สนช.เปิดเวทีถกข้อดี ข้อเสีย ในทางสังคม เศรษฐกิจการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ
เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ยันพ.ร.บ.ยาสูบฉบับใหม่ ถูกร่างขึ้นมาเพื่อลดอัตราการเจ็บป่วย การตาย เชื่อไม่เกิดผลกระทบกับชาวไร่ยาสูบหรือโรงงานผลิตยาสูบแต่อย่างใด
วันที่ 27 พฤษภาคม 2558 คณะกรรมการการวิจัยและพัฒนา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และอนุกรรมการกลั่นกรองการดำเนินงานด้านวิจัย ร่วมกับ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา จัดโครงการสัมมนานำเสนอผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ในกระบวนการนิติบัญญัติ
ช่วงเช้ามีการสัมมนา เรื่อง “ข้อดี ข้อเสีย ในทางสังคมและเศรษฐกิจการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ”
ศ. นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า บุหรี่เป็นสินค้าที่ไม่ปกติ เพราะในบุหรี่เต็มไปด้วยสารเคมี 7,000 ชนิด สารก่อมะเร็ง 70 ชนิด มีฤทธิ์สูงมาก โรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ล้วนเป็นโรคร้ายแรง
ข้อมูลปี 2552 คนไทยเสียชีวิตปีละ 50,710 คน เกือบ 1 ใน 3 เสียชีวิตก่อนอายุ 60 ปี โดยเฉี่ยแต่ละคน ป่วยจนสูญเสียคุณภาพชีวิต 2 ปี เสียชีวิตก่อนวัยอันควร 12 ปี ซึ่ง 30% หรือ 15,213 คน เสียชีวิตก่อนอายุ 60 ปี ทำให้รัฐเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาคนป่วยมากกว่ามีรายได้
เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวอีกว่า บริษัทบุหรี่ได้กำไรมหาศาล ปี 2553 พบว่า 6 บริษัทบุหรี่ทั่วโลกมีกำไร 35,000 ล้านเหรีบญ หรือ 1 ล้านล้านบาท ในส่วนของประเทศไทยผู้สูบบุหรี่เรียนจบ ป.4 ไม่ค่อยมีความรู้ โดยเฉพาะคนยิ่งจนที่สูบบุหรี่ พบว่า คนจนใช้เงินซื้อบุหรี่ กว่า 7 พันล้านบาทต่อปี ฉะนั้นคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือคนจน ทำให้ครอบครัวลำบากเมื่อหัวหน้าครอบครัวเสียชีวิต
เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวถึงชาวไร่ยาสูบด้วยว่า จะได้ผลตอบแทนน้อยสุดในห้วงโซ่ธุรกิจยาสูบ ยาสูบหนึ่งตันที่ชาวไร่ขายออกไปจนกระทั่งถึงมือผู้ซื้อบุหรี่ มูลค่าจะเพิ่มขึ้น 47.2 เท่า ของราคาที่ชาวไร่ยาสูบขาย
ส่วนปัจจัยที่ส่งผลต่อชาวไร่ยาสูบไทย คือ 1.ชาวไร่ปลูกเพื่อส่งออก ผลกระทบมาจากกลไกลตลาดโลกไม่เกี่ยวกับมาตรการการควบคุมยาสูบของไทย 2.ชาวไร่ปลูกยาสูบเพื่อป้อนให้กับโรงงานยาสูบ ผลกระทบจะขึ้นอยู่กับนโยบายของโรงงานในการซื้อใบยา ส่วนแบ่งตลาดบุหรี่ของโรงงานยาสูบ ซึ่งจะได้รับผลกระทบในระยะยาว หากคนไทยที่สูบบุหรี่ลดลง
ศ.นพ.ประกิต กล่าวถึงพ.ร.บ.ยาสูบฉบับใหม่นั้น ถูกร่างขึ้นมาเพื่อลดอัตราการเจ็บป่วย การตาย ซึ่ง ไม่ได้ร่างขึ้นมาเพื่อให้เกิดผลกระทบกับชาวไร่ยาสูบหรือโรงงานผลิตยาสูบแต่อย่างใด โรงงานยาสูบได้กำไรมากมาย แต่คนที่ต้องเจ็บป่วยเพราะผลิตภัณฑ์ยาสูบจำนวนกี่คนที่ต้องสูญเสียชีวิต เราจึงอยากให้คำนึงถึงกระทบให้มากๆ อย่าหวังเพียงรายได้และผลกำไร ข้อกฏหมายจะมีข้อดีสำหรับผู้บริโภค แต่ผู้ผลิตย่อมคัดค้าน เป็นเรื่องธรรมดา
ด้าน นางสาวดาวน้อย สุทธินิภาพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการโรงงานยาสูบ กล่าวว่า โรงงานผลิตยาสูบเป็นอุตสาหกรรมของประเทศไทยไม่ใช่กลุ่มอุตสาหกรรมของพนักงาน ปัจจุบันมีพนักงาน ประมาณ 5,000 คน เป็นอุตสาหกรรมที่ถูกกำหนดโดยภาครัฐให้เป็นองค์กรของภาครัฐโดยชัดเจน เพราะฉะนั้นเราดำเนินการใดๆ ก็แล้วแต่อยู่ในความดูแลของกระทรวงการคลัง
“การบริหารการจัดการของโรงงานยาสูบในประเทศไทยและต่างประเทศ ต่างกัน เช่นต่างประเทศผลกำไรจะเป็นโรงงานยาสูบ 50-60% แต่ของไทย กำไร 88% เข้ารัฐ ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม โรงงานยาสูบสร้างรายได้เกือบ 1 แสนล้าน ให้เข้าไปขับเคลื่อนระบบเศษรฐกิจของประเทศ”
นางสาวดาวน้อย กล่าวอีกว่า ในโลกของความเป็นจริงบุหรี่ยังถูกกฏหมายไม่ใช่แค่ในประเทศไทย ความพยายามที่สร้าง พ.ร.บ.ควบคุมยาสูบฉบับใหม่ขึ้นมาเพื่อที่จะควบคุมให้ซื้อขายได้อย่างถูกกฏหมาย ซึ่งความจริงต้องไปควบคุมบุหรี่ที่ผิดกฎหมายจะตรงจุดมากกว่า
ด้านนายกฤษณ์ ผาทอง นายกสมาคมผู้เพาะปลูก ผู้บ่ม และผู้ค้ายาสูบ จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึง ร่างพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. .... ฉบับใหม่ การบอกว่า กฏหมายฉบับนี้จะไม่มีผลกระทบกับชาวไร่ยาสูบ ที่จริงนมีผลกระทบอย่างมาก เพราะเราปลูกยาสูบ และไม่ได้มีตลาดที่อื่นใด นอกจากโรงงานยาสูบในประเทศเพียงที่เดียว
“ ก่อนหน้านี้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้ถูกสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ตีกลับไปยังกระทรวงสาธารณะสูข(สธ.) เพื่อขอให้พูดคุยกับภาคเกษตรและเอกชนเพิ่มเติม โดย กระทรวงสารารณสุขยังคงดันร่างกฏหมายนี้กลับไปยังที่ประชุมคณะรัฐมนตรีโดยไม่ได้รับฟังข้อกังวลของชาวไร่ยาสูบและร้านค้าโชห่วยแต่อย่างใด ชาววไร่ยาสูบจึงผิดหวังต่อการตัดสินใจของคณะรัฐมนตรี เพราะเราได้พยายามมาตลอดที่จะแสดงความเห็นและข้อกังวลในร่างกฏหมายฉบับนี้ ซึ่งยังมีข้อบกพร่องอยู่หลายข้อ เช่น มาตรการมีปัญหาขัดต่อรัฐธรรมนูญและละเมิดสิทธิและเสรีภาพในการประกอบอาชีพของชาวไร่ยาสูบ”
สุดท้ายนางวราภรณ์ นะมาตร์ ผู้อำนวยการสมาคมการค้ายาสูบไทย กล่าวว่า ร้านค้าโช่ห่วยกว่า 500,000 รายทั่วประเทศจะเป็นกลุ่มคนที่ต้องรับผลกระทบจากข้อกฏหมายที่สุดโต่งและบีบคั้น ร้านค้าซึ่งมีข้อห้ามทั้งเรื่องแบ่งขาย การบังคับใช้ซองเรียบ กำหนดพื้นที่ห้ามร้านขายในภายหลัง การห้ามแสดงผลิตภัณฑ์ในร้าน ตลอดจนให้อำนาจรัฐมนตรีออกกฏหมายลูกหรือใช้ดุลยพินิจเจ้าหน้าที่ลงโทษร้านค้า ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม
“ เราทราบว่ากระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์ต่างมีความเห็นแย้งต่อมาตรการต่างๆ ในร่างนี้และไม่เห็นด้วย เพราะมีหลายมาตราซ้ำซ้อนและก้าวล่วงอำนาจของกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เราจึงขอให้กฤษฎีกาศึกษาผลกระทบอย่างรอบคอบด้วย”