ครม. ไฟเขียว 1.1 พันล้าน สร้างศูนย์ขนส่งชายแดน จ.นครพนม
ครม. ไฟเขียว 1,111 ล้านบาท ก่อสร้างศูนย์การขนส่งชายแดน จ. นครพนม กว่า 600 ไร่ รับเขตเศรษฐกิจพิเศษ เชื่อมคมนาคมระบบราง กระจายสินค้าสู่ภูมิภาคอาเซียน
พลตรีสรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผย ว่าการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งล่าสุด เห็นชอบในหลักการให้กรมขนส่งทางบกดำเนินโครงการศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม วงเงิน 1,111.225 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี (พ.ศ. 2559-2562) ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ โดยให้มีการจัดทำรายละเอียดของการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนที่เหมาะสม มีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อนำกลับมาเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง
"แรกทีเดียวเป็นการเสนอให้โครงการก่อสร้างโดยรัฐทั้งหมด และให้เอกชนเป็นผู้รับสัมปทานเพื่อดำเนินบริหารจัดการ หาเครื่องมืออุปกรณ์ยกขน และบำรุงรักษาตลอดอายุสัมปทาน 10 ปี วงเงินประมาณ 177 ล้านบาท ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นโครงการที่มีมูลค่าการลงทุนสูง หากเป็นไปได้อยากให้เอกชนมาร่วมลงทุนตั้งแต่ต้น เพื่อประหยัดงบประมาณรายจ่ายบางส่วน"
ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติรับหลักการและให้กลับไปจัดทำรายละเอียดสัดส่วนการลงทุน และผลตอบแทนการลงทุนให้ชัดเจน และให้เป็นไปตามกรอบของ พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 เพื่อนำเสนอ ครม. อีกครั้ง
สำหรับวัตถุประสงค์ของโครงการ รองโฆษกฯ ระบุประกอบด้วย 1. เป็นศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้า รองรับกิจกรรมการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศไทย ผ่านสาธารณรัฐประชาธิปไตยลาวทางถนนสาย R12 ไปยังสาธารณรัฐสังคมเวียดนาม และภาคตะวันตกของสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยใช้สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 3 (นครพนม)
2. เป็นศูนย์ให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ (One stop service) สามารถดำเนินพิธีการที่เกี่ยวกับการนำเข้า และส่งออกได้ในจุดเดียว
3. เพื่อเตรียมการรองรับการเชื่อมต่อระบบการขนส่งจากถนนไปสู่ระบบรางในอนาคต
4. เพื่อเตรียมการรองรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจจังหวัดนครพนมในอนาคต
โดยพื้นที่ก่อสร้างอยู่บริเวณด้านใต้ประชิดด่านพรมแดนไทย-ลาวบริเวณสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 3 (นครพนม) ได้มีการจัดวางผังการใช้ประโยชน์จำแนกตามพื้นที่กิจกรรมหลัก 5 ส่วน เนื้อที่รวม 606 ไร่ ได้แก่
ส่วนที่ 1 ศูนย์การขนส่งสินค้าเนื้อที่ 174 ไร่
ส่วนที่ 2 สถานีขนส่งผู้โดยสาร เนื้อที่ 53 ไร่
ส่วนที่ 3 ศูนย์ส่งเสริมเศรษฐกิจการค้าผ่านแดนของพาณิชย์ จ.นครพนม เนื้อที่ 35 ไร่ และพื้นที่พักอาศัยของเจ้าหน้าที่ศุลกากร เนื้อที่ 65 ไร่
ส่วนที่ 4 พื้นที่เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสู่ระบบราง เนื้อที่ 194 ไร่
ส่วนที่ 5 ศูนย์ซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า เนื้อที่ 85 ไร่
"โครงการศูนย์การขนส่งชายแดนนี้ ถือเป็นโครงการที่กระจายความเจริญสู่ภูมิภาค กระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ จ.นครพนม และใกล้เคียง รวมถึงสอดคล้องกับแนวนโยบายหลักในการ ผลักดันให้เกิดเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพิ่มมูลค่าการค้าลงทุนในพื้นที่ชายแดนได้มากขึ้นในอนาคต" พลตรีสรรเสริญ กล่าว
ทั้งนี้ คาดการณ์ปริมาณขนส่งสินค้าผ่านศูนย์การขนส่งชายแดน จ.นครพนม ที่จะเข้ามาใช้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกด้านโลจิสติกส์ของศูนย์การขนส่งชายแดน แบ่งเป็นกลุ่มสินค้านำเข้าที่มีศักยภาพ 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มสินค้าทั่วไป อาทิ สินค้าแฟชั่น อุปโภคบริโภค กลุ่มสินค้าไม้ และกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม โดยในปี 2565 จะมีปริมาณนำเข้า 3.27 แสนตัน เพิ่มขึ้นเป็น 3.76 แสนตัน ในปี 2570 ถึงปี 2580 เพิ่มขึ้นเป็น 4.76 แสนตันและกลุ่มสินค้าส่งออกที่มีศักยภาพ 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มสินค้าทั่วไป กลุ่มสินค้าพลังงาน และกลุ่มสินค้ากสิกรรมและอุตสาหกรรมการเกษตร คาดการณ์ในปี 2565 จะมีปริมาณส่งออก 5.55 แสนตัน เพิ่มขึ้นเป็น 7.34 แสนตัน ในปี 2570 ถึงปี 2580 เพิ่มขึ้นเป็น 1.112 ล้านตัน .
ภาพประกอบ:เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์