จับตาสัญญาณดีแก้โรฮิงญาในการประชุมผู้อพยพ 29 พ.ค.
อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ สนับสนุนท่าทีของรัฐบาลไทยในการแก้ไขปัญหาผู้อพยพย้ายถิ่นชาวโรฮิงญา แนะจับตาการประชุมนานาชาติวันที่ 29 พฤษภาคมนี้ หากเมียนมาร์กับบังคลาเทศยอมเข้าร่วม ก็จะเป็นสัญญาณที่ดีต่อการจัดการปัญหาในระยะยาว
นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ กล่าวว่า การที่รัฐบาลประกาศชัดเจนว่าจะช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมกับชาวโรฮิงญาที่ล่องเรือผ่านทะเลอันดามัน โดยจะไม่ตั้งศูนย์พักพิงภายในประเทศนั้น ถือเป็นจุดยืนที่ถูกต้อง เพราะวันนี้ไทยยังต้องแบกรับปัญหาผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมาร์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยง ตามแนวชายแดนภาคเหนือของไทยอีกเยอะมาก จึงไม่ควรรับภาระเพิ่มอีกแล้ว ประกอบกับถ้าเปิดศูนย์พักพิง ชาวโรฮิงญาจะแห่กันมาอีกมากมายทันที
ส่วนการแก้ไขปัญหาระยะยาวนั้น อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองฯ บอกว่า ต้องรอดูผลการประชุมว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพในวันที่ 29 พฤษภาคมนี้ หากเมียนมาร์กับบังคลาเทศยอมส่งผู้แทนเข้าร่วม ก็จะถือเป็นสัญญาณที่ดีมาก เพราะประเทศต่างๆ ที่เข้าประชุมอาจเสนอความช่วยเหลือด้านต่างๆ ให้ เพื่อสกัดการเดินทางของชาวโรฮิงญาออกจากประเทศต้นทาง ซึ่งสอดคล้องกับที่นายกรัฐมนตรีบังคลาเทศเพิ่งออกมายอมรับว่า คนเหล่านี้จำนวนไม่น้อยเป็นพลเมืองของบังคลาเทศ
นายกฯไฟเขียวตั้งฐานลอยน้ำดูแลโรฮิงญา
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยืนยันไทยไม่ตั้งศูนย์พักพิงภายในประเทศให้กับผู้หลบหนีเข้าเมืองชาวโรฮิงญา แต่ไฟเขียวให้ตั้งฐานปฏิบัติการลอยน้ำ เพื่อช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้อพยพที่ล่องเรืออยู่กลางทะเล
พลเอกประยุทธ์ กล่าวเรื่องนี้ภายหลังเสร็จการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 26 พฤษภาคมที่ผ่านมาว่า เรื่องการแก้ไขปัญหาโรฮิงญา ไทยจะไม่ตั้งศูนย์พักพิงภายในประเทศ แต่จะดูแลตามหลักมนุษยธรรม ซึ่งเป็นไปตามมติของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็นเอชซีอาร์ ขณะที่การสนับสนุนงบประมาณในการดูแลชาวโรฮิงญาส่วนหนึ่ง องค์การสหประชาติ หรือยูเอ็น ต้องให้การสนับสนุนด้วย
พลเอก ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า ตามข้อมูลของหน่วยสืบสวนสอบสวน พบว่าขบวนการค้ามนุษย์มีชาวโรฮิงญาเกี่ยวข้องด้วย จึงได้สั่งตรวจสอบสมาคมชาวโรฮิงญาที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยว่ามีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับขบวนการอพยพชาวโรฮิงญาและการปล่อยข่าวต่างๆ ที่เป็นข่าวด้านลบในขณะนี้หรือไม่
ส่วนการประชุมว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย ในวันศุกร์ที่ 29 พ.ค.นี้ ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพนั้น ได้มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมประชุม โดยไทยจะเสนอให้นานาชาติได้รับทราบถึงการตั้งฐานเรือลอยน้ำและจุดลาดตระเวนทางอากาศ เพื่อเป็นตัวอย่างในการแก้ไขปัญหาเบื้องต้น
ก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ว่า ได้สั่งการให้กองทัพเรือออกตรวจตราน่านน้ำเพื่อตั้งฐานลอยน้ำช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ชาวโรฮิงญา โดยบนฐานลอยน้ำจะมีศูนย์คัดแยก เพื่อส่งต่อไปยังประเทศที่สามที่เปิดรับชาวโรฮิงญา เช่นอินโดนีเซีย มาเลเซีย ส่วนคนที่บาดเจ็บ ไทยจะให้การรักษาตามหลักสิทธิมนุษยชน
วันเดียวกัน กองทัพไทย ได้แถลงข่าวการจัดตั้งศูนย์อำนวยการลาดตระเวนและช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมผู้โยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย หรือ ศอ.ยฐ.ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี
สำหรับ ศอ.ยฐ. จะมีศูนย์ปฏิบัติการกองทัพเรือเป็นหน่วยหลัก มีหน้าที่จัดตั้งฐานปฏิบัติการลอยน้ำ เพื่อช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้อพยพในทะเลอันดามัน ซึ่งจะมีการตั้งฐานปฏิบัติการลอยน้ำบริเวณเกาะสิมิลัน ในน่านน้ำไทย ขณะที่กองทัพอากาศโดยศูนย์ปฏิบัติการกองทัพอากาศ จะปฏิบัติการลาดตระเวนทางอากาศในพื้นที่ทะเลอันดามันด้วยเช่นกัน ส่วนกองทัพบกมีศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบกดูแลรับผิดชอบทางบก
ยังไม่สรุปเคลื่อนศพโรฮิงญาจากฝั่งมาเลเซีย
ทางการไทยกับมาเลเซียยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่องการลำเลียงศพชาวโรฮิงญาที่พบในหลุมฝังศพ 138 หลุมในพื้นที่รัฐเปอร์ลิส ฝั่งมาเลเซีย ผ่านเขตแดนไทยเพื่อนำไปตรวจพิสูจน์และประกอบพิธีฝังตามหลักศาสนา
วันพุธที่ 27 พฤษภาคม ที่ สภ.สะเดา จ.สงขลา พล.ต.ท.มนตรี โปตระนันทน์ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 พร้อมด้วยตัวแทนกองทัพภาคที่4 และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ได้ประชุมร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจมาเลเซีย ระดับผู้บังคับการหน่วยพิสูจน์หลักฐาน และรองผู้บังคับการตำรวจรัฐเปอร์ลิส รวมถึงเจ้าหน้าที่สืบสวนกลางของมาเลเซีย เพื่อหารือกรณีที่ทางการมาเลเซียขอใช้พื้นที่ฝั่งไทยในการลำเลียงศพชาวโรฮิงญาที่ขุดพบในรัฐเปอร์ลิส แต่ตลอดการประชุมซึ่งใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมง ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะดำเนินการได้หรือไม่
พล.ต.ท.มนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า เรื่องนี้ในระดับพื้นที่ไม่สามารถตัดสินใจหรือให้คำตอบได้ ฉะนั้นจะนำเรื่องเสนอให้ผู้บังคับบัญชาเป็นผู้พิจารณา
จากนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐเปอร์ลิส ได้เดินทางไปยัง สภ.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา เพื่อขอให้อำนวยความสะดวกเข้าไปดูพื้นที่ทางขึ้นไปยังภูเขาแก้ว จุดที่พบสถานที่พักพิงชั่วคราวของชาวโรฮิงญา ซึ่งอยู่ติดกับฝั่งมาเลเซีย เพื่อตรวจสอบเส้นทาง
ด้าน พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า รับทราบเรื่องที่ทางการมาเลเซียประสานกับฝ่ายไทยขอเคลื่อนย้ายศพที่พบผ่านไทยแล้ว ส่วนตัวไม่คิดว่าปัญหาชาวโรฮิงญาจะเป็นประเด็นกับรัฐบาลชุดนี้ เพราะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมานาน เมื่อมีปัญหา ไทยก็ต้องแก้ไขตามหลักมนุษยธรรม และประสานความร่วมมือกับสหประชาชาติในการดูแลต่อไป ที่สำคัญต้องกลับไปดูปัญหาที่ต้นทางว่าเหตุใดจึงมีการอพยพ
สำหรับความคืบหน้าเกี่ยวกับคดีค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา ซึ่งยังมีผู้ต้องหาหลบหนีอีก 29 คนนั้น ล่าสุด นายชาคริต หลงสาม๊ะ หรือ นายกฯแมน อายุ 53 ปี อดีตนายกองค์การบริหารส่วนตำบลตำมะลัง อำเภอเมือง จังหวัดสตูล ได้เข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้ว