โชว์ 5 กลยุทธ์ คสช. ครบ 1 ปี สานฝันสร้างสังคมเป็นธรรมได้หรือยัง ?
โชว์ 5 แผนครบ 1 ปี คสช. สร้างสังคมเป็นธรรม จัดบริการทางสังคมตามสิทธิขั้นพื้นฐาน ลดความเหลื่อมล้ำ-คุ้มครองสิทธิทางสังคม จัดระเบียบการให้บริการขนส่งสาธารณะรับจ้าง แก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สร้างความปรองดองสมานฉันท์
ล่วงหนึ่งปีแล้ว สำหรับการยึดอำนาจของ “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” หรือ คสช. จากรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นำโดย “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ขณะนั้น)
โดยหลายครั้งหลายครา “บิ๊กตู่” ยืนยันมาโดยตลอดว่า เหตุที่ต้องยึดอำนาจเพราะ “รัฐบาลเก่า” ไม่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของคนในชาติลงได้
จึงจำเป็นต้องยึดอำนาจ เพื่อสร้างความปรอดองสมาฉันท์-ปฏิรูปประเทศไทย
“ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมั่งคั่ง และยั่งยืน” เป็นคำที่ “บิ๊กตู่” ย้ำอยู่บ่อย ๆ
ท่ามกลางข้อครหาของหลายฝ่ายที่ว่า “แผนปฏิรูป” ยังไม่คืบหน้าไปไหน ?
และสังคมไทยก็ยังไม่มีความเป็นธรรมเช่นเดิม
จริงหรือไม่ ? สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org โชว์ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความเป็นธรรมในสังคม ของ คสช. ฉบับ “ครบ 1 ปี” ให้เห็นกันชัด ๆ ดังนี้
ยุทธศาสตร์ดังกล่าว แบ่งออกเป็น 5 กลยุทธ์ ได้แก่
กลยุทธ์ที่ 1 การจัดบริการทางสังคมตามสิทธิขั้นพื้นฐาน
มีตัวชี้วัดความสำเร็จระยะสั้น ดังนี้
-การเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา โดยวัดจากอัตราผู้เข้ารับการศึกษาต่อในทุกระดับไม่น้อยกว่าร้อยละ 85 และการออกจากการศึกษากลางคันไม่เกินร้อยละ 5
-การเข้าถึงระบบบริการสาธารณสุขของประชาชน โดยการประเมินจากความพึงพอใจของผู้เข้ารับการรักษาจากหน่วยงานของรัฐ โดยในภาพรวมประชาชนจะต้องมีระดับความพึงพอใจในการรับบริการอยู่ในระดับมาก ภายในปีงบประมาณ 2558
-มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม โดยวัดจากร่างกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของจำนวนกฎหมายที่เข้าสู่ระเบียบวาระของ สนช. ภายในปีงบประมาณ 2558
-มีการขยายเขตไฟฟ้าให้บ้านเรือนราษฎรห่างไกลต่อครัวเรือนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 20 ภายในปีงบประมาณ 2558
-การเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาความปลอดภัยในชีวิต ทรัพย์สินของประชาชน โดยพิจารณาจากอัตราคดีที่เกี่ยวข้องลดลง ร้อยละ 20 ภายในปีงบประมาณ 2558
ส่วนตัวชี้วัดความสำเร็จระยะยาว ดังนี้
-มีการขยายเขตไฟฟ้าให้บ้านเรือนราษฎรห่างไกลต่อครัวเรือนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 80 ภายในปีงบประมาณ 2564
-การเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาความปลอดภัยในชีวิต ทรัพย์สินของประชาชน โดยพิจารณาจากอัตราคดีความที่เกี่ยวข้องลดลงอย่างต่อเนื่อง ร้อยละ 20 ต่อปี จนถึงปีงบประมาณ 2564
กลยุทธ์ที่ 2 การลดความเหลื่อมล้ำและการคุ้มครองสิทธิทางสังคม
มีตัวชี้วัดความสำเร็จระยะสั้น ดังนี้
-การปรับโครงสร้างอัตราภาษีบุคคลธรรมดาอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อให้ลดความเหลื่อมล้ำให้แล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ 2558
-การแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ ขอทาน และการช่วยเหลือหญิงไทยในต่างประเทศ มีจำนวนคดีความที่เกี่ยวข้องอัตราลดลง ร้อยละ 10 ภายในปีงบประมาณ 2558
-การจัดที่ดินให้ผู้ไร้ที่ทำกิน ช่วยเหลือเกษตรกรและองค์กรการเกษตร โดยใช้พื้นที่ป่าเสื่อมสภาพ หรือที่ดินสาธารณะประโยชน์อื่น มาจัดสรรให้ใช้ประโยชน์ ให้ได้ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 20 ของเป้าหมายในแผนงาน
ส่วนตัวชี้วัดความสำเร็จระยะยาว ดังนี้
-การแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ ขอทาน และการช่วยเหลือหญิงไทยในต่างประเทศ มีจำนวนคดีความที่เกี่ยวข้องอัตราลดลงอย่างต่อเนื่อง ร้อยละ 10 ต่อปี จนถึงปีงบประมาณ 2564
-การจัดที่ดินให้ผู้ไร้ที่ทำกิน ช่วยเหลือเกษตรกรและองค์กรเกษตร โดยใช้ที่ดินสาธารณะประโยชน์ที่หมดสภาพแล้วมาจัดสรรให้ใช้ประโยชน์ ให้ได้ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 100 ของเป้าหมายในแผนงาน
กลยุทธ์ที่ 3 การจัดระเบียบการให้บริการขนส่งสาธารณะรับจ้าง
มีตัวชี้วัดความสำเร็จระยะสั้น ดังนี้
-มีการจัดทำบัญชียานพาหนะขนส่งสาธารณะรับจ้าง ด้วยการแยกประเภท รวมถึงสถิติการเกิดอุบัติเหตุ
-มีการจัดทำแนวทางการปฏิบัติในการป้องกันปัญหาจาก ระบบการขนส่งสาธารณะรับจ้างทั้งด้านอุบัติเหตุ และการทำร้ายผู้โดยสาร รวมถึงการบังคับใช้แนวทางที่กำหนดขึ้น
-มีการปรับแก้กฎหมาย และกฎระเบียบในการควบคุม การให้บริการขนส่งสาธารณะรับจ้าง โดยผ่านความเห็นชอบจาก สนช. โดยมีผลบังคับใช้ภายในปีงบประมาณ 2558
-มีการให้ความรู้กับประชาชนเกี่ยวกับกฎหมายและกฎระเบียบการให้บริการขนส่งสาธารณะรับจ้าง และในภาพรวมแล้วประชาชนต้องมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก ต่อกฎหมายและกฎระเบียบที่ได้ปรับปรุงแก้ไข
กลยุทธ์ที่ 4 การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
มีตัวชี้วัดความสำเร็จระยะสั้น ดังนี้
-มีการขยายผลโครงการทุ่งยางแดงโมเดล ไปยังพื้นที่ 37 อำเภอ 282 ตำบล และมีระบบการประเมินผลที่เป็นรูปธรรม ทั้งปริมาณ และคุณภาพ โดยต้องลดจำนวนเหตุการณ์ร้ายและความรุนแรงลงได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 เมื่อสิ้นปีงบประมาณ 2558 ทั้งนี้ให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ภายในภาค 4 ส่วนหน้า และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศ.อบต.) เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อน โดยบูรณาการร่วมกัน
-มีแผนงานในการพัฒนาเขตนิคมอุตสาหกรรมฮาลาล จ.ปัตตานี เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมในพื้นที่ และมีแผนงานในการประเมินความก้าวหน้าของโครงการโดยจะต้องคืบหน้าไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 เมื่อสิ้นปีงบประมาณ 2558
-มีการดำเนินงานตามโครงการส่งเสริมการจัดการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โครงการอบรม สัมมนา พัฒนา และศึกษาดูงานศาสนา ศิลปวัฒนธรรม โครงการปรับปรุงแหล่งเรียนรู้ตะโละมาเนาะ โครงการก่อสร้างและการจัดตั้งอุทยานเรียนรู้ โครงการส่งเสริมคนดีมีคุณธรรมในจังหวัด โดยจะต้องคืบหน้าไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 เมื่อสิ้นปีงบประมาณ 2558
-มีแผนงานในการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบด้วยการพัฒนาคุณภาพชีวิต และการศึกษา รวมทั้งสร้างและซ่อมแซมบ้าน จำนวน 60 หลัง ตามโครงการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทั้งนี้จะต้องมีการประเมินความก้าวหน้าของโครงการ โดยจะต้องคืบหน้าไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 เมื่อสิ้นปีงบประมาณ 2558
-มีการเปิดเวทีพูดคุยให้ครบ 77 อำเภอ เพื่อให้เกิดความร่วมมือทุกภาคส่วน ทั้งชาวไทยพุทธ และชาวไทยมุสลิม และการกำหนดวิธีการในการประเมินผลความพึงพอใจของประชาชน รวมทั้งมีการนำผลการเปิดเวทีการพูดคุยไปใช้ในการแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรม
กลยุทธ์ที่ 5 การสร้างความปรองดองสมานฉันท์
มีตัวชี้วัดความสำเร็จระยะสั้น ดังนี้
-มีการจัดทำ Website ประชาสัมพันธ์และติดตามผลการแก้ไขข้อร้องเรียนของประชาชน การผลิตสื่อประชาสัมพันธ์ และโครงการสื่อมวลชนสัมพันธ์ เพื่อให้สื่อมวลชน นำเสนอข้อมูล ข่าวสารที่ถูกต้อง มีแหล่งข่าวที่ชัดเจน ทั้งนี้จะต้องมีการประเมินความพึงพอใจของประชาชนต่อ Website ที่ให้จัดทำขึ้นโดยต้องอยู่ในระดับสูง
-มีกิจกรรมในการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับบุคคลหรือกลุ่มบุคคลในการปฏิรูปประเทศทั้ง 11 ด้าน และมีการนำผลการวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ รวมถึงมีการนำผลที่ได้รับ ส่งให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และ สนช. นำไปใช้ในการปฏิรูปประเทศต่อไป
-มีกิจกรรม เพื่อสร้างความปรองดองสมานฉันท์ ได้แก่ โครงการคนไทยหัวใจเดียวกัน โครงการมหกรรมเอกลักษณ์ไทย หัวใจ 4 ภาค โครงการฝึกอบรมทดสอบสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน ทั้งนี้จะต้องมีการประเมินความพึงพอใจของประชาชนต่อโครงการที่ได้จัดทำขึ้นโดยผลต้องอยู่ในระดับสูง
ทั้งหมดคือ 5 กลยุทธ์ “จัดหนัก” สานฝันสร้างความเป็นธรรมให้สังคม โดยเฉพาะประเด็น “ชายแดนใต้” และ “ปรองดอง” ที่ถูกสังคมคาดหวังไว้สูงมาก
ส่วนจะสำเร็จเป็นรูปธรรมหรือไม่ ประชาชนเท่านั้นที่จะเป็นผู้ตัดสิน !