สยามกรีนสกาย ไลฟ์สไตล์เกษตรกรรมใหม่กลางใจเมือง
จากพื้นที่เกษตรกรรมของกรุงเทพมหานครที่ถูกพัฒนามาสู่ความเป็นเมือง ทุกพื้นที่เต็มไปด้วยตึกรามบ้านช่อง และผืนคอนกรีตที่ปกคลุมผืนดินกว่า 70% ส่งผลกระทบต่อปริมาณหน้าดินที่เคยซึมได้อีกทั้งปัญหาระบบนิเวศเมืองในองค์รวม ซึ่งนี่คือที่มาของปัญหาน้ำท่วมหนักที่เมืองหลวงแห่งนี้ต้องประสบ และสิ่งที่กำลังตามมาอีกหนึ่งปัญหาของคนกรุง คือเรื่องความมั่นคงทางด้านอาหาร ดังนั้นแนวคิดการหันมาปลูกผักบนสวนหลังคาจึงเป็นเสมือนคำตอบให้กับคนเมืองในปัจจุบัน
“สยามกรีนสกาย” ถูกเนรมิตขึ้นมาให้กลายเป็นหลังคาเขียวใจกลางเมืองบนชั้น 7 อาคารสยามสแควร์วันที่มุ่งหวังจะเป็นทั้งที่พักผ่อนหย่อนใจ บรรเทาปัญหาปรากฎการณ์เกาะร้อนในเมือง หรือเพียงสร้างพื้นที่ผลิตอาหารบนหลังคาเท่านั้น แต่สถานที่แห่งนี้กำลังจะเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับเกษตรกรรมเมืองและเป็นเสมือนสถานที่เล็กๆที่จะจุดประกายให้คนเมืองหันมาสนใจการปลูกผักกินเองได้บ้าง
เมื่อเร็วๆ นี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดตัวศูนย์เรียนรู้เกษตรกรรมเมือง ที่ชื่อว่า สยามกรีนสกาย ซึ่งถือเป็นสวนลอยฟ้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยขึ้น ณ ลานเชื่อมต่อบีทีเอส สยามสแควร์วัน กรุงเทพฯ
รองศาสตราจารย์ นาวาอากาศเอก นายแพทย์เพิ่มยศ โกศลพันธุ์ รองอธิการบดี จุฬาฯบอกเล่าถึงที่มาที่ไปของโครงการสยามกรีนสกาย ให้ฟังว่า สยามกรีนสกาย เกิดขึ้นจากความตั้งใจและต้องการให้เป็นโครงการต้นแบบเพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสถาบันต่างๆ ได้มาเรียนรู้และศึกษา เพื่อนำไปประยุกต์ปรับใช้ให้เหมาะกับอาคารและสถานที่ของตนเอง โดยนักวิชาการ อาจารย์ และบุคลากร มีความยินดีที่จะถ่ายทอดและแบ่งปันองค์ความรู้ดังกล่าวให้แก่ผู้ที่สนใจอย่างเต็มที่
สยามกรีนสกาย เกิดขึ้นจากความร่วมมือของภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ สำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร ภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรมคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ ที่ร่วมกันบริหารจัดการและก่อสร้างบนหลังคาของสยามสแควร์วัน ขนาด 2,000 ตารางเมตรภายใต้งบประมาณที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ด้วยต้นทุนเพียง 3,500 บาทต่อตารางเมตรเท่านั้น
ด้านอาจารย์กชกร วรอาคม ภูมิสถาปนิกประจำโครงการ อธิบายถึง พื้นที่ใช้สอยว่า สยามกรีนสกายได้แบ่งพื้นที่จัดแสดงเป็น 3 ส่วน ได้แก่ แปลงเกษตรก้าวหน้า ซึ่งจะเป็นแปลงพืชนานาพันธุ์และแปลงสวนสวยปลูกง่าย
พื้นที่ส่วนแรก: แปลงเกษตรก้าวหน้า จะเป็นแปลงที่มีขนาดใหญ่ที่สุด จัดแสดงนวัตกรรมการเพาะปลูกด้วยระบบแสงอาทิตย์ ห้องสาธิตและผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากขยะร้านค้า การเพาะปลูกพันธุ์ไม้ที่เหมาะสมกับพื้นที่ มีทั้งพันธุ์ไม้สวยงาม พืชสมุนไพร พืชผักสวนครัว ไปจนถึง ปลูกข้าวไร่
พื้นที่ส่วนที่สอง: แปลงพืชนานาพันธุ์ จัดแสดงพืชพันธุ์ไม้หลากหลายชนิดอาทิเช่น แปลงพืชนานาชาติ สวนสวยเมนูเด็ด ที่ผู้สนใจสามารถนำไปเป็นแนวทางในการเพาะปลูกได้เองที่บ้าน
พื้นที่ส่วนที่สาม: แปลงสวนสวยปลูกง่าย จัดแสดงโดยพืชพรรณที่ไม่ต้องการการดูแลรักษามาก
“ที่สำคัญคือหลังคาเขียวแห่งนี้จะเป็นแหล่งรองรับน้ำที่สำคัญของพื้นที่ ช่วยให้เกิดการชะลอการไหลของน้ำเมื่อเกิดฝนตก ขณะเดียวกันก็เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของพื้นที่ได้ดีขึ้น รวมทั้งยังช่วยลดอุณหภูมิความร้อนภายในอาคารลงได้ 3-4 องศาเซลเซียส และลดอุณหภูมิภายนอกในบริเวณพื้นที่สีเขียวได้มาถึง 7 องศาเซลเซียส นอกจากนี้ยังช่วยให้ประหยัดค่าไฟลงต่อไปได้ถึง 2,000 บาท ต่อการปลูก 1 ตารางเมตร”
อาจารย์กชกร บอกอีกว่า การจัดสรรพื้นที่สวนลอยฟ้าแห่งนี้ เน้นไปที่การใช้แนวคิดการจัดการตนเองอย่างครบวงจรและสร้างเครือข่ายสังคม โดยหวังจะให้เป็นแหล่งพบปะคนที่รักเกษตร สิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ และยังสอดแทรกเรื่องการใช้พลังงานสะอาดด้วยแสงอาทิตย์ การใช้น้ำระบบหมุนเวียน และการทำปุ๋ยอินทรีย์จากขยะอาหารสด โดยให้ร้านค้าในสยามแสควร์วันมีส่วนร่วมในการส่งต่อขยะจากเศษอาหารมาใช้ในการทำปุ๋ยให้สยามกรีนสกายอีกด้วย
ขณะที่นักแสดงหนุ่มอย่าง ท๊อป พิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากุล คนรุ่นใหม่หัวใจรักสิ่งแวดล้อมเจ้าของ Eco Shop บอกว่า จุดเริ่มต้นของการหันมาทำเรื่องสิ่งแวดล้อมเกิดจากความชอบส่วนตัวล้วนๆ คือชอบแล้วก็เริ่มต้นจากตัวเองก่อน หลังจากนั้นจึงสร้างกิจกรรมหรือจุดร่วมที่จะให้มีแหล่งเรียนรู้หรือแหล่งแลกเปลี่ยนเกิดขึ้น
“พอเราเริ่มทำจากตัวเอง สักพักก็มีความฝันอยากจะสร้างอยากจะทำเรื่องสิ่งแวดล้อมให้เกิดขึ้นในระดับชุมชน การทำเรื่องพวกนี้ไม่ได้เกิดจากความเป็นคนดี แต่ว่าเกิดจากความชอบ ผมไม่ได้คิดว่าทำแล้วโลกจะดีขึ้น จะน่าอยู่ขึ้น แต่ที่ทำเพราะคิดว่าสนุกแล้วก็ชอบที่จะทำ นี่คือจุดเริ่มต้นที่เกิดขึ้น”
ส่วนเสียงสะท้อนของเกษตรวัยซนอย่างน้องศรัณย์-ชวนันท์ เอกธัญสกุล ที่ควงคุณแม่ศรีสุภางค์ เอกธัญสกุลมาร่วมงาน “ทำนา บนหลังคา” บอกว่า ปกติจะชอบปลูกต้นไม้อยู่แล้ว ที่บ้านก็ปลูกมะนาว มะม่วง ผักสวนครัวต่างๆ บางทีก็ทำปุ๋ยใช้เอง ทดลองปลูกทดลองทำไปเรื่อยๆ แต่ยังไม่เคยปลูกข้าวทำนา วันนี้อยากเห็นของจริงก็เลยตามคุณแม่มาทำกิจกรรม มาเที่ยวห้างแล้วก็แวะมาปลูกข้าวไปด้วย
เมื่อถามว่า การมาร่วมกิจกรรมครั้งนี้ถูกคุณแม่บังคับมาหรือไม่ สองหนุ่มยิ้ม ก่อนจะเอ่ยด้วยน้ำเสียงหนักแน่น ว่า “ไม่ได้ถูกบังคับครับ ผมอยากมา เพราะอยากรู้เขาทำนากันอย่างไร”
ส่วนใครที่อยากจะเข้าชมหรือมาร่วมกิจกรรมกับสยามกรีนสกาย สามารถติดต่อได้ที่ฝ่ายกิจกรรมสถานที่ศูนย์เกษตรกรรมเมืองสยามกรีนสกาย อีเมล์ [email protected] เว็บไซต์ www.siamgreensky.com หรือเฟชบุ๊กชื่อ Siamgreensky
สยามกรีนสกายจะเปิดให้บริการเข้าเยี่ยมชมทุกวันพุธ และวันเสาร์ ตั้งแต่เวลา 10.00-18.00 น. โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แบ่งรอบการเยี่ยมชมเป็น 3 รอบ คือ 10.30-11.30 น. 14.30-15.30 น. และ 16.30-17.30 น. ทั้งนี้ในทุกวันเสาร์-อาทิตย์ที่ 3 ของทุกเดือน จะจัดเวิร์คช๊อปฟรี พร้อมเปิดตลาดสีเขียว สยามกรีนมาร์เก็ต สำหรับผู้สนใจในเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้จะเป็นการเวิร์คช๊อปในหัวข้อ “ปลูกผักเปลี่ยนชีวิต”
ใครว่าสังคมเมืองไร้สีเขียวจากธรรมชาติ แค่เพียงคุณคิดชีวิตก็เปลี่ยน
(เตรียมมาปลูกข้าวกันนะ)
(ใครว่าคนเมืองปลูกข้าวไม่เป็น)
(มากันเป็นคู่)
(ทำแบบนี้นะลูก)
(สำเร็จแล้วปลูกข้าวจนเต็มแปลง)