จับตา“บวรศักดิ์”สู้หรือถอย! หลังครม.เฉือนมาตราสำคัญหนุน“สิทธิพลเมือง”
“…สองมาตราข้างต้น คือประเด็นสำคัญเกี่ยวกับ “สิทธิพลเมือง” ที่ถูกบัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ทว่าตามความเห็นของคณะรัฐมนตรี มีมติให้ตัดทิ้ง และทบทวนมาตราดังกล่าว เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีก … ดังนั้นต้องจับตาดูว่า “บวรศักดิ์” จะยอม “หลบฉาก” หรือ “เดินหน้าสู้” เพื่อปกป้อง “สิทธิพลเมือง” ตามที่เคยกล่าวเอาไว้…”
“อะไรก็ตามที่จะตัดสิทธิพลเมืองต้องผ่านศพผมไปก่อน”
คำยืนยันจาก “บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” ประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ สำหรับการเพิ่มสิทธิ์แก่ “พลเมือง” ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ขณะที่เมื่อปลายเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้สรุปความเห็นการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ไปยัง กมธ.ยกร่างฯ เพื่อให้มีการแก้ไขแล้ว
โดยมีการ “ตัดทิ้ง” ประเด็นสำคัญในมาตราที่เกี่ยวกับ “สิทธิพลเมือง” ไว้ด้วย ?
เพื่อขยายความให้ชัดขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำความเห็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับ “คณะรัฐมนตรี” มานำเสนอให้เห็นกันชัด ๆ ดังนี้
-มาตรา 62
ระบุว่า พลเมืองย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องราวร้องทุกข์ และมีส่วนร่วมในกระบวนการพิจารณาของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการปฏิบัติราชการทางปกครองอันมีผลหรืออาจมีผลกระทบต่อสิทธิหรือเสรีภาพของตน รวมทั้งได้รับแจ้งผลการพิจารณาในเวลาอันรวดเร็ว
พลเมืองย่อมมีสิทธิได้รับข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผลจากรัฐ ก่อนการอนุญาตหรือการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมใดที่อาจมีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นที่เกี่ยวกับตนหรือชุมชน และมีสิทธิแสดงความคิดเห็นของตนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปประกอบการพิจารณาในเรื่องดังกล่าว
ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีได้ตัดวรรคที่สาม
ที่ระบุถึงการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ และการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และแผนอื่น การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ การผังเมือง การกำหนดเขต การใช้ประโยชน์ในที่ดิน และการตรากฎหมายหรืออกกฎที่อาจมีผลกระทบต่อส่วนได้เสียสำคัญของประชาชน ให้รัฐจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึง ก่อนดำเนินการเพื่อนำความคิดเห็นนั้นไปประกอบการพิจารณา โดยให้คำนึงถึงพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ และพื้นที่ทางวัฒนธรรมด้วย ออกไป
โดยมีเหตุผลว่า
“มาตรานี้อาจเป็นอุปสรรคต่อการบริหารราชการแผ่นดินในอนาคตได้”
ความในวรรคสามจะมีผลกระทบรุนแรงต่อการดำเนินการของรัฐ เริ่มตั้งแต่ “แผนอื่น” หมายถึงอะไร เพราะในทางปฏิบัติรัฐจะมีแผนต่าง ๆ เป็นอันมาก เช่น แผนการศึกษา แผนรักษาความมั่นคง แผนวัฒนธรรม แผนการจัดการน้ำ หรือแม้แต่แผนของหน่วยงานรัฐ เช่น แผนไพรีพินาศ แผนการควบคุมฝูงชนตามกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ ปัญหาคือแผนใดจะต้องจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึง นอกจากนี้ยังมีปัญหาในข้อทดสอบที่ว่า“อาจมีผลกระทบต่อส่วนได้เสียสำคัญของประชาชน” ขยายเฉพาะการตรากฎหมายหรือการออกกฎ หรือขยายความทั้งวรรค
โดยสรุป รัฐมีความเสี่ยงสูงที่อาจขัดต่อมาตรานี้ เพราะทำไปโดยไม่รับฟังความเห็นของประชาชนเสียก่อน อันเป็นปัญหาทำนองเดียวกับที่มาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 เคยก่อปัญหามาแล้ว
แม้แต่คำว่า “อย่างทั่วถึงก่อนดำเนินการ” “พื้นที่ประวัติศาสตร์ทางวัฒนธรรม” ก็ยากแก่การตีความว่ามีความหมายและขอบเขตเพียงใด และการพิจารณาดำเนินการต้องทำอย่างไร อนึ่ง ยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาตามมาตรา 145 (14) อยู่แล้ว
-มาตรา 71 เกี่ยวกับการจัดตั้งสภาตรวจสอบภาคพลเมือง
คณะรัฐมนตรีได้ตัดมาตรานี้ทิ้งทั้งหมด
โดยมีเหตุผลว่า สภาตรวจสอบภาคพลเมืองในแต่ละจังหวัดเป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นใหม่ ในระยะแรกอาจเป็นปัญหาได้โดยเฉพาะความเข้าใจบทบาท อำนาจหน้าที่ไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของการมีสภานี้ และเมื่อสภาพดังกล่าวเพิ่มความเข้มข้นในการตรวจสอบมากขึ้น (ซึ่งคงเกิดขึ้นในบางพื้นที่) โดยเฉพาะการตรวจสอบผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในที่สุดสภานี้ก็อาจเข้าไปมีอำนาจแทรกแซงหรือสร้างอิทธิพลเหนือการทำงานของบุคคลและเจ้าหน้าที่จนกลายเป็นการสร้างอำนาจใหม่ซ้อนขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งเป็นปัญหาในระบบการเมืองของไทยเสมอมา
นอกจากนี้อาจมีปัญหาว่าเมื่อสภานี้ตรวจสอบแล้ว จะทำอะไรต่อไป และทำได้อย่างไร ผลจะเป็นประการใด แม้แต่การจะนำเรื่องนี้ไปบัญญัติไว้ในกฎหมายลำดับรองก็อาจมีปัญหาว่าทำได้หรือไม่ เพียงใด เกินขอบอำนาจในมาตรานี้หรือไม่
สองมาตราข้างต้น คือประเด็นสำคัญเกี่ยวกับ “สิทธิพลเมือง” ที่ถูกบัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้
ทว่าตามความเห็นของคณะรัฐมนตรี มีมติให้ตัดทิ้ง และทบทวนมาตราดังกล่าว เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีก
ล่าสุดในวันที่ 6 มิ.ย.นี้ กมธ.ยกร่างฯ ได้เปิดโอกาสให้คณะรัฐมนตรีเข้ามาชี้แจง และอธิบายเหตุผลในการปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้
ดังนั้นต้องจับตาดูว่า “บวรศักดิ์” จะยอม “หลบฉาก” หรือ “เดินหน้าสู้” เพื่อปกป้อง “สิทธิพลเมือง” ตามที่เคยกล่าวเอาไว้ !