เตือนอย่าเชื่อโซเชียล มั่วจับคู่ผลไม้ก่อโรค
'สถาบันโภชนาการ' ยันกินผลไม้ให้ผลดีต่อร่างกาย เตือนโซเชียลมั่วจับคู่ผลไม้ก่อโรค
เมื่อวันที่ 25 พ.ค. นายวิสิฐ จะวะสิต ผอ.สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงการเผยแพร่ข้อมูลทางสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ว่า การรับประทานผลไม้บางอย่างคู่กันจะก่อโรคได้ เช่น การกินกีวี่ กับแอปเปิ้ลคู่กัน จะทำให้เกิดโรคหัวใจ หรือ การกินมะม่วงดิบ คู่กับกล้วย จะทำให้เกิดโรคตับแข็ง ว่า เรื่องนี้ไม่เป็นความจริง และไม่เคยมีการศึกษาใด ๆ ที่พบว่าการกินผลไม้จะเกิดโทษการทานผลไม้อาจมีข้อควรระวังแค่เฉพาะผู้ป่วยโรคเบาหวาน ที่ต้องระวังเรื่องการทานน้ำตาลเล็กน้อยเท่านั้น แต่โดยรวมผลไม้ถือว่ามีประโยชน์มาก เพราะในผลไม้มีทั้งน้ำตาลดี วิตามิน แร่ธาตุ โดยเฉพาะใยอาหาร ซึ่งพบว่ามีสูงกว่าในผักด้วยซ้ำ และยังมีสารต้านอนุมูลอิสระที่เป็นปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดมะเร็ง ปัจจุบันปริมาณการรับประทานผักผลไม้ที่เหมาะสมอยู่ที่ 400 กรัมต่อวัน แต่ตอนนี้คนไทยยังรับประทานเพียงแค่ 100 กรัมเท่านั้น
นายวิสิฐ กล่าวว่า ทั้งนี้การทานผลไม้ถือเป็นสิ่งที่จะช่วยป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรังได้เป็นอย่างดี เช่น โพแทสเซียม จะมีอยู่ในผลไม้สูง ช่วยลดความดันโลหิต และป้องกันการเกิดโรคความดันโลหิตสูงได้เป็นอย่างดี โดยปริมาณที่ควรได้รับต่อวันอยู่ที่ 3,500-4,000 มิลลิกรัม แต่วันนี้คนไทยยังบริโภคโพแทสเซียมไม่เพียงพอ รับประทานอยู่ที่ 1,000-2,000 มิลลิกรัมต่อวันเท่านั้น ส่วนผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ต้องระวังเรื่องน้ำตาล ก็ยังมีข้อถกเถียงว่า การได้รับน้ำตาลจากผลไม้ ถึงอย่างไรก็ดีกว่าการได้รับจากน้ำตาลจากเครื่องดื่ม หรืออาหารอยู่ดี
“ตามหลักโภชนาการแนะนำให้รับประทานผลไม้อย่างหลากหลาย ซึ่งเป็นข้อดี ไม่เคยมีการศึกษาหรือผลวิจัยใด ๆ ที่ห้ามการรับประทานผลไม้บางชนิดพร้อมกัน อาจจะมีบ้างที่ระบบการย่อยในบางคนจะไม่รับผลไม้บางประเภท แล้วทำให้เกิดการย่อยยาก เช่น บางคนทานมะม่วงแล้วท้องอืด เพราะไม่สามารถย่อยแป้งได้ หรือ บางคนทานแอปเปิ้ลแล้วเกิดแก๊สในกระเพาะอาหารบ้าง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจะเป็นเฉพาะบางคนเท่านั้น และไม่ได้ถือว่าเป็นโทษร้ายแรงแต่อย่างใด ส่วนมากสารโปรไบโอติกที่อยู่ในผลไม้ จะช่วยระบบย่อยได้ดีมากกว่าเกิดโทษ ซึ่งในผลไม้ชนิดเดียวกันในช่วงการสุกที่ไม่เท่ากันก็ยังมีประโยชน์ที่แตกต่างกันด้วย”ผอ.สถาบันโภชนาการ กล่าว“
ขอบคุณข่าวจาก