บัณฑิตจบใหม่ยังว่างงานกว่าแสนคน – ป.ตรีสายสังคมมากสุด
สำนักงานสถิติเผยตัวเลขคนว่างงานเดือนเมษายน ‘58 กว่า 3 แสนคน นักศึกษาจบใหม่ยังมากสุด 1.39 แสนคน –สศช.ระบุ ปริญญาตรีสายสังคมว่างงานพุ่ง
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า สำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยผลสำรวจภาวการณ์ทำงานของ ประชากรเดือนเมษายน 2558 ที่ผ่านมาพบว่า มีผู้มีงานทำ 37.53 ล้านคน มีผู้ว่างงาน 3.24 แสนคน ลดลง 2 หมื่นคนจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และลดลง 5.4 หมื่นคน จากเดือนมีนาคม 2558
ทั้งนี้ จำนวนผู้มีงานทำ 37.53 ล้านคน ประกอบด้วย ผู้ทำงานในภาคเกษตรกรรม 10.61 ล้านคน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 4.3 แสนคน ผู้ทำงานนอกภาคเกษตรกรรม 26.92 ล้านคน เพิ่มขึ้น 6.3 แสนคน
ในจำนวนดังกล่าว เพิ่มขึ้นมากที่สุดในสาขาการผลิต 4 แสนคน รองลงมาคือสาขาที่พักและบริการด้าน อาหาร 1 แสนคน ส่วนสาขาที่ลดลงมากที่สุดคือ สาขาการศึกษา 1.2 แสนคน รองลงมาคือสาขากิจกรรมทางการเงินและการประกันภัย 8 หมื่นคน
นอกจากนี้ยังระบุว่า มีผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนมีจำนวน 1.51 แสนคน และผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาแล้ว 1.73 แสนคน เพิ่มขึ้น 1 พันคน จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว แยกเป็นผู้ว่างงานจากภาคการบริการและการค้า 8.2 หมื่นคน ภาคการผลิต 7.2 หมื่นคน และภาคเกษตรกรรม 1.9 หมื่นคน
นอกจากนี้ยังพบว่า มีผู้ว่างงานที่สำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษามากที่สุดจำนวน 1.39 แสนคน รองลงมาเป็นระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 7.1 หมื่นคน ระดับประถมศึกษา 5.4 หมื่นคน ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 4.9 หมื่นคน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้(25พ.ค.2558) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เปิดเผยรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 1 ปี 2558 ระบุว่า แรงงานจบใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานในปี 2558 คาดว่าจะมีผู้จบการศึกษาตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาถึงระดับปริญญาตรีรวม 2,137,424 คน
และคาดว่าจะมีผู้เข้าสู่ตลาดแรงงานประมาณ 637,610 คน เป็นผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรี อาชีวศึกษา และมัธยมศึกษาเป็นสัดส่วนร้อยละ 63.9 ,21.5 และ 14.7 ตามลำดับ
สศช. ยังระบุว่า ในปี 2557 ที่ผ่านมา พบว่าผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีมีอัตราการว่างงานสูงสุดร้อยละ 1.54 โดยเฉพาะผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีสายสังคมศาสตร์ อาทิ สาขาวารสารศาสตร์และสารสนเทศว่างงานร้อยละ 2.77 ศิลปกรรมศาสตร์ว่างงานร้อยละ 2.76 และมนุษยศาสตร์ว่างงานร้อยละ 2.71
ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นสาขาที่มีการผลิตกำลังคนที่เกินความต้องการของตลาดมาต่อเนื่อง ขณะที่ผู้ประกอบการก็ระมัดระวังการเพิ่มขึ้นของต้นทุนทำให้เลือกจ้างเฉพาะแรงงานที่มีคุณสมบัติและความสามารถตรงกับความต้องการของกิจการ
ขอบคุณภาพจาก http://education.kapook.com