ย้อนรอย 1 ปีมุสลิมอุยกูร์โผล่ใต้ สะท้อนไทยแก้ปัญหาล้มเหลว
ปัญหามุสลิมต่างด้าวลักลอบเข้าเมือง โดยเฉพาะในจังหวัดภาคใต้ของไทยนั้น ไม่ได้มีเฉพาะมุสลิมโรฮิงญาที่กำลังเป็นข่าวครึกโครมอยู่ในปัจจุบัน กระทั่งจะมีการประชุมระดับนานาชาติเพื่อปลดล็อคปัญหาในอีกไม่กี่วันข้างหน้า
แต่หากยังจำกันได้ เมื่อปีที่แล้วประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหามุสลิมไร้สัญชาติที่ต้องสงสัยว่าเป็นชาวอุยกูร์ หลบหนีจากมณฑลซินเจียง สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อมุ่งหน้าไปประเทศที่สาม แต่ขณะเดียวกันมุสลิมไม่ปรากฏสัญชาติเหล่านั้นกลับอ้างว่าพวกตนเป็นชาวตุรกี
ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา กระบวนการพิสูจน์สัญชาติกลับยังไม่เสร็จสิ้น ทำให้ไม่สามารถผลักดันกลับประเทศต้นทางได้ หนำซ้ำช่วงที่ถูกกักตัวอยู่ตามสถานที่ต่างๆ ก็พากันหนีหายร่อยหรอไปจนเกือบหมด
กลายเป็นภาพสะท้อนการจัดการปัญหาของรัฐบาลไทยที่อ่อนด้อยและมีช่องโหว่เพียบ!
ลำดับเหตุการณ์มุสลิมไร้สัญชาติจำนวนมากปรากฏตัวในพื้นที่ภาคใต้ของไทยตั้งแต่เมื่อต้นปีที่แล้ว มีดังนี้
13 มี.ค.57 พบกลุ่มมุสลิมไม่ทราบสัญชาติในสวนยางพารา เขตรอยต่อระหว่างบ้านคลองต่อ หมู่ 10 ต.กำแพงเพชร อ.รัตภูมิ จ.สงขลา กับ ต.ทุ่งตำเสา อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยสามารถควบคุมตัวได้ทั้งหมด 219 คน เป็นชาย 69 คน หญิง 54 คน เป็นเด็กผู้ชาย 57 คน และเด็กผู้หญิง 39 คน
14 มี.ค.57 พบกลุ่มมุสลิมไม่ทราบสัญชาติเพิ่มเติมในสวนยางพารา พื้นที่ ต.ทุ่งตำเสา อ.หาดใหญ่ อีก 3 คน
20 มี.ค.57 พบกลุ่มมุสลิมไม่ทราบสัญชาติบริเวณทางเข้าโรงเรียนปาดังติณสูลานนท์ เขตเทศบาลตำบลปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา จำนวน 77 คน เป็นชาย 27 คน หญิง 18 คน และเป็นเด็ก 32 คน
ช่วงเดือน พ.ย.57 กลุ่มมุสลิมไม่ทราบสัญชาติที่เป็นผู้หญิงและเด็ก ซึ่งถูกนำตัวไปพักพิงที่บ้านพักเด็กและสตรีจังหวัดสงขลา จำนวน 195 คน ได้ทยอยหลบหนี รวมทั้งสิ้น 8 ครั้ง จำนวน 146 คน คงเหลืออยู่เพียง 49 คน
22 ธ.ค.57 มุสลิมไม่ทราบสัญชาติเสียชีวิต 1 คน คือ เด็กชายอับดุลลา จากอาคารวัณโรคขึ้นสมอง โดยเสียชีวิตที่โรงพยาบาลหาดใหญ่ ศพถูกนำไปฝังตามพิธีกรรมทางศาสนาอิสลาม ที่กุโบร์ในท้องที่บ้านเหนือ ต.คูเต่า อ.หาดใหญ่
24 ม.ค.58 ชาวมุสลิมไม่ทราบสัญชาติ จำนวน 8 คน หลบหนีออกจากอาคารกักตัวผู้หลบหนีเข้าเมือง ตม.สะเดา ต.สำนักขาม อ.สะเดา จ.สงขลา โดยเจ้าหน้าที่สามารถจับกุมตัวกลับมาได้ 7 คน
สรุปตัวเลขมุสลิมไม่ทราบสัญชาติที่ยังอยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่ไทย ณ ปัจจุบัน เหลืออยู่ทั้งหมด 119 คน แยกเป็นที่อยู่ในความดูแลของ ตม. ซึ่งคุมตัวเฉพาะผู้ชาย จำนวน 72 คน อยู่ในความดูแลของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ซึ่งดูแลผู้หญิงและเด็ก จำนวน 35 คน และอยู่ระหว่างการดำเนินคดีในข้อหาหลบหนีจากที่คุมขัง จำนวน 12 คน
สำหรับการดำเนินการพิสูจน์สัญชาติมุสลิมกลุ่มนี้ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา มี 2 ประเทศที่เข้ามาดำเนินการตรวจสอบ หนึ่ง คือ ประเทศตุรกี สืบเนื่องจากมุสลิมไม่ทราบสัญชาติทั้งหมดอ้างตัวว่าเป็นชาวตุรกี ทางตัวแทนรัฐบาลตุรกีได้เดินทางมาตรวจสอบและซักถามข้อมูลไปแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าเป็นพลเมืองของตุรกีจริงหรือไม่
สอง คือ สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งได้ติดต่อมายังรัฐบาลไทยหลังทราบข่าวการจับกุม ต่อมาตัวแทนรัฐบาลจีนได้เดินทางเข้าตรวจสอบข้อมูล แต่ปรากฏว่ามุสลิมไม่ทราบสัญชาติกลุ่มนี้ไม่ยอมพูดคุยหรือให้ข้อมูลใดๆ กับทางตัวแทนประเทศจีน เบื้องต้นทางการจีนเชื่อว่ากลุ่มบุคคลดังกล่าวน่าจะเป็นมุสลิมอุยกูร์ ซึ่งเป็นชนเผ่าหนึ่งที่อาศัยในมณฑลซินเจียง และมีปัญหาความขัดแย้งกับชาวฮั่นซึ่งเป็นชนส่วนใหญ่ของจีน มีการปะทะและก่อเหตุรุนแรงขึ้นเป็นระยะ ทำให้ทางการจีนต้องการขอรับตัวทั้งหมดกลับประเทศ
อย่างไรก็ดี จากท่าทีของจีน ได้มีเสียงคัดค้านและต่อต้านจากหลายกลุ่ม ทั้งองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน และกลุ่มประชาคมมุสลิมต่างๆ เนื่องจากเกรงว่าหากทางการไทยส่งตัวชาวมุสลิมเหล่านั้นให้กับประเทศจีน ทั้งหมดอาจถูกทางการจีนลงโทษ เพราะชาวอุยกูร์มีปัญหากับรัฐบาลจีนอยู่
ทางฝ่ายตุรกี ซึ่งได้เข้ามาตรวจสอบข้อมูลทั้งหมดไปแล้วเช่นกัน แม้จะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นพลเมืองของตุรกีหรือไม่ แต่ก็ได้ประสานรัฐบาลไทยขอรับตัวทั้งหมดไปพำนักที่ตุรกี ทว่าก็ถูกรัฐบาลจีนคัดค้าน เพราะจีนยังเชื่อว่ามุสลิมทั้งหมดเป็นพลเมืองของตน
ปัจจุบันรัฐบาลไทยในฐานะคนกลางที่ควบคุมดูแลมุสลิมไม่ทราบสัญชาติกลุ่มนี้อยู่ จึงไม่สามารถทำอะไรได้ นอกจากรอไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้ข้อยุติเรื่องสัญชาติ
แต่ระหว่างรอ กลับมีขบวนการนำพามุสลิมเหล่านั้นหลบหนีออกจากห้องกัก ตม.และบ้านพักของ พม.อย่างต่อเนื่อง
แม้เจ้าหน้าที่ ตม.จะตั้งข้อสังเกตว่า กลุ่มมุสลิมไม่ทราบสัญชาติทั้งหมดนี้ไม่น่าเป็นเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ เพราะเป็นบุคคลที่มีฐานะ พกพาเงินและทรัพย์สินมีค่าติดตัวมาด้วย การพบตัวในประเทศไทยน่าจะเป็นการใช้ไทยเป็นทางผ่าน โดยว่าจ้างขบวนการนำพา เพื่อเดินทางสู่ประเทศที่สามมากกว่า
ทว่าการที่กลุ่มมุสลิมบางส่วนหายไปจากสถานที่ควบคุม ย่อมส่งผลลบต่อภาพพจน์ประเทศไทยในสายตานานาชาติ โดยเฉพาะประชาคมมุสลิมไม่น้อยเลย
และสุดท้ายเป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลไทยต่อสถานการณ์ผู้หลบหนีเข้าเมืองที่ไม่สะเด็ดน้ำ และยังคงสร้างปัญหาต่อเนื่องไม่หยุด!