กม.ไม่ศักดิ์สิทธิ์ รัฐไร้น้ำยาบังคับใช้ ‘บารากู่’ ยังขายเกลื่อนกรุง
บารากู่ และบารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ไฟฟ้า เป็นสินค้าต้องห้ามนำเข้า ห้ามขาย ห้ามให้บริการในประเทศ ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้บารากู่ และบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2557 เพื่อป้องกันการก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ สุขอนามัย สังคม ความมั่นคงของประเทศ ความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดีของประชาชน หากฝ่าฝืนมีโทษถึงขั้นจำคุก!
แต่ดูเหมือนตลอด 5 เดือนที่ผ่านมา นับแต่ กม.มีผลบังคับใช้ยังพบเห็นการลักลอบจำหน่ายและให้บริการสินค้าประเภทนี้ตามสถานที่ต่าง ๆ อยู่ อย่างไม่เกรงกลัวความผิด โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นเยาวชนไทยและชาวต่างชาติ ส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลมาจากเพื่อนชวนมากที่สุด และมีความเชื่อว่า บารากู่ และบารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ไฟฟ้า ไม่มีโทษเหมือนบุหรี่และช่วยลดการสูบบุหรี่ได้
ทั้งที่ความจริงกลับมีโทษไม่แตกต่างจากบุหรี่เลย ‘ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ’ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ยืนยันว่า ‘บารากู่’ เป็นสินค้าที่มีสารเคมีหลายชนิด เช่น สารนิโคติน สารคาร์บอนมอนอกไซด์ ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งเช่นเดียวกับบุหรี่ทั่วไป
ยิ่งส่วนประกอบที่เป็นผลไม้ โดยเฉพาะโกโก้ เมื่อเกิดการเผาไหม้ก็เป็นสารก่อมะเร็งด้วย
มิหนำซ้ำเด็กบางคนยังถูกคนในครอบครัวสอนให้สูบตั้งแต่อายุน้อย ๆ และบอกสรรพคุณเกินจริงจนอาจสร้างทัศนคติไม่ถูกต้องได้
เมื่อเป็นเช่นนี้ย่อมเกิดคำถามว่า บารากู่ และบารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ไฟฟ้า ยังวางจำหน่ายและให้บริการอย่างเปิดเผยท้าทายอำนาจรัฐเป็นเพราะเจ้าหน้าที่บังคับใช้ กม. ไม่เข้มงวดหรือไม่ จนทำให้ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข
ศูนย์ข่าวนโยบายสาธารณะ สำนักข่าวอิศรา ลงพื้นที่สำรวจแหล่งขายสินค้าชนิดดังกล่าวย่านสะพานพุทธ พบบารากู่มีราคาตั้งแต่ 400-1,200 บาท หรือขึ้นอยู่กับการต่อรองราคา
ขณะที่ ถ.ข้าวสาร มีจำหน่ายเฉพาะบุหรี่ไฟฟ้าเท่านั้น ราคาตั้งแต่ 450-1,500 บาท โดยส่วนใหญ่ผู้จำหน่ายจะเป็นวัยรุ่น
‘เกด’ แม่ค้าวัย 28 ปี เล่าว่า ขายบารากู่ที่สะพานพุทธมานานแล้ว โดยร้านมีอุปกรณ์ครบทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นน้ำยาเติม หรือเตาที่มีขนาดแตกต่างกันออกไป ราคาไล่เรียงตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงหลักพัน และลูกค้ายังเลือกกลิ่นผลไม้ได้ตามใจชอบด้วย
ด้านแม่ค้าหาบเร่รายหนึ่งย่านข้าวสาร บอกว่า จะไม่วางจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าบนแผงลอย แต่จะซ่อนไว้ในกระเป๋าเดินทางจำหน่ายแทน ลูกค้าส่วนใหญ่มีทั้งคนไทยและต่างชาติ หากเป็นต่างชาติจะระบุราคาแพงขึ้นกว่าปกติ ทั้งนี้ราคาขึ้นอยู่กับบุหรี่ไฟฟ้าและน้ำยาด้วย
“ลูกค้าคนไหนอยากได้ต้องสุ่มถามจากผู้ขายหน้าร้านเหล้า เพราะไม่ค่อยมีใครนำมาขายแล้ว ด้วยกลัวว่าจะถูกจับดำเนินคดีตามกฎหมาย” เธอระบุ
ทั้งนี้ บารากู่ และบารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ไฟฟ้าได้ ได้รับความนิยม เพราะผู้สูบเชื่อว่า ช่วยลดบุหรี่ ไม่มีสารอันตราย และเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ แถมยังมีควันเป็นไอน้ำ ปากไม่มีกลิ่นเหม็น ส่งผลให้ชายวัย 48 ปี ที่เดินไปมาหน้าสถานบันเทิงแห่งหนึ่งบน ถ.ข้าวสาร ยังจำหน่ายได้
“เมื่อก่อนเคยจำหน่ายในเว็บไซต์ แต่เดี๋ยวนี้เลิกแล้ว เพราะผิดกฎหมาย และเคยมีการกวาดล้างที่ข้าวสาร แต่ยังกล้าจำหน่ายอยู่ เพราะลูกค้าถามหาบ่อยครั้ง” พ่อค้ารายนี้ ให้ข้อมูล พร้อมกับบอกเราว่า ส่วนใหญ่ลูกค้าที่ข้าวสารจะเป็นชาวต่างชาติที่นั่งดื่มเหล้า หากต้องการซื้อจากเจ้าของร้าน ไม่สนิทจริงก็ซื้อไม่ได้ ฉะนั้นพ่อค้าแม่ค้าที่เดินไปมาจึงเป็นทางเลือก
เมื่อสอบถามผู้สูบอย่าง ‘ตั้ม’ หนุ่มน้อยวัย 24 ปี ยอมรับว่า รู้จัก ‘บารากู่’ มานานแล้ว สูบครั้งแรกตอนไปเที่ยวกับเพื่อน ซึ่งร้านมีบริการสินค้าชนิดนี้ ราคาอยู่ที่ 30-40 บาท/เตา แต่ปัจจุบันร้านแห่งนั้นไม่มีให้บริการแล้ว กระนั้นเขายังเชื่อว่า การสูบบารากู่ให้โทษน้อยกว่าสูบบุหรี่ถึง 10 เท่า และชาวอาหรับสูบเพื่อรักษาโรคอย่างหนึ่ง เช่นเดียวกับมุสลิมสูบแทนบุหรี่
แล้วเหตุใดจึงชอบสูบบารากู่ หนุ่มผู้นี้ให้เหตุผลว่า มีกลิ่นหอมจากผลไม้ ช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ ตามสรรพคุณที่พ่อค้าแนะนำ
ไม่ต่างอะไรจาก ‘แจ๊ค’ วัยรุ่นหนุ่มใส นิยมการสูบบุหรี่ไฟฟ้าให้เหตุผลว่า สูบมานานแล้ว เพราะเพื่อนแนะนำ ทั้งที่ปกติเป็นคนไม่สูบบุหรี่ทั่วไป แต่ปัจจุบันหาซื้อยาก หาซื้อได้เฉพาะพ่อค้าแม่ค้าบางคนใน ถ.ข้าวสาร แต่ในร้านเหล้าไม่ค่อยมีแล้ว ภายหลังมีกฎหมายควบคุม
ด้านพ.ต.อ.ไพฑูรย์ คุ้มสระพรหม รองผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (รอง ผบก.บก.ปคบ.) กล่าวว่า ปัจจุบันยังพบการลักลอบนำเข้าบารากู่ และบารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ไฟฟ้า ทั้งทางบก ทางน้ำ และใต้ดินที่ไม่สามารถตรวจจับได้ ทำให้สินค้ายังมีให้ผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม เมื่อตรวจพบจะจับกุมทันที
ทั้งนี้ มีมาตรการ 2 ส่วน คือ มาตรการป้องกัน โดยระยะแรกจะป้องกันการนำเข้า และระยะที่สอง จะมุ่งเน้นการปราบปราม ซึ่งยอมรับทำได้ยากกว่าการป้องกัน โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) รับทราบปัญหาแล้ว และสั่งการให้ตำรวจทุกพื้นที่รับทราบ เหลือเพียงการปฏิบัติเท่านั้น
“ตำรวจบางคนไม่รู้จักบารากู่ประกอบกับ กม.บัญญัติว่า ผู้สูบไม่สามารถจับกุมดำเนินคดีได้ เพราะคือผู้ป่วย ทำให้ตำรวจปฏิบัติหน้าที่ทันทีไม่ได้ แต่ถ้าเป็นผู้จำหน่ายหรือให้บริการจับกุมดำเนินคดีได้ทันที และปัจจุบันเริ่มมีการดำเนินการอย่างเข้มข้นแล้ว”
รอง ผบก.บก.ปคบ. ยังกังวลอนาคตการลักลอบนำเข้าหรือจำหน่ายสินค้าเหล่านี้อาจแฝงในรูปแบบอื่น ซึ่งผู้ฝ่าฝืนมักหาช่องทางได้เสมอ ดังนั้น ประชาชนใดพบเห็นสามารถแจ้งตำรวจหรือสำนักคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้ .
ทั้งนี้ อนาคตปัญหาจะลดน้อยลงหรือไม่ ต้องขึ้นอยู่กับนโยบายภาครัฐและการบังคับใช้ กม.อย่างเข้มงวดและจริงจังต่อไป เพื่อไม่ให้สินค้าที่สวยงาม มีกลิ่นหอม เย้ายวนใจ เหล่านี้ ‘คร่าชีวิต’ คนไทยโดยไม่รู้ตัว ต้องคอยจับตา .