'For Friends in Nepal' เปิดประสบการณ์นักข่าวไทยลงพื้นที่ภัยพิบัติ
สมาคมนักข่าวฯ จัดกิจกรรม “For Friends in Nepal” รวบรวมน้ำใจช่วยเหลือเพื่อนร่วมวิชาชีพ เปิดเวทีราชดำเนินเสวนาบอกเล่าประสบการณ์นักข่าวลงพื้นที่ทำข่าวแผ่นดินไหว
เร็ว ๆ นี้ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดกิจกรรม 'For Friends in Nepal' ขึ้น สืบเนื่องจากเหตุแผ่นดินไหวอย่างรุนแรงถึง 2 ครั้งติดกัน เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา และยังเกิดแรงสั่นสะเทือนหลังแผ่นดินไหว หรืออาฟเตอร์ช็อกตามมาอีกหลายระลอก สร้างความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินประชาชนจำนวนมาก ตลอดจนแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมที่ประเมินค่าไม่ได้ และยังคงส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนมาจนปัจจุบัน
แม้ที่ผ่านมารัฐบาลไทย ตลอดจนประชาชน และภาคเอกชนต่าง ๆ จะได้พร้อมใจกันแสดงน้ำใจส่งความช่วยเหลือไปยังประเทศเนปาลเป็นจำนวนมาก แต่ทางสมาคมนักข่าวฯ เองได้เล็งเห็นว่า ในความสูญเสียดังกล่าวมีเพื่อนสื่อมวลชนจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบด้วย จึงได้จัดงานในครั้งนี้ขึ้นเพื่อเป็นการเติมกำลังใจให้แก่เพื่อนร่วมวิชาชีพ
ภายในงานได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ ขคนาถ อธิการี เอกอัครราชทูตเนปาลประจำประเทศไทย มากล่าวสรุปถึงสถานการณ์ปัจจุบัน และบทบาทของสื่อมวลชนในการรายงานข่าวภัยพิบัติ
ท่านทูต กล่าวว่า เนปาลเป็นประเทศที่สวยงาม ตั้งอยู่ระหว่างประเทศใหญ่ 2 ประเทศ คือ จีน กับอินเดีย มีประชากรประมาณเพียงครึ่งหนึ่งของประเทศไทย (ราว 30 ล้านคน) เศรษฐกิจของเนปาลมีขนาดไม่ใหญ่มาก GDP ประมาณ 69,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รายได้ประชากรต่อหัวอยู่ที่ 735 ดอลลาร์สหรัฐฯ แม้ไม่มีทางออกสู่ทะเล แต่เนปาลเป็นประเทศที่เป็นสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า
ในส่วนของแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นเมื่อ 12 เมษายนที่ผ่านมา ได้สร้างความเสียหายแก่ชีวิต และทรัพย์สินของประชากรเป็นจำนวนมาก รวมถึงแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมของโลก ตามภาพข่าวที่ได้ปรากฏไปแล้วตามสื่อต่าง ๆ ก่อนหน้านี้ โดยล่าสุด จำนวนผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 8,636 คน ในจำนวนนี้มีชาวต่างชาติรวมด้วย 70 คน ปัจจุบันประชาชนหลายล้านคนยังปราศจากที่อยู่อาศัย
ฯพณฯ ขคนาถ กล่าวต่อว่า หลังเกิดหายนะขึ้น ประชาคมนานาชาติต่างส่งความช่วยเหลือมายังเนปาล ซึ่งประเทศไทยเองก็เป็นประเทศแรก ๆ ที่เดินทางเข้าไปทั้งทีมแพทย์ ทีมกู้ภัย รวมทั้งสิ่งของ เงินบริจาคจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ซึ่งสร้างความซาบซึ้งให้แก่ประชาชน และรัฐบาลเนปาลเป็นอย่างยิ่ง
ขอใช้โอกาสนี้ในการกล่าวขอบคุณประเทศไทยมา ณ ที่นี้อีกครั้ง ส่วนบทบาทของสื่อมวลชน ท่านทูต กล่าวว่า ถือว่าช่วยได้มากในการรายงานข่าว สถานการณ์ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นถึงความโหดร้ายของหายนะในครั้งนี้ออกสู่สายตาประชาคมโลก สร้างความรับรู้ ข้อเท็จจริง
นอกจากนี้ ยังได้รับเกียรติจากพระศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิลมาน ธมฺมสากิโย) ภิกษุชาวเนปาล ผู้ช่วยเลขานุการสมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก มาเล่าประสบการณ์การไปเยือนเนปาลหลังเหตุแผ่นดินไหวเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย ซึ่งท่านอนิลได้เดินทางไปเนปาลตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน พบว่า บรรยากาศยังอยู่ในความโศกเศร้า ส่วนความเสียหายที่เกิดขึ้นกับบ้านเรือนที่เห็นตามภาพข่าวนั้นเนื่องจากวิทยาการการก่อสร้างบ้านคนชาวเนปาลยังเป็นการสร้างด้วยอิฐ หิน และไม้ ไม่ได้มีการลงเสา หรือหากมีการลงเสา ก็ไม่ได้มาตรฐานตามหลักวิศวกรรมนัก
สิ่งที่หนึ่งที่ท่านอนิลได้พบ ระหว่างการลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยนั้น คือรัฐบาลเนปาลยังขาดการบริหารจัดการที่ดี แม้จะมีการเข้าไปอำนวยความสะดวกเคลียร์พื้นแก่ทีมช่วยเหลือจากต่างประเทศ แต่ก็ไม่ได้มีการดูแลด้านสุขภาพอนามัยแก่บุคลากรของตน อีกทั้งยังถูกตั้งคำถามเรื่องการโปร่งใสในการบริหารจัดการสิ่งของความช่วยเหลือที่ได้รับมาจากภายนอกด้วย
ท่านอนิล ยังกล่าวชื่นชมด้วยว่า ทีมช่วยเหลือของรัฐบาลไทยเป็นทีมแรก ๆ ที่เข้าไปถึงในพื้นที่จริง ๆ สำหรับทีม MERT มีการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพจนได้รับเสียงชื่นชมจาก WHO ให้ทีมจากชาติอื่น ๆ มาดูเป็นตัวอย่าง และเข้ามาสนับสนุนโดยมีทีมของไทยเป็นผู้นำ
ส่วนสื่อมวลชนถือว่ามีบทบาทอย่างมากในการเผยแพร่ข้อมูลออกไป สร้างความตื่นตัว โดยเฉพาะที่เกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในสังคมไทย ที่ได้ส่งน้ำใจไปช่วยเหลือเนปาลอย่างมากมายในครั้งนี้ ซึ่งในฐานะที่ท่านเองก็เป็นชาวเนปาลก็รู้สึกขอบคุณอย่างมาก
นอกจากนี้ อาร์พิต อะกราวาล ผู้อำนวยการของวิชาลกรุ๊ป ซึ่งได้ส่งข้อความและรูปภาพมาร่วมในงานนี้ด้วย ได้เปิดเผยว่า สื่อไทยมีความกระตือรือร้นในการรายงานข่าว และให้ความช่วยเหลือเนปาล ซึ่งมีนักข่าวจากสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 มาสัมภาษณ์ตนเอง ในขณะที่กลุ่มบริษัทไปให้ความช่วยเหลือผู้คนในพื้นที่
สำหรับบทบาทของสื่อมวลชนโดยรวม เขาคิดว่าเป็นไปได้ทั้งในทางสร้างสรรค์ และในทางลบ สื่อมวลชนจำนวนมากดั้นด้นเข้าไปถึงพื้นที่ที่ประสบภัยและรายงานข่าวและช่วยเหลือคนนับล้าน อย่างไรก็ตาม มีสื่อมวลชนจากอินเดียบางส่วนนำตัวผู้บาดเจ็บมาถ่ายทำแทนที่จะให้ความช่วยเหลือหรือห้ามเลือด
นักข่าวอีกคนหนึ่งถามหญิงที่สูญเสียลูกชายเพียงคนเดียวว่า "รู้สึกอย่างไรบ้าง"
นายอาร์พิต กล่าวเพิ่มเติมว่า หากสื่อมวลชนสามารถเดินทางไปถึงพื้นที่ประสบภัยใด ๆ ที่ความช่วยเหลือจากที่อื่นยังเข้าไปไม่ถึง ความช่วยเหลือที่ทำได้ ไม่ว่าจะเล็กน้อยเพียงใด เช่น การแบ่งปันอุปกรณ์ทำแผลหรืออาหาร ก็มีความหมายมากมายทั้งสิ้น
ทั้งนี้ กิจกรรม 'For Friends in Nepal' ได้รับเงินสมทบจากสื่อมวลชนไทยกลุ่มต่าง ๆ รวมทั้งสิ้น 169,590 บาท โดยทางสมาคมฯ จะดำเนินการส่งมอบเงินจำนวนนี้ให้แก่ Federation of Nepali Journalists (FNJ) เพื่อนำไปช่วยเหลือเพื่อนสื่อมวลชนชาวเนปาลต่อไป
พร้อมกันนี้ ในวันเดียวกัน ยังได้มีการจัดเวทีราชดำเนินเสวนาขึ้น ภายใต้ หัวข้อ “เสียงจากนักข่าว : เล่าประสบการณ์การลงพื้นที่รายงานข่าวแผ่นดินไหวในเนปาล” เพื่อสะท้อนเรื่องราวการปฏิบัติงานในพื้นที่ และนำเสนอแนวทางที่จะช่วยเหลือประเทศเนปาลต่อไปในระยะฟื้นฟู โดยได้รับเกียรติจาก คุณธรรญฐ์ฌนก ศรีธเนศชัย จากเนชั่นทีวี คุณเสกสม แจ้งจิต จากเอ็นบีที คุณสุพัฒนา บุญธรรม สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น คุณจอมพล ดาวสุโข ไทยรัฐทีวี เข้าร่วม และมีคุณปราเมศ เหล็กเพชร์ เป็นผู้ดำเนินการเสวนา
โดย ผู้สื่อข่าวจากสำนักต่าง ๆ ที่ได้ลงพื้นที่ทำข่าวแผ่นดินไหวเนปาลในครั้งนี้ส่วนมากก็ได้รับมอบหมายจากต้นสังกัดในเวลาไม่นานหลังเกิดเหตุการณ์จึงทำให้มีระยะเวลาเตรียมตัวค่อนข้างจำกัด สิ่งที่ต้องเตรียมตัวล่วงหน้าที่สำคัญก็คือข้อมูลเบื้องต้นของพื้นที่ ผู้ประสานงาน และเตรียมร่างกายให้พร้อม การไปทำข่าวแผ่นดินไหวครั้งนี้ก็ต้องมีการเตรียมในเรื่องของอาหารแห้งไปด้วย เพราะไม่ทราบว่าข้างหน้าจะเป็นอย่างไร และอีกอย่างหนึ่งที่ต้นสังกัดต้องพิจารณาก็คือ การทำประกันการเดินทางให้แก่บุคคลากรของตนก็ถือเป็นเรื่องสำคัญ
แม้จะมีอุปสรรคในเรื่องของการเดินทางบ้าง เช่นในบางเที่ยวบินที่ไม่สามารถลงจอดได้ ซึ่งเป็นเที่ยวบินที่คุณธรรญฐ์ฌนก และคุณเสกสม เดินทางไปพร้อมกับทีมกู้ภัย 70 ชีวิตจากญี่ปุ่น ที่ต้องบินกลับมาเติมน้ำมันถึง 2 รอบ แต่ในที่สุดแล้ว นักข่าวทั้งหมดก็เดินทางไปถึงเนปาลอย่างปลอดภัย ซึ่งเมื่อไปถึงพื้นที่แล้ว ก็ได้ประสานบุคคลที่ติดต่อไว้ รวมทั้งประสานข้อมูลจากสถานเอกอัครราชทูตไทย ในกรุงกาฎมาณฑุ ซึ่งตั้งเป็นศูนย์ประสานงานให้ความช่วยเหลือของกลุ่มที่มาจากประเทศไทย โดยเฉพาะทีมที่ทางกองทัพส่งมา
ในการมาทำข่าวครั้งนี้ ผู้สื่อข่าวสำนักต่าง ๆ ในรวมตัวกันตั้งกันกลุ่มไลน์เพื่อใช้เป็นช่องทางในการติดต่อสื่อสารกันเองรวมถึงเป็นช่องทางในการประสานข้อมูลกับทีมแพทย์ของทหาร ซึ่งถือเป็นศูนย์รวมการบูรณาการข้อมูลที่ประโยชน์อย่างยิ่งในการทำงาน
ขณะที่ 'สถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา' สถานีโทรทัศน์พีพีทีวี ซึ่งเป็นนักข่าวไทยกลุ่มแรกที่เดินทางเข้าไปทำข่าวแผ่นดินไหวในเนปาล แม้จะติดภารกิจไม่สามารถมาร่วมเวทีเสวนาได้ แต่ได้ฝากมาว่า การที่คนไทยเราจะสามารถช่วยเหลือเนปาลได้หลังจากนี้ ก็คือการไปเที่ยวเนปาล แม้สถานที่สำคัญมรดกโลกจะเสียหายไปหมดแล้ว แต่เนปาลยังเป็นประเทศที่มีความสวยงามของทัศนียภาพมากมายรอให้ไปค้นหา การเกษตร และวิถีชีวิตที่เรียบง่าย ประเพณี วัฒนธรรมที่งดงาม ก็ยังเป็นเสน่ห์ของเนปาลที่จะเป็นจุดแข็งด้านการท่องเที่ยวได้เช่นกัน .
ภาพประกอบ:เเผ่นดินไหวเนปาล-เว็บไซต์ผู้จัดการ