งบช่วยภัยแล้งเกษตรกร 3 พันล.เบิกแค่ 334 ล. “บิ๊กตู่”สั่ง “หม่อมอุ๋ย” เคลียร์!
โชว์ความคืบหน้าล่าสุดงบช่วยภัยแล้งเกษตรกร 3 พันล้าน พบเบิกจ่ายไปแล้วแค่ 334 ล้าน ทั้งที คกก.จังหวัดไฟเขียวไปกว่า 6 พันโครงการ 2.9 พันล้าน ก่อนที่ “บิ๊กตู่” สั่ง “หม่อยอุ๋ย” เคลียร์ทางเร่งรัดการเบิกจ่ายโดยเร็ว
ในข้อสั่งการของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ช่วงกลางเดือนพฤษภาคม 2558 ที่ผ่านมานั้น
มีอยู่ตอนหนึ่งระบุให้ “หม่อมอุ๋ย” ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี “กุนซือเศรษฐกิจ” ลงไปเร่งรัดการดำเนินโครงการโครงการสร้างรายได้และพัฒนาการเกษตรแก่ชุมชุนเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง ตำบลละ 1 ล้านบาท
โดยให้กำกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามการดำเนินโครงการและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณให้สอดคล้องตามวัตถุประสงค์ของโครงการ
(อ่านประกอบ : “บิ๊กตู่”สั่งยกเครื่อง“โชห่วย"เข้มแข็ง! หลังสังคมปูด“บิ๊กเอกชน”ผูกขาด)
ขณะเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ เคยออกมาระบุเองว่า สิ่งจำเป็นหลักคือต้องดูแลพี่น้องเกษตรกร แต่ให้ทั่วถึงและทุกคนพอใจคงยาก เพราะใช้เงินจำนวนสูงมาก และบ้านเรามีหลายส่วนด้วยกัน
ซึ่งโครงการนี้เป็นสิ่งที่ตอกย้ำคำพูดของ “บิ๊กตู่” ในเรื่องใช้เงินจำนวน “สูงมาก” ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากใช้งบประมาณไปกว่า 3 พันล้านบาท !
ทำไมต้องใช้เยอะขนาดนั้น และมีความจำเป็นในส่วนไหนบ้าง รวมถึงปัจจุบันคืบหน้าถึงไหนแล้ว ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org มีคำตอบ ดังนี้
คณะรัฐมนตรีมีมติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินโครงการสร้างรายได้และพัฒนาการเกษตรแก่ชุมชนเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ ในพื้นที่เกษตรที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบแล้ง ปี 2557/2558 จำนวน 3,051 ตำบล ในพื้นที่ 541 อำเภอ 58 จังหวัด จากบัญชีรายชื่อพื้นที่คาดการณ์ความแห้งแล้งในพื้นที่เกษตร ปี 2558 ตามแผนเตรียมการรับสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตร ประจำปีงบประมาณ 2558 ที่ผ่านความเห็นชอบจกกระทรวงเกษตรฯ โดยกรมพัฒนาที่ดินเป็นผู้ดำเนินการกำหนดพื้นที่เกษตรที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบแล้งตามหลักวิชาการวิเคราะห์ปัจจัยสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ
สาระสำคัญของโครงการคือ ช่วยเหลือเกษตรกรและชุมชนเกษตรในพื้นที่เกษตรกรแล้งซ้ำซาก จำนวน 3,051 ตำบล ให้มีรายได้ในช่วงฤดูแล้ง และสร้างโอกาสให้ชุมชนเกษตรสามารถพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตร และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของชุมชนเกษตร โดยชุมชนเกษตรจะเป็นผู้กำหนดกิจกรรมหรือโครงการจากความต้องการและเป็นผู้บริหารจัดการให้เกิดความยั่งยืน
ทั้งนี้โครงการดังกล่าวจะต้องได้รับความเห็นชอบจากชุมชนเกษตร และผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมซึ่งจัดโดยศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล (ศบกต.) โดยชุมชนเกษตรจะได้รับงบประมาณสนับสนุนเป็นเงินอุดหนุนทั่วไป ตำบลละไม่เกิน 1 พันล้านบาท โครงการมีระยะเวลาดำเนินงานตั้งแต่ ก.พ.-มิ.ย. 2558
โครงการที่เสนอโดยชุมชนดังกล่าวต้องยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง และมีลักษณะกิจกรรมสำคัญ เช่น การจัดการแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรของชุมชน เป็นต้น และต้องมีสัดส่วนการจ้างแรงงานไม่น้อยกว่า ร้อยละ 50 ของวงเงินที่ได้รับการสนับสนุน ยกเว้นกรณีมีเหตุผลสมควร ต้องมีสัดส่วนค่าจ้างแรงงานไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 และต้องผ่านความเห็นชอบจากผู้แทนในพื้นที่ของกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงเกษตรฯ
ผลการดำเนินงานดังกล่าว ช่วงเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา พบว่า ประชาสัมพันธ์ให้ชุมชน และเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องในพื้นที่แล้วทั้งหมด
รวมถึงมีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารโครงการสร้างรายได้และพัฒนาการเกษตรแก่ชุมชนเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง ระดับกระทรวง 1 คณะ ระดับจังหวัด 58 คณะ ระดับอำเภอ 541 คณะ เพื่อพิจารณากลั่นกรองความเหมาะสมของโครงการและงบประมาณ อนุมัติแผนปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ ให้คำแนะนำและติดตามการดำเนินโครงการ เป็นต้น
ในส่วนของงบประมาณนั้น คณะกรรมการฯระดับจังหวัด อนุมัติโครงการของชุมชนเกษตรแล้ว 6,458 โครงการ เป็นเงิน 2,972 ล้านบาท
คณะกรรมการฯระดับกระทรวง ให้ความเห็นชอบโครงการของชุมชนแล้ว 4,847 โครงการ เป็นเงิน 2,231 ล้านบาท
สำนักงบประมาณได้จัดสรรงบประมาณให้กรมส่งเสริมการเกษตร ภายหลังการตรวจสอบความถูกต้องสมบูรณ์ของเอกสารร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตรแล้ว 705 โครงการ วงเงิน 334 ล้านบาท
กรมส่งเสริมการเกษตรได้โอนจัดสรรงบประมาณได้รับจากสำนักงบประมาณให้สำนักงานเกษตรจังหวัดแล้ว 334 ล้านบาท
จำแนกลักษณะกิจกรรมได้ดังนี้
1.กิจกรรมด้านการจัดการแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร ร้อยละ 51
2.กิจกรรมด้านการผลิตทางการเกษตรและการแปรรูปผลผลิตเพื่อการเพิ่มรายได้ ร้อยละ 7
3.กิจกรรมด้านการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ร้อยละ 36
4.กิจกรรมด้านการจัดการเพื่อลดความศูนย์เสียผลผลิตเกษตร ร้อยละ 6
ทั้งนี้ประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ คือ มีเกษตรกรที่ผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากคณะกรรมการฯระดับกระทรวง 4,847 โครงการ รวมทั้งสิ้น 1,815,138 ครัวเรือน มีการใช้แรงงาน 3,437,213 แรงงาน
ด้านค่าใช้จ่ายและแหล่งที่มานั้น กระทรวงเกษตรฯ ได้รับพิจารณาจัดสรรงบประมาณ งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น งบเงินอุดหนุนลักษณะเงินอุดหนุนทั่วไป เป็นค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนกิจกรรมของชุมชน ในพื้นที่เป้าหมาย 58 จังหวัด 3,051 ตำบล
รวมเป็นเงิน 3,051 ล้านบาท ประมาณการมีเงินคงเหลือรอการพิจารณาอนุมัติ จำนวนทั้งสิ้น 78 ล้านบาท ซึ่งเพิ่งอนุมัติไปเมื่อ เม.ย. ที่ผ่านมา
ทั้งหมดคือการแก้ปัญหา “ภัยแล้ง” ของเกษตรกร ตามมาตรการรัฐบาล
ส่วนการส่ง “หม่อมอุ๋ย” ลงไปเคลียร์ทางเร่งรัดการดำเนินงาน จะสำเร็จเป็นรูปธรรมหรือไม่ ก็ต้องจับตากันต่อไป
อ่านฉบับเต็ม : http://www.cabinet.soc.go.th/doc_image/2558/993132384.pdf