“อานันท์” เปิดยุทธศาสตร์กำหนด 3 เป้าหมายเชิงอุดมคติคุณภาพชีวิตคนไทย
พร้อมวางกรอบการทำงานไว้ 5 มิติ 15 ประเด็นใหญ่ ประธาน คปร. แถลงถึงวันนี้คณะกรรมการ ทำงานค่อนข้างลงตัวแล้ว เรื่องต้นๆ ที่ต้องจัดการและเข้าไปเยียวยา คือ ที่ดิน ทรัพยากร-หนี้สิน ตั้งความหวัง รัฐบาลอภิสิทธิ์จะจริงใจ รับฟังข้อเสนอที่เป็นรูปธรรม
วันนี้( 30 ส.ค) เวลา 16.00 น. นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูป(คปร.) แถลงข่าวหลังการประชุมคณะกรรมการปฏิรูป ณ บ้านพิษณุโลก ถนนพิษณุโลก กรุงเทพมหานคร โดยได้สรุปยุทธศาสตร์และกรอบการทำงาน จากที่ได้มีการประชุมมา 12 ครั้ง
นายอานันท์ กล่าวว่า การประชุม คปร. แต่ละครั้งใช้เวลาส่วนหนึ่งในการพูดคุยเพื่อให้ได้ความเห็นของคณะกรรมการแต่ ละคน เนื่องจากคณะกรรมการชุดนี้มีความหลากหลาย มาจากนักวิชาการทุกๆ ด้าน อาทิ นักคิด และนักเขียน โดยใน 3-4 สัปดาห์แรกนั้น ได้ร่วมสร้างความคุ้นเคยของแต่ละคน เพื่อนำเสนอวิถีทางร่วมกันด้วยทางคณะเกรงว่า หากในวันหนึ่งไปถึงจุดที่มีปัญหามากแล้ว การทำงานอาจจะขัดใจกันได้ ซึ่งขณะนี้ถือว่า การทำงานร่วมกันค่อนข้างลงตัว
“ส่วนทางคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปของ นพ.ประเวศ วะสี อาจมีแผนงานชัดเจนกว่า เนื่องจากมีการทำงานมาก่อนหน้านี้แล้ว 1 ปี คนทำงานก็เป็นคนคุ้นเคย เพราะฉะนั้นแล้ว กรอบการทำงานก็สามารถเดินไปได้เลย แต่ทาง คปร. ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ต้องเริ่มคิดก่อนว่าจะทำอะไร กรอบความคิดกรอบการทำงานเป็นอย่างไร”
นายอานันท์ กล่าวถึงการกำหนดเป้าหมายเชิงอุดมคติเกี่ยวกับคุณภาพชีวิตของคนไทย ถือเป็นทิศทางหลักในการปฏิรูป ประกอบด้วยเป้าหมาย 3 ประการ คือ 1.เป็นชีวิตที่มีศักดิ์ศรีและเท่าเทียมในฐานะความเป็นมนุษย์ มีส่วนร่วมทางสังคม มีสำนึกต่อประโยชน์สุขของส่วนรวมและมีโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของตนทั้งในทาง กาย ใจ ภูมิปัญญา และจิตวิญญาณ 2.เป็นชีวิตที่สงบสุขตามวิถีวัฒนธรรมแห่งสันติภาพ ปราศจากภัยคุกคามจากผู้อื่นหรือการคุกคามซึ่งกันและกัน ตลอดจนอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาวะ 3.เป็นชีวิตที่มีหลักประกันในด้านเงื่อนไขการครองชีพและมีกลไกการคุ้มครอง ทางสังคม
“ การทำงานวางกรอบมิติไว้ 5 มิติ คือ เรื่องความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ,ความเหลื่อมล้ำเรื่องที่ดินและทรัพยากร ,ด้านโอกาส ,สิทธิ, การศึกษา นอกเหนือจากนั้น ยังมีประเด็นใหญ่ๆ 15 ประเด็น แต่ไม่สามารถทำต่อไปได้ทั้งหมดพร้อมกัน ยกตัวอย่างเรื่องต้นๆ ที่ต้องจัดการ คือ ที่ดินและทรัพยากร ที่มีปัญหาเรื่องข้อพิพาทระหว่างรัฐกับประชาชน ประชาชนกับกลุ่มธุรกิจ ประชาชนกับประชาชน ฉะนั้นจำเป็นที่ต้องจัดการและเยียวยาโดยตรง นอกเหนือจากนั้น คือ เรื่องหนี้สิน เพราะหากไม่มีหลักประกันก็เกิดการสร้างหนี้ ขณะเดียวกันต้องดูเรื่องโครงสร้างด้วย และอาจพาดพิงถึงกระบวนการยุติธรรม ,เรื่องการศึกษา ที่ต้องเข้าถึงประชาชนทุกคน โรงเรียนต้องไม่มีข้อเปรียบเทียบ การสร้างยุติธรรมในสังคมไทย และเรื่องการกระจายอำนาจ จัดสรรงบประมาณ ที่อยู่ในกรุงเทพ จะจัดสรรส่งไปถึงท้องถิ่นโดยตรง ก็เป็นเรื่องที่ต้องทำ ทั้งนี้ทั้งนั้น อาจไม่เห็นผลภายใน 6 เดือนบางเรื่องต้องใช้เวลาหลายปี”
ประธาน คปร. กล่าวว่า การปฏิรูป คือ การเปลี่ยนแปลง ไม่มีกรอบเวลา เป็นกระบวนการหนึ่งที่มีมีที่สิ้นสุด โดย 3 ปีก็ยังคงไม่เพียงพอ การปฏิรูปที่มีอยู่ไม่ได้มีเพียงแต่คณะกรรมการ 2 ชุดของตนและนพ.ประเวศเท่านั้น ยังมีอีกหลายภาคส่วนทั้งภาคราชการและประชาสังคม องค์กรหลากหลายองค์กร หรือสภาอุตสาหกรรม องค์กรธุรกิจเอกชน ขณะนี้ต่างคนต่างทำ ซึ่งสักวันหนึ่งจะเอามารวมกัน แม้ยังมีข้อแตกต่างกันในวันนี้
ส่วนกรณีที่มีบางคนพูดว่า ทำไปแล้วจะเหมือนในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ลงไปแก้ไขปัญหาเรื่อง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือในสมัยนายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ทำเรื่องแผนแม่บทเรื่องสิทธิมนุษยชน แล้วได้เพียงเอกสารสวยหรู เก็บไว้โดยไม่ได้นำมาจัดการจริงนั้น นายอานันท์ กล่าวว่า อาจจะเป็นไปได้ แต่ครั้งนี้ตนมาทำในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขอบอกว่า ทำเพื่อประชาชน และครั้งนี้ก็หวังว่า รัฐบาลจะจริงใจรับฟังข้อเสนอที่เป็นรูปธรรม และไม่ว่าจะเป็นเรื่องเฉพาะกิจ หรือชั่วคราว การปฏิรูปใดๆจะสำเร็จได้ ไม่เฉพาะเจาจงอยู่ที่ใคร 15 คนหรือคนกลุ่มเดียว แต่อยู่ที่สังคมมีจิตใจที่อยากปฏิรูปหรือไม่ แม้รัฐบาลไม่รับก็ไม่เป็นไร แต่หวังให้ประชาชนรับในแนวทางที่เสนอ การปฏิรูปจึงจะเกิดขึ้น
ประธาน คปร. กล่าวทิ้งท้ายว่า ต้องทำความเข้าใจการปฏิรูปไม่ใช่การปรองดองหรือสร้างความสมานฉันท์ และเป็นการทำเพื่อประชาชนเป็นหลัก ในประวัติศาสตร์ไทยมีรัฐบาลฉ้อราษฎร์บังหลวง หากมีกำลังจากประชาชนทุกอย่างจะผ่านไปได้ เหมือนรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ในที่สุดนักการเมืองที่ออกมาคัดค้าน ต้องสนับสนุน และรัฐบาลต้องฟังประชาชน ขอเพียงเชื่อในพลังของประชาชน ที่เป็นพลังแห่งสันติวิธี