คตช.ให้ศธ.นำหลักสูตร“โตไปไม่โกง”ขยายผลในสถานศึกษาสังกัด
นายกรัฐมนตรีเป็นประธานประชุมคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ เร่งรัดใช้ระบบประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ e-Bidding แทน e-Auction เริ่ม 1 ต.ค.นี้
วันที่ 27 พ.ค. ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ครั้งที่ 4/2558 ร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้อง
ภายหลังการประชุม เวลา 15.50 น. ที่ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ ประธานกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) กรรมการและเลขานุการ คตช. เป็นประธานแถลงผลการประชุมร่วมกับคณะอนุกรรมการในคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ โดย รศ.ดร.จุรี วิจิตรวาทการ ประธานคณะอนุกรรมการฯ ด้านการปลูกจิตสำนึกและสร้างการรับรู้ กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้เริ่มโครงการฝึกอบรมหลักสูตร “โตไปไม่โกง”ให้กับครูเป็นรุ่นแรกวันที่ 29-30 มิถุนายนนี้ เพื่อให้ครูนำหลักสูตรไปใช้ในโรงเรียนต่าง ๆ โดยในระยะแรกจะมีการอบรม 3 รุ่น
จากนั้นประมาณปลายเดือนสิงหาคมจะเป็นเฟสสองของการอบรม ซึ่งในรุ่นที่ 1 จะมีคลิปสั้นรณรงค์ทางสื่อโทรทัศน์เกี่ยวกับการปลูกฝังจิตสำนึกให้เข้าใจเรื่องจิตสาธารณะ การรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการผลิต
“นายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้กระทรวงศึกษาธิการนำหลักสูตรโตไปไม่โกง ไปขยายผลในทุกโรงเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ และโรงเรียนในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จากเดิมที่นำร่องในโรงเรียนสังกัด กทม.เป็นส่วนใหญ่แล้วได้ผลดี เพื่อสร้างเยาวชนรุ่นใหม่ให้มีความเข้าใจว่าการโกหกเป็นเรื่องไม่ดีอย่างไร นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้พูดถึงเรื่องการปลูกฝังประสบการณ์ด้านอื่น ๆ ด้วย ทั้งหน้าที่พลเมือง การเป็นคนดีเด็กดี โดยให้กระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้ริเริ่ม” พลเอก อนันตพร กล่าวเสริม
ด้าน รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค ประธานคณะอนุกรรมการฯ ด้านการป้องกันการทุจริต กล่าวว่า ตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการฯ ด้านการป้องกันการทุจริตวันนี้ นายกรัฐมนตรีจะได้สั่งการเรื่องการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 เร่งรัดให้หน่วยราชการออกแสดงขั้นตอนการขออนุญาตต่าง ๆ ซึ่งขณะนี้ สำนักงาน กพร. และสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ได้ดำเนินการไปมากแล้ว โดยจะได้มีการแถลงความคืบหน้าของการดำเนินการให้รับทราบ
สำหรับในเรื่องการเพิ่มความโปร่งใสของข้อมูลสาธารณะ จะให้มีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารให้มากขึ้น โดยให้สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ หรือ EGA เป็นหน่วยงานที่ดำเนินการเรียกเก็บข้อมูลต่าง ๆ เพื่อรวบรวมข้อมูลสาธารณะของรัฐไว้เผยแพร่อย่างเป็นระบบสากล
พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้ส่งผู้แทนของรัฐบาลเข้าไปร่วมประชุมกับองค์กรนานาชาติที่ส่งเสริมความโปร่งใสของรัฐ หรือ OGP : Open Government Partnership เพื่อให้มาตรฐานการทำงานเรื่องการทำงานต่อต้านคอร์รัปชั่นของไทยได้รับการยอมรับในสากลมากขึ้น พร้อมกับให้เร่งรัดการใช้ระบบ e-Bidding แทน e-Auction ในการประมูลงานโครงการก่อสร้าง
รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะอนุกรรมการฯ ด้านการประชาสัมพันธ์ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานประกาศเจตนารมณ์ของรัฐบาลในการต่อต้านการทุจริต ในวันจันทร์ที่ 8 มิถุนายนนี้ ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยจะมีการประกาศเจตนารมณ์พร้อมกันทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคซึ่งจะจัดขึ้นที่ศาลากลางจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้เห็นพันธกิจของรัฐบาลในการต่อต้านการทุจริต ให้ทราบนโยบายของรัฐบาลที่ได้ทำไปแล้วรวมถึงนโยบายของรัฐบาลที่จะทำต่อไป โดยในงานประกาศเจตนารมณ์ที่ทำเนียบรัฐบาล ได้เชิญบุคลากร 6 กลุ่มเข้าร่วมงานประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน ภาคประชาสังคม องค์กรต่างประเทศ คณะทูนานุทูต สื่อมวลชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ
นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขานุการคณะอนุกรรมการฯ ด้านการปราบปรามการทุจริต/ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาการทุจริตช่วง 1 ปีที่ผ่านมาได้ประสบผลสำเร็จเป็นรูปธรรม มีสถานการณ์ดีขึ้น การปฏิบัติงานในภาครัฐยึดถือธรรมาภิบาลมากขึ้น เหตุผลประการหนึ่งเกิดจากการใช้มาตรการของฝ่ายบริหาร ทั้งมาตรการทางปกครอง มาตรการทางวินัย มีการสร้างกลไกขับเคลื่อนหน่วยงานภาครัฐ มีคำสั่ง คสช.ที่ 69 ทำให้การแก้ไขปัญหาคล่องตัวและส่งผลเป็นรูปธรรมมากขึ้น ที่ประชุมจึงมีมติให้นำมาตรการเหล่านี้ไปใส่ไว้ในร่างพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2551 (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) ที่ผ่านคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว คาดว่าจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาในสัปดาห์หน้า
“ในส่วนของคณะอนุกรรมการฯ ด้านการปราบปรามการทุจริต นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยในเรื่องการพิจารณาโยกย้ายข้าราชการ ซึ่งเป็นการปฏิบัติการทางการปกครอง หน่วยงานที่ตรวจสอบ คือ ป.ป.ช. ป.ป.ท. เป็นแค่การชี้มูล ยังไม่ได้มีการลงโทษ การลงโทษต้องดำเนินคดีตามกฎหมาย ตรงนี้นายกรัฐมนตรีก็ห่วงใยข้าราชการว่า จะต้องมีการพิจารณาให้รอบคอบก่อนที่จะชี้มูลหรือลงโทษ ต้องมีหลักฐานมีพยานที่แน่ชัด ซึ่งเป็นความห่วงใยต่อทั้งสองฝ่าย หากทำผิดต้องลงโทษ ทำดีต้องได้รับการยกย่องชมเชยให้รางวัล ถ้ามีมูลต้องพิจารณาให้พักงานไว้ก่อน ขอเรียนกับสื่อมวลชนว่าทุกอย่างไม่ได้ทำมากไปหรือน้อยไป ทำให้เหมาะสมตามเหตุตามผล” พลเอก อนันตพร กล่าว
ด้าน นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง ประธานอนุกรรมการประสานความร่วมมือข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) กล่าวว่า ได้รายงานต่อที่ประชุมถึงความคืบหน้าในโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และความคืบหน้าโครงการจัดซื้อรถโดยสารก๊าซธรรมชาติ หรือเอ็นจีวี จำนวน 489 คัน ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ว่าทั้งสองโครงการได้มีผู้สังเกตการณ์เข้าไปดำเนินการดูการปฏิบัติงานแล้ว โดยเฉพาะในส่วนของโครงการจัดซื้อรถโดยสารก๊าซธรรมชาติ หรือเอ็นจีวี ที่ประกวดราคาเสร็จสิ้นได้ผู้เสนอราคารายต่ำสุดแล้ว ซึ่งก่อนหน้าที่จะมีคณะผู้สังเกตการณ์นั้นราคารถโดยสารอยู่ที่ประมาณ 4 ล้านบาทเศษ แต่หลังจากที่มีผู้สังเกตการณ์สามารถทำให้ประหยัดเงินงบประมาณลงได้คันละประมาณ 1 ล้านบาทเศษ ซึ่งที่ประชุมได้ชื่นชมการทำงานของคณะผู้สังเกตการณ์ด้วย
พร้อมกันนี้ อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวเพิ่มเติมถึงการใช้ระบบการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ระบบ e-Bidding แทน e-Auction ในการประมูล หลังพบว่า e-Auction เป็นระบบที่ไม่สามารถป้องกันการทุจริตได้ โดยเฉพาะในการประมูลงานก่อสร้างต่าง ๆ ซึ่งพบว่ามีช่องว่าง ทำให้เกิดความเสียหาย โดยจะเริ่มใช้ระบบ e-Bidding ได้ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ เพื่อป้องกันการทุจริตการประมูลงาน ไม่ให้เกิดการฮั้วประมูลงานของผู้รับเหมา และให้ใช้ระบบการตลาดอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Market ในการจัดซื้อผลิตภัณฑ์ ซึ่งกรมบัญชีกลางจะทำการคัดเลือกบริษัทและนำข้อมูลราคาและคุณสมบัติมาใส่ไว้ในระบบอินเทอร์เน็ต เพื่อลดขั้นตอนการประกวดราคาและให้ได้วัสดุที่ตรงกับความต้องการและราคาที่เหมาะสม