สรุปผลประชุมว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย
เมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๕๘ กระทรวงการต่างประเทศได้จัดการประชุมว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย ณ กรุงเทพฯ โดยมีผู้แทนระดับสูงจากประเทศในกระบวนการบาหลี ที่ได้รับผลกระทบจำนวน ๑๗ ประเทศ· ผู้แทนจากประเทศผู้สังเกตการณ์ ๓ ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น สวิตเซอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกา รวมทั้งผู้แทนองค์การระหว่างประเทศที่สำคัญ ได้แก่ ผู้อำนวยการใหญ่องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) ผู้ช่วยข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) และผู้แทนสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) เข้าร่วม
พลเอกธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เป็นประธานเปิดการประชุมซึ่งมีนายนรชิต สิงหเสนี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศทำหน้าที่เป็นประธาน ผู้แทนจาก IOM และ UNHCR ได้เสนอภาพรวมและความท้าทายของสถานการณ์การโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก ต่อจากนั้น ผู้แทนจากประเทศผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ๕ ประเทศได้แก่ ไทย บังกลาเทศ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเมียนมาร์ บรรยายสรุปถึงสถานการณ์ในประเทศและการดำเนินการของตนเพื่อแก้ไขปัญหา
ประเทศผู้เข้าร่วมประชุมต่างขอบคุณประเทศไทยที่จัดการประชุมนี้ในจังหวะเวลาที่เหมาะสม และช่วยส่งเสริมบรรยากาศของการหารือที่สร้างสรรค์และเน้นความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม ทั้งนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาข้อเสนอและมาตรการต่างๆ ดังนี้
มาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยชีวิตผู้โยกย้ายถิ่นฐานที่ตกค้างอยู่กลางทะเล
ที่ประชุมเห็นความจำเป็นที่จะเพิ่มความเข้มข้นในการค้นหาและช่วยเหลือผู้โยกย้ายถิ่นฐานที่ตกค้างอยู่กลางทะเล ยืนยันว่า IOM และ UNHCR ควรสามารถเข้ามาช่วยเหลือได้อย่างเต็มที่ในการระบุและคัดกรองผู้ที่จำเป็นต้องได้รับความคุ้มครอง โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง อาทิ สตรี เด็ก และผู้เยาว์ที่เดินทางโดยลำพัง พิจารณาเสริมสร้างกลไกแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อระบุตำแหน่งของเรือที่บรรทุกผู้โยกย้ายถิ่นฐานได้อย่างถูกต้องแม่นยำ ที่ประชุมยังเห็นความสำคัญของการที่ประชาคมระหว่างประเทศจะสนับสนุนการให้ความช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรม รวมทั้งการระดมทรัพยากรและการแสวงหาทางออก ทั้งการตั้งถิ่นฐานในประเทศ ที่สามและการส่งกลับไปยังประเทศต้นทาง
การป้องกันการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ การลักลอบขนคน และการค้ามนุษย์
ที่ประชุมย้ำความสำคัญของการขจัดปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติโดยการสร้างความเข้มแข็งของการบังคับใช้กฎหมายในแต่ละประเทศ มาตรการความร่วมมือในการปราบปรามองค์กรอาชญากรรม
ข้ามชาติ อาทิ การส่งผู้ร้ายข้ามแดน การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและข่าวกรอง ความร่วมมือด้านการสืบสวนสอบสวน โดยใช้ประโยชน์จากกรอบความร่วมมือภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอนุสัญญาสหประชาชาติเพื่อการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติที่จัดตั้งในลักษณะองค์กร (United Nations Convention against Transnational Organized Crime - UNTOC) นอกจากนั้น ที่ประชุมยังพิจารณาสนับสนุนการเปิดช่องทางการโยกย้ายถิ่นฐานอย่างปลอดภัย ถูกต้องตามกฎหมาย และไม่เสียค่าใช้จ่ายมาก เพื่อสร้างโอกาสในการจ้างแรงงาน
การแก้ไขปัญหาที่ต้นตอและพัฒนาพื้นที่เสี่ยง
ที่ประชุมเห็นถึงความสำคัญของการยกระดับความเป็นอยู่ของชุมชนในพื้นที่เสี่ยง โดยการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาศักยภาพทางด้านเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งส่งเสริมการค้าและการลงทุน การพัฒนาฝีมือแรงงาน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การสร้างความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและความรู้สึกปลอดภัย การคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน ตลอดจนการที่ประชาชนจะเข้าถึงสิทธิและบริการขั้นพื้นฐาน อาทิ การศึกษา สุขภาพ ที่อยู่อาศัย
ในการประชุมครั้งนี้ สหรัฐฯ ได้ประกาศให้เงินช่วยเหลือจำนวน ๓ ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อตอบสนองคำขอรับการสนับสนุนของ IOM และออสเตรเลียประกาศให้เงินช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่
รัฐยะไข่และเมืองค็อกซ์บาซาร์ จำนวน ๕ ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย นอกจากนั้น ญี่ปุ่นยังยืนยันความตั้งใจ ที่จะพิจารณาเพิ่มเงินสนับสนุนการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมด้วย
ประเทศผู้เข้าร่วมประชุมเห็นควรขยายผลการประชุมนี้ต่อไปในเวทีและกรอบการประชุมที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี รวมทั้งที่ประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนว่าด้วยอาชญากรรมข้ามชาติ (ASEAN Ministerial Meeting on Transnational Organized Crime - AMMTC) และกรอบกระบวนการบาหลี
ซึ่งกำหนดจะจัดการประชุมรัฐมนตรีครั้งต่อไปภายในปี ๒๕๕๘ นี้
ผู้เข้าร่วมประชุม ๑๗ ประเทศได้แก่ อัฟกานิสถาน ออสเตรเลีย บังกลาเทศ กัมพูชา อินเดีย อินโดนีเซีย อิหร่าน ลาว มาเลเซีย เมียนมาร์นิวซีแลนด์ ปากีสถาน ปาปัวนิวกินี ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา เวียดนาม และไทย