ตามดูพยาบาลสามพันอัตรา (จบ) ต้องสู้เพื่อพิสูจน์ตัวเอง
เรื่องราวของหนุ่มสาวพยาบาลในโครงการผลิตพยาบาลวิชาชีพเพิ่มเพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนใต้ หรือที่รู้จักกันในนามโครงการ “พยาบาลสามพันอัตรา” ยังคงเป็นประเด็นน่าสนใจ เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัวผู้คน และปัญหาที่เกิดขึ้นกับพวกเขาและเธอย่อมหนีไม่พ้นที่ชุมชนและคนในวิชาชีพเดียวกันจะต้องร่วมกันแก้
โดยเฉพาะการเจอกระแสต่อต้านจนกลายเป็นการไม่ยอมรับในความรู้ความสามารถ ทั้งๆ ที่พยาบาลในโครงการล้วนเป็นลูกหลานของคนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นี่เอง
อย่างไรก็ดี จากการลงพื้นที่สำรวจในโรงพยาบาลหลายๆ แห่ง ก็พบความพยายามปรับตัวของพยาบาลในโครงการฯ และความเข้าใจที่มีมากขึ้นของพยาบาลรุ่นพี่ ตลอดจนคนไข้ที่มาใช้บริการ
สถานีอนามัยเดิม ซึ่งปัจจุบันยกสถานะเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) คือสถานพยาบาลอีกประเภทหนึ่งที่เหล่าพยาบาลจากโครงการพยาบาลสามพันอัตราลงไปทำงานในทุกชุมชน ได้ให้บริการและสัมผัสชาวบ้านอย่างใกล้ชิดในฐานะลูกหลานของพื้นที่
อัมรัน ยานยา เด็กหนุ่มจาก ต.สะนอ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี ได้ลงพื้นที่ทำงานที่ รพ.สต.ประจัน อ.ยะรัง ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านของเขาไม่ถึงสิบกิโลเมตร เขาเป็นพยาบาลชายที่ รอปีอะ ยี่งอ หัวหน้า รพ.สต.ประจัน ต้องการมานาน
อัมรันจบจากวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีสุราษฎร์ธานี (วพบ.สุราษฎร์ธานี) เขาเลือกสอบเข้าโครงการนี้ในขณะที่เรียนอยู่ชั้นปีที่ 1 สาขาสาธารณสุขชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ด้วยเห็นว่าเป็นโอกาสดีที่จะมีอาชีพการงานมั่นคง จึงยอมเสียเวลา 1 ปีเพื่อได้เรียนพยาบาลสมใจ
“มีเพื่อนเรียนในโครงการที่ วพบ.สุราษฎร์ธานีร่วม 200 คน เป็นมุสลิม 80 เปอร์เซ็นต์ แยกห้องเรียนห้องละ 100 คน มีผู้ชาย 30 คน เราเรียนหลักสูตรเหมือนพยาบาลปกติ ตอนปี 2 ลงชุมชน ชาวบ้านจะถามเรื่องราวทางชายแดนใต้ เขาไม่ได้คิดอะไรกับเรา เพียงแต่ไม่ค่อยเคยเห็นมุสลิม เมื่อลงพื้นที่บ่อยขึ้นก็เข้าใจกันมากขึ้น ตอนปี 3 เรียนหนักที่สุด ตอนฝึกงานเลือกมาลงที่นี่ พี่ๆ ต้อนรับและแนะนำดี เมื่อเรียนจบจึงเลือกลงที่นี่อีกเพราะใกล้บ้านด้วย”
ส่วนกระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่มีต่อพยาบาลในโครงการฯ อัมรัน บอกว่า เสียใจที่มีข่าวออกไปเช่นนั้น ซึ่งอาจมีความจริงเพียงเปอร์เซ็นต์น้อยนิด แต่ส่งผลกับพยาบาลทุกคนในโครงการฯ เขาจึงพยายามคิดในทางบวกและทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด
“เรื่องที่บอกกันปากต่อปากทำให้เกิดกระแสต่อต้านพวกเราในบางที่บางแห่งกับเพื่อนๆ บางคน เสียใจแทนเพื่อนที่มีข่าวแบบนั้น คนทำงานใหม่ทุกคนก็อาจมีข้อผิดพลาดกันบ้าง แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกในการทำงาน เพราะเราทำมาตั้งแต่เรียน และพยายามนำประสบการณ์มาปรับใช้ในพื้นที่ กระแสที่มีอาจทำให้บางคนเสียกำลังใจ หรือเกิดความเกร็งในการทำงาน จึงอยากให้เพื่อนในโครงการฯทุกคนมีกำลังใจที่ดีต่อตัวเอง เอาประสบการณ์มาปรับใช้ และทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด”
ความจริงอีกประการหนึ่งจากอัมรันก็คือ ตั้งแต่เดือน เม.ย.ที่เริ่มทำงาน เขายังไม่ได้รับเงินเดือนแม้แต่บาทเดียว ทั้งที่เขาสอบผ่านใบอนุญาตประกอบวิชาชีพจากสภาพยาบาลตั้งแต่รอบแรกแล้ว แต่เขาก็ยังทำงานอย่างเต็มที่ กระทั่งหัวหน้างานอย่าง รอปีอะ ยี่งอ ก็ซึ้งในน้ำใจ
“ที่นี่เราอยู่กันแบบพี่น้อง ดูแลกันและกัน เขาทำงานดี มีน้ำใจ ทำได้หมดทั้งทำแผล ทำคลอด เป็นคนขยัน สนใจใฝ่รู้ เรื่องแบบนี้อยู่ที่จิตสำนึกของแต่ละคนมากกว่าว่าจะมีใจให้กับอาชีพมากแค่ไหน เขาสอบผ่านใบประกอบวิชาชีพรอบแรกก็คือความตั้งใจในอาชีพนี้ ใน อ.ยะรังทุกวันศุกร์ ทางโรงพยาบาลยะรังจะให้พยาบาลในโครงการฯไปฝึกทบทวนในแต่ละแผนกเพิ่มเพื่อให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งอัมรันก็ให้ความสนใจเป็นอย่างดี” เป็นคำรับประกันจากรอปีอะ
เธอบอกอีกว่า แม้สถานีอนามัยจะอยู่ในชุมชน แต่การตัดสินใจต่อชีวิตคนไข้ทำให้มีความสำคัญเหมือนเป็นหมอใหญ่ จากประสบการณ์ทำงานที่ผ่านมาพบว่าการลงพื้นที่สำคัญมาก การทำงานของพวกเธอคือ “เตียงผู้ป่วยที่บ้านเป็นเตียงของพยาบาล” ปัจจุบันเจ้าหน้าที่ของ รพ.สต.ประจันเพียงพอกับจำนวนประชากร 4 พันกว่าคนในตำบล จึงไม่มีปัญหาในการทำงาน และจะลงพื้นที่กันทุกวันพุธของทุกสัปดาห์
“การออกเยี่ยมทำให้ผู้ป่วยรู้สึกดี ได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ดีขึ้น รวมทั้งสุขภาพจิตก็ดีขึ้น รพ.สต.ประจันจึงเป็นต้นแบบสุขจิตของ จ.ปัตตานี เรื่องของสุขภาพจิตสำคัญที่สุด โดยเฉพาะในพื้นที่แบบนี้ หากเจ้าหน้าที่มีพื้นฐานศาสนาจะสามารถแนะนำผู้ป่วยได้มากขึ้น สถานการณ์ปัจจุบันต้องนำศาสนามาใช้เป็นอันดับแรก ขณะที่ตัวเราเองก็ต้องใช้ชีวิตและอยู่ให้เป็น ไม่ประมาท แต่ก็ต้องคิดอยู่เสมอว่าความตายเป็นสิ่งเดียวที่เราหนีไม่ได้ ฉะนั้นถ้าเรามีแต่ให้ก็จะมีความสุข หนึ่งหยดน้ำใจของผู้ให้คือล้านกำลังใจของผู้รับ”
นอกจากโรงพยาบาลเล็กๆ อย่างโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลแล้ว ในโรงพยาบาลใหญ่ๆ อย่างโรงพยาบาลประจำจังหวัด เช่น โรงพยาบาลปัตตานี ก็มีพยาบาลจากโครงการพยาบาลสามพันอัตราบรรจุเข้าไปทำงานกันหลายคน และหนึ่งในนั้นคือ นูรฮูดา พยาบาลสาวจากแผนกเนอสเซอรี่เด็ก (ดูแลเด็ก)
นูรฮูดา เป็นเด็กสาวจาก ต.บานา อ.เมือง จ.ปัตตานี เธอเรียนจบมัธยมศึกษาตอนปลายสายวิทยาศาสตร์ และสอบเข้าในโครงการฯ โดยถูกส่งไปเรียนไกลถึง วพบ.เชียงใหม่ ตั้งอยู่ที่ อ.แม่ริม ประสบการณ์จากการเรียนหนักในต่างถิ่นเป็นเรื่องราวในชีวิตที่เธอไม่เคยลืม
“เพื่อนที่ไปเรียนด้วยกันส่วนใหญ่อายุจะเยอะกว่าเรา แม้แต่คนทำงานแล้วก็ยังมี เพราะเขาขยายรับถึงอายุ 35 ปี ช่วงแรกเป็นการเรียนปรับพื้นฐาน คิดว่าคงทำไม่ได้ แต่เห็นคนอื่นทำได้เราก็ต้องทำได้ ถ้าใครเรียนอ่อนอาจารย์จะติวพิเศษให้ มีการลงพื้นที่ตอนปี 2 แรกๆ ก็กลัวชาวบ้านไม่ยอมรับเพราะเราคลุมฮิญาบ เขาให้ไปพักกับชาวบ้าน แต่เมื่อแนะนำตัวถามไถ่กันเขาก็เข้าใจและยินดีต้อนรับเพราะเป็นคนไทยเหมือนกัน เราก็ได้อธิบายความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ให้เขาได้ทราบ”
เมื่อเรียนจบต้องกลับมาทำงานในพื้นที่ เธอเลือกลงที่โรงพยาบาลปัตตานีซึ่งเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ด้วยเหตุผลคือ ได้เรียนรู้กรณีศึกษาผู้ป่วยได้หลากหลาย และเทคนิควิธีการรักษาที่ต้องมีความเท่าทันและพัฒนาโดยไม่เกี่ยงว่าต้องทำงานหนักในวอร์ดไอซียู (หน่วยอภิบาล ดูแลผู้ป่วยวิกฤติ)
“เลือกลงที่นี่แต่ไม่รู้ว่าเขาจะให้อยู่วอร์ดไหน คือให้อยู่วอร์ดไหนก็วอร์ดนั้นเลย เพราะเมื่อก่อนต้องเรียนรู้ทุกวอร์ดแล้วค่อยมาเลือกลง แต่โครงการนี้มีคนเยอะ จึงได้ไปอยู่ไอซียู ซึ่งเป็นวอร์ดที่พี่ๆ แนะนำว่าพวกพี่ๆ ก็เคยนับหนึ่งจากที่นี่มาเหมือนกัน ช่วง 6 เดือนที่ประเมินงาน หากไม่รู้สิ่งไหนให้ถาม เขาฝึกให้ตัวต่อตัว เพราะห้องไอซียูต้องใช้อุปกรณ์และเครื่องมือช่วยชีวิต ต้องทดสอบทั้งก่อนและหลังทั้งทฤษฎีและปฏิบัติจริง เวลามีคนไข้มาจริงจึงจะสามารถใช้ได้ทำท่วงที”
อย่างไรก็ตาม นูรฮูดา ก็ทำงานอยู่ที่วอร์ดไอซียูได้เพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น
“ทำอยู่วอร์ดนี้ได้ 4 เดือนก็ต้องย้าย เพราะสุขภาพไม่ดี ถูกรถชนที่หลังและล้มฟาดโต๊ะก่อนมาทำงาน สุขภาพไม่อำนวยกับการทำงานในห้องไอซียูซึ่งหนักเพราะต้องทำความสะอาดคนไข้ และใช้เครื่องมือหนัก ทั้งๆ ที่ชอบวอร์ดนี้มาก สุดท้ายต้องย้ายไปวอร์ดเนอสเซอรี่เด็กเพื่อให้อาการทุเลาลง”
นูรฮูดาสอบผ่านใบประกอบวิชาชีพในรอบแรก แต่ยังไม่ได้รับเงินเดือนเหมือนอัมรัน โชคยังดีที่วอร์ดไอซียูของโรงพยาบาลปัตตานีให้ค่าขึ้นเวร และมีเงินให้ยืมของโรงพยาบาลเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนทางการเงินของพยาบาลระหว่างรอเงินเดือน
การทำงานในพื้นที่บ้านเกิดมีข้อดีคือ ทำให้ได้กำลังใจจากครอบครัวไม่น้อย นูรฮูดา บอกว่า แม่บอกกับเธอเสมอให้อดทน อย่าคิดในแง่ลบ ไม่เอาคำพูดของคนอื่นมาเป็นอคติในใจจนทำให้ไม่อยากบริการ ให้คิดแต่การให้ และต้องมีสักวันสิ่งที่ทำดีจะกลับมาหาเรา
“มีเพื่อนบางคนที่ลงวอร์ดอื่นถูกพี่ๆ ว่าเป็นคนของโครงการฯ จึงเป็นแบบนั้นแบบนี้ หรือคนไข้ที่เห็นว่าเป็นพยาบาลจากโครงการฯ เขาก็จะว่าทำงานชักช้า ทำไม่ดี พูดกันไปปากต่อปาก จึงอยากบอกว่าพวกเราเป็นลูกหลานที่ไปเรียนเพื่อกลับมารับใช้คนบ้านเรา ฉันพูดมลายู เป็นมุสลิม อยากดูแลและให้บริการเต็มความสามารถ เราเรียนหลักสูตรปกติเหมือนพยาบาลทั่วไป ไม่ได้ผ่านมาง่ายๆ เราทำได้ทุกอย่างเหมือนกัน หากไม่ผ่านการฝึกก็ไม่จบ ยังมีเพื่อนไม่จบอีกจำนวนหนึ่ง งานที่เราทำในปัจจุบันเป็นประสบการณ์ที่ต้องเรียนรู้เพิ่มตลอดเวลา และจะช่วยเสริมพี่ๆ พยาบาลที่มีอยู่เดิมให้ทำงานได้อย่างเต็มที่มากขึ้นด้วย”
จากที่ได้เรียนรู้ทฤษฎีและปฏิบัติจริงที่ห้องไอซียู โดยเฉพาะการดูแลผู้ป่วยวิกฤติ ทำให้เธออยากเรียนต่อด้านวิสัญญี (ดมยาสลบ) เพราะเมื่อเห็นผู้ป่วยหยุดหายใจ หากมีพยาบาลวิสัญญีอยู่ใกล้ๆ อาจสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยไว้ได้ทันเวลาก่อนที่หมอจะมาถึง
ความรู้สึกของพยาบาลจากโครงการนี้ น่าจะพอฉายภาพให้เห็นถึงความตั้งใจจริงของพวกเขาและเธอกับการทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ การให้โอกาสและกำลังใจถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ “พยาบาลหน้าใหม่” สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
อย่างน้อยๆ โครงการพยาบาลสามพันอัตราก็ทำให้จำนวนพยาบาลในดินแดนปลายสุดด้ามขวานเพียงพอต่อการให้บริการกับพี่น้องประชาชน และดูแลสุขอนามัยของคนในชุมชนได้ดีขึ้นกว่าเดิม
เพราะเมื่อสุขภาพดี ชีวิตก็ยังมีความหวัง...
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 โรงพยาบาลปัตตานี โรงพยาบาลประจำจังหวัดที่มีพยาบาลจากโครงการพยาบาลสามพันอัตราทำงานอยู่หลายคน
2 อัมรัน ยานยา
3 รอปีอะ ยี่งอ
4 นูรฮูดา
ขอบคุณ : ภาพโรงพยาบาลปัตตานีจากเว็บไซต์มุสลิมทูเดย์ www.muslimtoday.in.th