที่เป็นการประกอบสร้างขึ้นมาเป็นสหภาพพม่า ซึ่งสิ่งสำคัญคือสนธิสัญญาปางโหลง และการออกแบบสถาปัตยกรรมทางการเมืองที่พม่าไม่ได้ออกแบบภายใต้แนวคิดสหพันธรัฐ และรัฐบาลพม่าก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับแนวคิดพหุนิยมแต่จะเน้นไปที่เอกนิยมเสียมากกว่า อย่างสุดท้ายคือรัฐฉานจะเป็นรัฐที่สร้างพลังการปฏิวัติและมีการแสดงท่าทีทางกรเมืองที่เปลี่ยนไป โดยเป้าหมายสูงสุดคือมุ่งหวังที่จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหรือเรียกว่าการปฏิวัตินั้นเอง
ดร.ดุลยภาค กล่าวด้วยว่า แม้ในขณะนี้ในรัฐฉานนั้นจะมีผู้กองเต็งเส่งเป็นผู้ดูแลอยู่ แต่อำนาจหรือการจัดการทั้งหมดก็อยู่ที่ทหารเรียกง่ายๆ ว่า เป็นผู้นำที่ไม่มีอำนาจ และการเลือกตั้งครั้งใหม่ของพม่าที่กำลังจะเกิดขึ้นก็จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ หากมีการเปลี่ยนขั้วอำนาจ ดังนั้นขณะนี้จะเห็นว่า พรรคการเมืองต่างๆ ในประเทศพม่าพยายามลงพื้นที่หาเสียงกับประชาชน ซึ่งก็จะต้องจับตาดูว่าฝ่ายใดจะได้เข้ามา
"ที่สำคัญอำนาจในพม่านั้นจะเป็นไปในรูปแบบของสัจจะนิยม คืออย่างไรก็ตามในการปกครองหรือบริหารต้องมีการแบ่งอำนาจให้เท่าเทียมกัน และนั่นอาจจะเป็นเรื่องยาก และจะเป็นปัญหาตามมา"
ด้านนายประจักษ์ กุนนะ ผู้ติดตามเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองรัฐฉาน กล่าวว่า ในระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมามีการสู้รบกันกว่าสองร้อยครั้ง และรัฐบาพม่าไม่ทำตามสัญญา ซึ่งมีปัญหาหลักๆ คือ ให้ทหารไทใหญ่ อยู่ในป่า ทหารพม่าอยู่ในเมือง การข้ามเขตพื้นที่จะไม่พกอาวุธ การเจรจาไม่ว่าครั้งไหน ถ้าอยู่บนโต๊ะอะไรก็เจรจาได้ แต่พอออกมาจากโต๊ะเจรจาทำอะไรไม่ได้ การเจรจาที่มีเงื่อนไขให้ปฏิบัติกว่า 30 ข้อ ทำได้จริงเพียงไม่ถึง 5 ข้อ การที่ไม่สามารถบรรลุสันติภาพได้จริง คนที่รับผลเสียก็คือประชาชน
"การเจรจาสันติภาพและการทำให้กระบวนการสันติภาพเกิดขึ้นจริงนั้นต้องใช้เวลาอีกนานไม่สามารถจบลงที่การเปิดห้องเจรจา ส่วนความกังวลเรื่องการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้น ไม่แน่ใจว่าอาจจะมีการเปลี่ยนขั้วอำนาจหรือไม่ เพราะหากเกิดการเปลี่ยนขั้วอำนาจการปกครองของพม่าก็จะเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย"