(INFO)ชัด ๆ เกณฑ์เยียวยาฉบับ“ประยุทธ์” VS “ยิ่งลักษณ์”ต่างกันตรงไหน?
เทียบชัด ๆ หลักเกณฑ์การจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบชุมนุมการเมืองยุค “ประยุทธ์” 4 แสน vs “ยิ่งลักษณ์” 7.7 ล้าน ต่างกันตรงไหน ?
ถกนัดแรกไปแล้วสำหรับคณะกรรมการเยียวยาแก่ผู้ประสบภัยและสูญเสียจากความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงที่มีการชุมนุมปี 2547-2553 และช่วงปี 2556-2557 ที่มี “วิษณุ เครืองาม” เนติบริกรใหญ่ ในฐานะรองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย นั่งหัวโต๊ะ
ก่อนจะได้ข้อสรุปว่า ให้เยียวยาเฉพาะผู้ได้รับผลกระทบเมื่อปี 2556-2557 เท่านั้น เนื่องจากช่วงปี 2547-2553 ยังอยู่ระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
โดยหลักเกณฑ์ในการจ่ายเงินเยียวยานั้นเอามาจาก “กฎหมาย” 4 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ร.บ.ผู้ประสบภัยจากรถ พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ร.บ.สงเคราะห์ผู้ประสบภัย พร้อมกับนำหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มาด้วย
เท่ากับว่าผู้เสียชีวิตจะได้รับเงินเยียวยา 4 แสนบาท/ราย ส่วนผู้ได้รับบาดเจ็บได้รับเงินเยียวยาไม่เกิน 4 แสนบาท/ราย และให้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นเจ้าภาพในการจ่ายเงิน
ซึ่งเมื่อเทียบกับ “รัฐนาวานารีขี่ม้าขาว” ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พบว่า จำนวนตัวเลขแตกต่างกันอย่างมหาศาล !
เพราะหากใครจำกันได้ “รัฐบาลสีแดง” ใช้เงินเยียวยารายคนกว่า 7.5 ล้านบาทเลยทีเดียว
เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำมติคณะรัฐมนตรีสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ กรณีการจ่ายเงินเยียวยา มานำเสนออีกครั้ง ดังนี้
มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2555
1.เห็นชอบในหลักการการเยียวยาและฟื้นฟูเหยื่อและผู้เสียหายตลอดจนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงหรือความขัดแย้งทางการเมืองให้ครอบคลุมถึงประชาชนทุกกลุ่ม เจ้าหน้าที่ของรัฐ สื่อมวลชน และภาคเอกชน รวมทั้งครอบครัวของผู้ได้รับผลกระทบดังกล่าว ตั้งแต่เหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ประมาณปลายปี พ.ศ. 2548 จนถึงเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม 2553 เพื่อเป็นการสร้างความปรองดองของคนในชาติ
ซึ่งแตกต่างจากการเยียวยาในกรณีปกติ ตามที่คณะกรรมการประสานและติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) ที่มี “ยงยุทธ วิชัยดิษฐ” รมว.มหาดไทย (ขณะนั้น) เสนอ
โดยให้ ปคอป. กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการให้ความช่วยเหลือเยียวยาที่ทำให้เกิดความยั่งยืนและเป็นการค้ำจุนผู้ได้รับผลกระทบในระยะยาวต่อไป
2. ให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีประสานกระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณในการจัดหาวงเงินงบประมาณตามกรอบอัตราเงินช่วยเหลือ ชดเชย เยียวยาความเสียหาย และให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติวงเงินงบประมาณอีกครั้งหนึ่ง
โดยกำหนดกรอบอัตราช่วยเหลือ อัตรา 4,500,00 บาทต่อราย โดยคำนวณจากฐานข้อมูลรายได้เฉลี่ยประจำต่อคน ต่อเดือน ตามสถิติรายได้ประชามติของประเทศไทย (GDP per capita) ของปี 2553 ซึ่งเท่ากับ 150,177 บาท ชดเชยค่าเสียโอกาสให้กับทุกครอบครอบอัตราเดียวกันเป็นเวลาประมาณ 30 ปี ประมาณว่าผู้เสียชีวิตอายุเฉลี่ยที่ 35 ปี จะมีโอกาสทำงานจนถึงอายุ 65 ปี จึงเท่ากับขาดโอกาสทำงานไป 30 ปี เงินช่วยทำศพ 250,000 บาทต่อราย และเงินชดเชยกรณีทุพลภาพ อัตราเท่ากับเงินชดเชยกรณีเสียชีวิต (4.5 ล้านบาทต่อราย) และเงินชดเชยกรณีสูญเสียอวัยวะ คิดตามที่สูญเสียอวัยวะสำคัญ เป็นต้น
การชดเชยเยียวยาความสูญเสียทางด้านจิตใจ 3,000,000 บาทต่อราย และกรณีศาลมีคำสั่ง/คำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้อง และได้ถูกควบคุมหรือคุมขังก่อนศาลมีคำสั่ง/คำพิพากษา คำนวณตามอัตราวันที่ถูกคุมขัง เป็นต้น
(อ่านฉบับเต็ม : http://www.cabinet.soc.go.th/doc_image/2555/993011934.pdf)
มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2555
1. เห็นชอบในหลักการตามที่คณะกรรมการประสานและติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) เสนอ ดังนี้
1.1 หลักเกณฑ์และวิธีการให้ความช่วยเหลือเยียวยาด้านการเงินสำหรับผู้เสียหายกลุ่มที่ 1 จากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง (2548 - 2553)
1.2 ประมาณการวงเงินงบประมาณ ตามกรอบอัตราเงินช่วยเหลือ ชดเชย เยียวยาความเสียหาย ตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2555 (เรื่อง ข้อเสนอแนะเพื่อส่งเสริมให้การเยียวยาและฟื้นฟูเหยื่อและผู้เสียหายตลอดจนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงหรือความขัดแย้งทางการเมือง) สำหรับความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกายให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง หรือความขัดแย้งทางการเมือง
1.3 กรณีชาวต่างประเทศที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากเหตุการณ์ความรุนแรงและความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งมีสิทธิได้รับการเยียวยาตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2555
2. ส่วนงบประมาณให้ดำเนินการตามความเห็นของสำนักงบประมาณ โดยให้ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ภายในวงเงิน 2,000,000,000 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตามที่ ปคอป. เสนอ สำหรับชาวต่างประเทศกรณีนาย Hiroyuki Muramoto ซึ่งเสียชีวิตในช่วงเหตุการณ์ความรุนแรงและความขัดแย้งทางการเมือง ระหว่างเดือนเมษายน - พฤษภาคม 2553 เห็นควรให้ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 7,314,000 บาท และขอทำความตกลงกับสำนักงบประมาณตามขั้นตอนต่อไป
3. ให้ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีในฐานะเลขานุการ ปคอป. รับความเห็นของคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้เสียชีวิตตามหลักเกณฑ์ฯ ควรมีกลไกการตรวจพิสูจน์ให้ชัดเจนว่าเป็นผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองที่แท้จริง และกรณีการจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาให้แก่ผู้เสียชีวิตตามหลักเกณฑ์ฯ ควรประกอบด้วยจำนวนเงิน 2 ส่วน คือ
ส่วนที่ 1 ให้ความช่วยเหลือเยียวยาความสูญเสียทางด้านจิตใจให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิต จำนวน 3,000,000 บาทต่อราย และส่วนที่ 2 ให้ความช่วยเหลือเยียวยาค่าเสียโอกาสของผู้เสียชีวิต จำนวน 4,500,000 บาทต่อราย ทั้งนี้ การจ่ายเงินดังกล่าวควรมีมาตรการให้กับผู้มีสิทธิได้รับเงินอย่างแท้จริงและสามารถดำรงชีพได้ในระยะยาว โดยจำนวนเงินส่วนที่ 1 อาจมอบให้กับผู้มีสิทธิได้รับเต็มจำนวน
และส่วนที่ 2 อาจมอบให้ผู้มีสิทธิได้รับในรูปแบบบัญชีเงินฝากประจำ หรือพันธบัตร หรือสลากออมสิน เป็นต้น สำหรับกรณีการให้ความช่วยเหลือเยียวยาแก่ชาวต่างประเทศที่ได้รับความเสียหาย ควรกำหนดมาตรการหรือแนวทางการให้ความช่วยเหลือเช่นเดียวกับประชาชนคนไทย โดยให้กระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ประสานงานในเรื่องนี้ รวมทั้งความเห็นของเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับคำว่า “เงินชดเชย” ตามที่ปรากฏในหลักเกณฑ์และวิธีการให้ความช่วยเหลือเยียวยาด้านการเงินสำหรับผู้ได้รับความเสียหาย อาจทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าเป็นการชดเชยความเสียหายอันเกิดจากความผิดของรัฐ ซึ่งจะก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องอื่นๆ ตามมา จึงควรปรับเปลี่ยนคำว่า “เงินชดเชย” เป็น “การให้ความช่วยเหลือเยียวยาตามหลักมนุษยธรรม” ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2555
1.ผู้มีสิทธิได้รับเงินเยียวยาให้อยู่ภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้
1.1 ให้ผู้ที่ถูกดำเนินคดี และถูกจำกัดเสรีภาพ ตามที่ศาลได้มีหมายควบคุมหรือหมายขัง หรือตามที่กฎหมายกำหนด โดยวิธีการควบคุมหรือคุมขังในเรือนจำ หรือสถานที่ที่ใช้ควบคุมหรือคุมขังของทางราชการ หรือสถานที่ที่ทางราชการหรือศาลกำหนดให้ใช้เป็นสถานที่ควบคุมหรือคุมขัง ซึ่งพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี หรือศาลมีคำสั่ง/คำพิพากษาถึงที่สุด ให้ยกฟ้อง หรือให้จำคุก แต่ถูกควบคุมหรือคุมขังเกินกว่าระยะเวลาให้จำคุก เป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินเยียวยา โดยการคำนวณระยะเวลาควบคุมหรือคุมขัง ให้นับวันเริ่มควบคุมหรือคุมขังรวมคำนวณเข้าด้วย และให้นับเป็นหนึ่งวันเต็ม โดยไม่ต้องคำนึงถึงจำนวนชั่วโมง กรณีที่ถูกควบคุมหรือคุมขังในคดีเดียวกันเป็นหลายช่วงระยะเวลา ให้นำระยะเวลาควบคุมหรือคุมขังทุกช่วงระยะเวลา รวมคำนวณเป็นระยะเวลาควบคุมหรือคุมขัง ทั้งนี้ สิทธิได้รับเงินเยียวยาจะไม่มีการตกทอดทางมรดกไปยังทายาทตามกฎหมายอื่นๆ ของผู้มีสิทธิได้รับเงินเยียวยาที่เสียชีวิตไปแล้ว
1.2 กรณีที่บุคคลใดเป็นผู้ที่ถูกดำเนินคดี มากกว่าหนึ่งคดี อันเนื่องมาจากได้กระทำการใดอันเป็นกรรมเดียวหรือหลายกรรมต่างกัน ให้มีสิทธิได้รับเงินเยียวยา เมื่อพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี หรือศาลมีคำสั่ง/คำพิพากษาถึงที่สุด ทุกคดีแล้ว ทั้งนี้ การคำนวณระยะเวลาควบคุมหรือคุมขัง ให้เป็นไปตามข้อเท็จจริง มิให้คำนวณระยะเวลาซ้ำซ้อน โดยเทียบเคียงการคำนวณตามข้อ 1.1.3.1 โดยอนุโลม
1.3 ผู้มีสิทธิได้รับเงินเยียวยาจะได้รับเงินเยียวยาก็ต่อเมื่อได้ดำเนินการอื่นๆ ตามที่กำหนดไว้ภายใต้หลักเกณฑ์นี้ครบถ้วนเรียบร้อยแล้วเท่านั้น
1.4 ให้นำจำนวนเงินช่วยเหลือหรือชดเชยอื่นๆ จากภาครัฐทั้งหมดอันเนื่องมาจากมูลเหตุหรือความเสียหายเช่นเดียวกันกับการถูกจำกัดเสรีภาพตามหลักเกณฑ์นี้ที่ผู้มีสิทธิได้รับเงินเยียวยาได้รับไปแล้ว (ถ้ามี) มาหักออกจากจำนวนเงินเยียวยาที่จะได้รับภายใต้หลักเกณฑ์นี้ และเมื่อผู้มีสิทธิได้รับเงินเยียวยาได้รับเงินเยียวยาภายใต้หลักเกณฑ์นี้แล้ว ให้ถือว่าสิทธิที่จะได้รับเงินเยียวยาหรือช่วยเหลือหรือชดเชยอื่นๆ จากภาครัฐเป็นอันระงับสิ้นไป
2.ประมาณการผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงหรือความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่เหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยประมาณปลายปี พ.ศ. 2548 จนถึงเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม 2553 จำนวน 500 ราย และประมาณการงบประมาณในวงเงิน 300 ล้านบาท
3.ให้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เป็นผู้ดำเนินการจ่ายเงินเยียวยาและเป็นหน่วยเบิกจ่ายงบประมาณ
ส่วนเรื่องงบประมาณ ให้ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 297,760,700 บาท ที่ได้รับอนุมัติจากกระทรวงการคลังให้กันเงินไว้เบิกเหลื่อมปี เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการให้ความช่วยเหลือ เยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบ จำนวน 500 ราย ดังกล่าว
และให้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพทำความตกลงในรายละเอียดกับสำนักงบประมาณต่อไป สำหรับค่าใช้จ่ายบริหารจัดการนั้น ให้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้งเมื่อทราบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงแล้ว ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
4.ให้คณะกรรมการประสานและติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติรับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่เห็นควรให้พิจารณาเพิ่มเติมมาตรการด้านการปรับทัศนคติของผู้เสียหายให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมอย่างสมานฉันท์ รวมทั้งการสร้างหลักประกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนและเป็นการค้ำจุนผู้ได้รับผลกระทบในระยะยาว ไปพิจารณาดำเนินการด้วย
จากมติคณะรัฐมนตรีสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ข้างต้นจะเห็นได้ว่า
1.รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ใช้หลักเกณฑ์การจ่ายเงินจากการคำนวณจากฐานข้อมูลรายได้เฉลี่ยประจำต่อคน ต่อเดือน ตามสถิติรายได้ประชามติของประเทศไทย (GDP per capita) ของปี 2553 โดยการนำอายุของผู้เสียชีวิตมาเฉลี่ยว่า หากยังมีชีวิตอยู่ต่อจะสามารถหารายได้เท่าไหร่ จนถึงอายุ 65 ปี
2.งบประมาณให้ดำเนินการตามความเห็นของสำนักงบประมาณ โดยให้ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 งบกลาง จำนวน 2 พันล้านบาท
3.จากการประมาณการผู้ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งดังกล่าวตั้งแต่ปี 2548-2553 มีประมาณ 500 ราย และประมาณวงเงินรวม 300 ล้านบาท
เท่ากับว่าหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเยียวยาของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ แตกต่างกับหลักเกณฑ์ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ อย่างสิ้นเชิง !
เนื่องจาก รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ใช้หลักเกณฑ์การจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นหลักนั่นเอง
แต่ต้องไม่ลืมว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ใช้จ่ายแค่ในส่วนการชุมนุมทางการเมืองปี 2556-2557 เท่านั้น ยังไม่ได้นับรวมกรณีการชุมนุมตั้งแต่ปี 2547-2553 ที่ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงอยู่
ล่าสุด ป.ป.ช. เตรียมส่งข้อมูลการไต่สวนดังกล่าวให้กับรัฐบาล เพื่อพิจารณาแล้ว
ท้ายสุดไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลใดจะเป็นผู้เยียวยา แต่ได้โปรดมองมายังประชาชนที่ได้รับผลกระทบด้วยว่า
พวกเขารอมานานแล้ว !
(ดูอินโฟกราฟฟิคประกอบ)
อ่านประกอบ :
ป.ป.ช.ชงข้อมูลจ่ายเงินเยียวยายุค“ปู”ให้รบ.-ลั่นป้องเสียหายแบบครั้งก่อน
ชัด ๆ กฤษฎีกาไฟเขียวจ่ายเงินเยียวยาม็อบ กปปส.-หลัง“สุเทพ”บี้“บิ๊กตู่”