ค่าใช้จ่ายบุหรี่สูงหมื่นล.-นักสูบหน้าใหม่พุ่ง หวังกม.ใหม่ บังคับใช้ได้จริง?
“...อายุเฉลี่ยที่เริ่มสูบบุหรี่ครั้งแรกของกลุ่มเยาวชนที่สูบบุหรี่เป็นประจำลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 16.8 ปีในปี 2550 เป็น 15.6 ปีในปี 2557 ทั้งที่ประเทศไทยมีการบังคับใช้กฎหมายซึ่งห้ามขายบุหรี่แก่บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี มากว่ายี่สิบปีแล้วก็ตาม”
ท่ามกลางการผลักดันการบังคับใช้พระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติอนุมัติหลักการไปเมื่อวันอังคารที่ 26 พฤษภาคมที่ผ่านมา
เมื่อเร็วๆนี้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสหนึ่งปี 2558 โดยมีข้อมูลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่เพิ่มขึ้น และยังต้องเฝ้าระวังการเข้าถึงบุหรี่ของเยาวชน
รายงานระบุว่า ในไตรมาสแรกของปี 2558 ค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นจาก 34,603 ล้านบาทในไตรมาสหนึ่งปี 2557 เป็น 38,190 ล้านบาทในไตรมาสนี้ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.4 ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการบริโภคบุหรี่เพิ่มขึ้นจาก 15,307 ล้านบาท ในไตรมาสหนึ่งปี 2557 เป็น 15,693 ล้านบาทในไตรมาสนี้ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5
ทั้งนี้ จากข้อมูลการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่และการดื่มสุราของประชากรของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า อายุเฉลี่ยที่เริ่มสูบบุหรี่ครั้งแรกของกลุ่มเยาวชนที่สูบบุหรี่เป็นประจำลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 16.8 ปีในปี 2550 เป็น 15.6 ปีในปี 2557 ทั้งที่ประเทศไทยมีการบังคับใช้กฎหมายซึ่งห้ามขายบุหรี่แก่บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี มากว่ายี่สิบปีแล้วก็ตาม
สะท้อนถึงการบังคับใช้กฎหมายที่ยังไม่เข้มงวด ในขณะที่บริษัทบุหรี่มีการพัฒนาเทคนิคการตลาดใหม่ๆ รวมทั้งมีผลิตภัณฑ์ยาสูบชนิดใหม่ๆ ออกสู่ตลาด เพื่อหาลูกค้ารายใหม่มาทดแทนผู้สูบบุหรี่ที่เลิกสูบหรือเสียชีวิต
รายงานยังระบุว่า การแบ่งขายบุหรี่เป็นรายมวนเป็นกลยุทธ์อย่างหนึ่งที่ร้านค้าปลีกใช้เพื่อดึงดูดนักสูบกลุ่มเยาวชน ซึ่งมีอำนาจในการซื้อต่ำให้สามารถเข้าถึงบุหรี่ได้ง่ายขึ้น
ในปี 2554 ประเทศไทยมีร้านค้าปลีกที่ขออนุญาตขึ้นทะเบียนจำหน่ายบุหรี่ไว้กับกรมสรรพสามิตถึง 570,000 รายทั่วประเทศ ซึ่งมีผลการศึกษาหลายฉบับระบุว่า ร้านค้าปลีกเป็นแหล่งซื้อบุหรี่ที่สำคัญที่สุดของเยาวชนและสามารถซื้อบุหรี่ได้ง่ายโดยไม่ถูกสอบถามอายุหรือตรวจบัตรประชาชน
สอดคล้องกับผลการสำรวจการบริโภคยาสูบในผู้ใหญ่ระดับโลกเมื่อปี 2554 ที่พบว่าเยาวชนยังคงเข้าถึงบุหรี่ได้ง่าย โดยเด็กอายุ 15-17 ปีที่สูบบุหรี่มีถึงร้อยละ 88.3 ที่ซื้อบุหรี่แบบแบ่งมวนขาย
ซึ่งขณะนี้มี 97 ประเทศทั่วโลกที่มีกฎหมายห้ามขายบุหรี่เป็นรายมวน รวมถึงหลายประเทศในกลุ่มอาเซียน ได้แก่ ประเทศลาว เมียนมา มาเลเซีย สิงคโปร์ และบรูไน เพราะเห็นว่าการขายบุหรี่แบบรายมวนเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กและเยาวชนติดบุหรี่
รายงานระบุทิ้งท้ายว่า สำหรับประเทศไทยได้มีการกำหนดไว้เพิ่มเติมในพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ ทั้งการห้ามแบ่งขายบุหรี่เป็นรายมวน ห้ามขายบุหรี่ที่บรรจุซองน้อยกว่าซองละยี่สิบมวน ห้ามขายผลิตภัณฑ์ยาสูบแก่ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี และห้ามขายผลิตภัณฑ์ยาสูบผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์
ดังนั้น ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมกันผลักดันการบังคับใช้พระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปูองกันการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ยาสูบของเด็กและเยาวชน ตามคำขวัญวันงดสูบบุหรี่โลก5 ปี 2558 ที่กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดไว้ว่า “หนุนกฎหมายบุหรี่ใหม่ เพื่อคุณภาพชีวิตคนไทย”
นอกจากนี้ ต้องดำเนินการบังคับใช้กฎหมายและมาตรการต่างๆ ที่มีอยู่อย่างเคร่งครัด และเพิ่มบทลงโทษผู้ฝ่าฝืนเพื่อลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ พร้อมทั้งรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงพิษภัยของบุหรี่อย่างจริงจัง
น่าสนใจว่าร่างกฎหมายบุหรี่ใหม่จะผ่านสนช.หรือไม่ ผ่านแล้วบังคับใช้ได้จริงหรือ? อีกไม่นานมีคำตอบ
ขอบคุณภาพจาก www.posttoday.com