ย่างก้าว คสช.สู่ปีที่ 2 นปช.-กปปส.-ซีไอสงค์ มองรัฐประหาร ซ้ำรอย”เสียของ”?
ผ่านการครบรอบเหตุการณ์รัฐประหาร 22 พ.ค.2557 ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) มาได้ไม่กี่วัน พบว่า ถึงตอนนี้ ก็ยังมีสุ้มเสียงจากหลายภาคส่วนทั้งนักการเมือง-นักวิชาการ-นักธุรกิจ-นักเคลื่อนไหวการเมือง-สื่อมวลชน ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ การทำงานของคสช.ในช่วงที่ผ่านมาอย่างหลายกหลาย เพื่อประเมินว่า 1 ปี คสช.ทำงานสอบผ่านหรือไม่ผ่าน
ตอนนี้ก็ขยับเข้าสู่ทางเดินปีที่ 2 ของคสช.แล้ว โดยมีทีท่าว่า คสช.อาจจะได้อยู่ในอำนาจยาวเกินกว่าที่พลเอกประยุทธ์เคยประกาศโรดแมปไว้ก่อนหน้านี้ หลังมีแนวโน้มที่จะมีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะทำให้รัฐบาลและคสช.อาจอยู่นานขึ้นร่วมครึ่งปี ยังไม่นับรวมปัจจัยแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่อาจทำให้คสช.ยิ่งอยู่ยาวนานกว่านั้นขึ้นไปอีกก็ได้ เช่น หากสภาปฏิรูปแห่งชาติลงมติไม่ผ่านร่างรธน.ฉบับใหม่ อันนี้ก็ต้องดูกันไป
การทำงานของคสช.ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา และตอนนี้ที่เข้าสู่ปีที่ 2 คนในภาคการเมือง เขามีความเห็น ข้อวิพากษ์วิจารณ์ต่อคสช.อย่างไร “สำนักข่าวอิศรา” ได้พูดคุยถามความเห็นจากคนในสองขั้วการเมืองสำคัญทางการเมืองในช่วงก่อนเหตุการณ์ 22 พ.ค. 57 ที่จะมาสะท้อนมุมมองเรื่อง 1 ปีคสช.และก้าวย่างคสช.ต่อจากนี้
เริ่มจากฝ่ายนปช.-คนเสื้อแดง คือ “นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์” อดีตส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย –อดีตประธานนปช.17 จังหวัดภาคอีสาน หนึ่งในแกนนำนปช.สายนักกิจกรรมที่การแสดงความเห็นของเขาหลายครั้งแรงยิ่งกว่าพวกแกนนำเสื้อแดงสายฮาร์ดคอร์เสียอีก จนเคยถูกทหารเรียกไปปรับทัศนคติที่ค่ายทหารในจังหวัดขอนแก่นมาหลายรอบแล้ว นับแต่ 22 พ.ค. 57
“หมอเชิดชัย” บอกว่า ถ้าให้ประเมินการทำงานของคสช.ในรอบหนึ่งปี ลำดับแรกต้องบอกก่อนว่าวิธีการที่คสช.ทำคือ รัฐประหาร 22 พ.ค. 57 เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เพราะการแก้ปัญหาการเมืองด้วยการทำรัฐประหารยิ่งทำให้บ้านเมืองเสียหาย แต่เมื่อทำไปแล้ว โดยอ้างว่าประชาชนสองฝ่ายจะมาฆ่ากัน เพราะตอนนั้น กปปส.ชุมนุมอยู่ในกรุงเทพมหานคร ส่วน นปช.เสื้อแดงอยู่ที่ถนนอักษะ สร้างภาพขึ้นมาแบบนั้น หากไม่เข้ามาจะเกิดการฆ่ากันของคนในประเทศ คสช.เลยต้องเป็นคนกลางเข้ามา แต่มันผ่านไปแล้วก็แล้วไป
เมื่อคสช.ขอโอกาส ประชาชนก็ให้โอกาส ทั้งเสื้อแดง กปปส. ก็ให้โอกาสพลเอกประยุทธ์แก้ปัญหา ไม่มีคนออกมาต่อต้าน โดยอ้างว่าจะทำให้เกิดความปรองดองสมานฉันท์แล้วก็ใช้วิธีการแบบทหาร เช่น เรียกคนไปเข้าค่ายทหาร ไปปรับทัศนคติ แล้วก็มีการไปไล่ติดตามพวกแกนนำ ใช้วิธีการต่าง ๆ เพื่อกดดัน แต่อ้างว่าเรียกไปปรับทัศนคติ แต่ทุกคนก็ให้ความร่วมมือ ตรงนี้ไม่ใช่ความสำเร็จของคสช.แต่เพราะคนไทยทุกคนต้องการเห็นบ้านเมืองสงบ
“แกนนำนปช.ภาคอีสาน” ให้ความเห็นว่าหนึ่งปีที่ผ่านมา ดูแล้วเรื่องการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ คสช.ยังทำไม่ได้ ดูได้จากความขัดแย้งการเมืองแล้วนำไปสู่คดีความที่เป็นคดีการเมือง ความจริง คสช.ต้องแยกแยะให้ออกแล้วควรใช้อำนาจคสช. สั่งปล่อยหมดแต่ก็ไม่ได้ทำ แต่กลับจะไปดำเนินคดีโดยอ้างว่ามีความผิดต่าง ๆ มีการใช้สองมาตรฐานดำเนินการกับบางฝ่าย เรื่องปรองดองสมานฉันท์ คสช.จึงไม่ผ่าน
..ส่วนเรื่องร่างรธน. แทนที่จะร่างรัฐธรรมนูญให้ออกมาตามหลักประชาธิปไตยแต่กลับไปร่างรธน.จนมีเสียงคัดค้านทั่วทุกสารทิศ แม้แต่ศาลยุติธรรม ก็ไม่เห็นด้วย เป็นการร่างรธน.ที่ทำให้เกิดความแตกแยก จะมาบอกว่าคสช.ไม่มายุ่งก็คงไม่ได้ มีการปล่อยให้ร่างรัฐธรรมนูญกันเลยเถิด แต่ก็ยังไหวตัวทัน เพราะมีการทำประชามติและมีแนวโน้มที่กมธ.ยกร่างรธน.จะยอมปรับแก้ไขมาตราในส่วนที่เป็นปัญหา ตัวคสช.ต้องรู้ตัวว่ามาอยู่ไม่นานอย่ามาสืบทอดอำนาจผ่านกลไกต่าง ๆ เช่น สภาขับเคลื่อนปฏิรูป ฯ ที่ในร่างรธน.ฉบับแรกจะให้โควตาสนช.-สปช. มาเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนฯ จำนวนมาก ที่ก็คือการสืบทอดอำนาจ
“อดีตส.ส.พรรคเพื่อไทย” ให้ความเห็นเหมือนกับใครหลายคน ที่บอกตรงกันว่า จุดอ่อนมากที่สุดของคสช.และรัฐบาลคสช.ในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมาก็คือเรื่อง “การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ”ที่แก้ไม่ได้ โดยเขาบอกว่า คสช.คือสาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจแย่ แม้ดูแล้วจะตั้งใจแก้ปัญหาแต่มันไม่เป็นผล หลายนโยบายที่ออกมาด้านเศรษฐกิจไม่ได้ผล จะไปโทษว่าเป็นเพราะระบบเศรษฐกิจโลกเกี่ยวข้องก็ไม่ใช่ทั้งหมด แต่สาเหตุหนึ่งก็เพราะต่างชาติไม่เชื่อมั่นเพราะตอนนี้ประเทศไม่เป็นประชาธิปไตย ประเทศใหญ่ๆ ก็เลยไม่อยากติดต่อกับรัฐบาลคสช. ทำให้รัฐบาลขาดความเชื่อถือ ทั้งหมดเป็นผลพวงจากคสช.ทำรัฐประหาร เรื่องเศรษฐกิจ จึงถือว่าคสช.สอบตก ทั้งที่มีวิธีทำได้เช่นดึงคนเก่งมีฝีมือมาร่วมงานแต่กลับไม่ทำ
กระนั้นก็ใช่ว่า “อดีตส.ส.เพื่อไทย-แกนนำนปช.” ผู้นี้ จะเอาแต่วิจารณ์ว่าคสช.สอบไม่ผ่าน เพราะก็มีการให้คะแนนผ่านเช่นกัน ซึ่งเรื่องที่ "หมอเชิดชัย" บอกว่าให้คะแนนผ่านและต้องให้เครดิตก็คือ เรื่องการผลักดันให้ประเทศมีการดำเนินการในการดูแลป้องกันการรักษาพันธุ์สัตว์และพืชป่าที่หายากใกล้สูญพันธุ์ หรือที่เรียกว่า การทำเรื่องอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ที่เรียกว่า ไซเตส ก็เพิ่งมาทำอย่างจริงจังในยุคนี้ ก็ให้เครดิตคสช.และรัฐบาลในเรื่องนี้
“คสช. ก็มีเรื่องนี้เรื่องเดียวที่ผมเห็นว่าใช้ได้ เพราะมีการดำเนินการออกมาให้เห็น เช่นการเอาผิดกับผู้ค้างาช้างหรือพวกที่มีไว้ในครอบครอง ที่มีการประกาศให้มาขึ้นทะเบียนอะไรต่าง ๆ ทำให้ได้รู้ว่าประเทศไทยเรามีพันธุ์ช้างจำนวนมากขนาดนั้น”
สรุปว่าเรื่องการดูแลรักษาสงบเรียบร้อย ทาง คสช.ทำงานใช้ได้ แต่ที่สงบเพราะประชาชนร่วมมือด้วย อันนี้ให้คสช.ผ่าน เพราะประชาชนให้โอกาส แล้วคสช.ก็มีโรดแมปชัดเจน แต่เรื่องปรองดองสมานฉันท์ไม่ผ่าน ส่วนการร่างรธน.ที่เป็นประชาธิปไตยและการคืนอำนาจให้ประชาชนพบว่ายังก้ำกึ่ง ให้ 50-50 ส่วนเศรษฐกิจสอบตกไปเลย คนเดือดร้อนกันทุกหย่อมหญ้า
เมื่อถามว่าหากต้องมีการทำประชามติแล้วต้องขยับการเลือกตั้งออกไปร่วม 5-6 เดือน รับได้หรือไม่ “นพ.เชิดชัย”กล่าวว่า เรื่องคืนประชาธิปไตยให้ประชาชนของคสช.ผมดูแล้ว มันยัง 50-50 อยู่คือ ยอมมีการปรับแก้ไขร่างรธน.ฉบับแรกและยอมให้มีการทำประชามติ ถ้าไม่ปรับ เชื่อว่าร่างรธน.นี้จะไม่ผ่าน ถ้าต้องเลื่อนการเลือกตั้งออกไปร่วมครึ่งปีก็ไม่เป็นไร ถ้ากติกาเป็นประชาธิปไตย แต่คำครหาที่คสช.ก็ต้องเตรียมรับว่าที่ทำมาทั้งหมด ว่ารู้อยู่แล้วจะเกิดแบบนี้แล้วทำไมไปเขียนไว้รธน.ฉบับชั่วคราว ปี 57 ไปเลยให้มีการทำประชามติ เหมือนกับตัวเองวางไว้อยู่แล้วว่าจะให้เป็นแบบนี้ มันก็ต้องมีข้อครหา อันนี้มันคล้ายเผด็จการมาก
“อดีตส.ส.เพื่อไทยสายเสื้อแดง”ยังพูดถึงความนิยมในตัวคสช.ของประชาชนโดยมองว่าวันนี้เริ่มไม่เหมือนเดิม เพราะผ่านไปหนึ่งปี เสถียรภาพคสช.ดูแล้วก็น่าจะเริ่มสั่นคลอน เพราะคนเริ่มไม่ฟังแล้ว ตอนแรกที่คนฟังก็เพราะใช้อำนาจคณะรัฐประหาร ก็ทำให้คนฟังระยะหนึ่ง แต่ถ้าทำตามคำพูด คนก็จะศรัทธาแล้วหากยิ่งมีผลงาน ที่โดดเด่นก็ยิ่งศรัทธามาก แต่ตอนนี้เริ่มเห็นกันแล้วว่าไม่ค่อยมีใครศรัทธาคสช.แล้ว ดูได้จากมีคนออกมาวิจารณ์อะไรต่าง ๆ มากขึ้น ก็เริ่มทำให้รัฐบาลชักสั่นคลอนแล้ว
เมื่อถามว่านปช.-คนเสื้อแดงจะให้โอกาสคสช.ไปถึงเมื่อใด แล้วจังหวะเวลาไหนที่คนเสื้อแดงพร้อมจะออกมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง “นพ.เชิดชัย” ตอบว่า คนเสื้อแดง เขาต่อสู้โดยไม่ใช้ความรุนแรง เคลื่อนไหวโดยสันติ ถ้าจะออกมา เขาออกมานานแล้ว แต่ตอนนี้คนเสื้อแดงให้โอกาสคสช. ตอนนี้โรดแมปคสช.ยังไม่สิ้นสุด ดีที่สุดก็ควรเป็นปลายปีนี้แต่ปัญหาคือคสช.จะทำตามที่พูดไหม หากคสช.ไม่ทำตามที่พูดไว้ โอเคว่าตอนนี้อาจจะให้มีการทำประชามติ จะมีการยืดเวลาออกไป ถ้าไม่เกิน 6 เดือนจากที่เคยประกาศไว้ ก็ยังรับได้
“แต่ถ้ามันล่อนจ้อนเลย ร่างรธน.ของกรรมาธิการยกร่างรธน.ก็ไม่มีการปรับแก้ไข แล้วหากว่าประชามติเกิดไม่ผ่านขึ้นมา แล้วก็ให้ทุกอย่างวนเวียนกลับไปแบบเดิมอีก มันจะเหมือนสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร ที่ไปใช้เวลาร่างรัฐธรรมนูญตอนนั้นนานมา แบบนั้นไม่ต้องมีการนัดกัน ก็มีคนออกมาเอง”
“หนึ่งปีคสช.ถือเป็นบทเรียนของพวกที่เรียกร้องให้ทหารออกมาปฏิวัติได้เห็นว่า รัฐประหารทำให้ประเทศไม่มีประชาธิปไตย ทำให้ประเทศเสียโอกาสไปหมด ทำให้คนไทยได้เรียนรู้ว่าการทำรัฐประหารไม่ใช่ทางออกที่ดี เหมือนที่บางคนเคยพยายามโฆษณาไว้” นพ.เชิดชัยกล่าวตอนท้าย
กปปส.ย้ำไม่ได้ให้เช็คเปล่า ทำปฏิรูปแบบไม่มีผลชี้วัด
ด้าน "เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ โฆษกกปปส." ที่เป็น 1 ในผู้อยู่ร่วมเหตุการณ์ตอนพลเอกประยุทธ์ยึดอำนาจที่สโมสรทหารบกเมื่อ 22 พ.ค. 57 มุมมองของเขาต่อการประเมินการทำงานของคสช. มีโทนของการให้โอกาส คสช. มากกว่า นพ.เชิดชัย แกนนำเสื้อแดงค่อนข้างมาก
โฆษกกปปส. บอกว่า หากให้ประเมินการทำงานของคสช.ก็เห็นว่า ในภาพรวมแล้วมองว่าในรอบหนึ่งปีของคสช.ผลงานน่าจะเป็น ที่พอใจของประชาชนพอสมควร โดยจุดเด่นอยู่ที่ความหนักแน่น ความเด็ดขาด ของพลเอกประยุทธ์ การทำงานที่เด่นมากสุดคงไม่พ้นเรื่องความมั่นคง เพราะเมื่อคสช.ยึดอำนาจก็ควบคุมสถานการณ์ให้อยู่ในความสงบเรียบร้อยดีมาตั้งแต่ 22 พ.ค.57 จนถึงตอนนี้หนึ่งปี
อย่างไรก็ตาม “เอกนัฏ” ย้ำว่าสิ่งที่เป็นปัญหาของรัฐบาลก็คือเรื่อง ปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งก็เข้าใจได้เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะรัฐบาลต้องรับภาระที่เป็นมรดกมาจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาด้วย เช่น ยอดหนี้จากโครงการรับจำนำข้าวจนตลาดข้าวก็พัง จนสร้างความเสียหายไป 6-7 แสนล้านบาท ก็เป็นปัญหาตกทอดมาถึงรัฐบาลชุดนี้ หรือแม้แต่เรื่องยางพารา ก็เพราะรัฐบาลชุดที่แล้วไปรับซื้อยางไว้ในสต็อกเสียเยอะก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ราคาร่วงแบบขณะนี้ นอกจากนี้ก็เกิดจากผลกระทบของระบบเศรษฐกิจโลก ก็ทำให้เศรษฐกิจบ้านเรามีปัญหาเรื่องการส่งออก แต่ก็เห็นความพยายามของรัฐบาลที่พยายามจะแก้ไขอยู่ รัฐบาลต้องทำงานหนักเรื่องเศรษฐกิจ
“เห็นความพยายามของพลเอกประยุทธ์แต่รัฐมนตรีหลายคนตอนนี้ต้องทำงานหนักกว่านี้ ต้องไขลานกันหน่อยว่าจะมานั่งแช่บนเก้าอี้อย่างเดียวไม่ได้เพราะประชาชนเขาเดือดร้อนจริงๆโดยเฉพาะเรื่องปัญหาพืชผลเกษตรราคาตกต่ำ ก็ทำให้เกษตรกรไทยรับผลกระทบเยอะ”
..ในส่วนงานที่สำคัญอีกอันคือ เรื่องการปฏิรูปประเทศ ที่เป็นข้อเรียกร้องของมวลมหาประชาชน ซึ่งหัวใจของการปฏิรูปประเทศก็จะไปอยู่ในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยพลเอกประยุทธ์ ได้มอบหมายให้ สปช.ไปทำเรื่องการออกแบบการปฏิรูป แล้วให้กมธ.ยกร่างรธน.ไปยกร่างรธน.ฉบับใหม่ ก็พบว่างานของสองส่วนนี้ก็ยังไม่เป็นที่ทันใจ
อย่างการทำงานของกมธ.ยกร่างรธน. ที่ก็ร่างรธน.ไปตามโรดแมปแต่เมื่อร่างมาแล้วก็พบว่ามีหลายฝ่ายที่ยังไม่พอใจในตัวร่างรธน. ส่วนงานด้านปฏิรูปที่มอบหมายให้สปช.ก็พบว่า ที่ผ่านมา สปช. ดูเหมือนจะไปทำอย่างเดียวคือเรื่องร่างรธน.ฉบับใหม่ แต่ยังไม่เห็นความคืบหน้าการปฏิรูปด้านอื่น ๆ ซึ่ง สปช.ควรต้องชี้แจงความคืบหน้าการปฏิรูปด้านอื่นๆด้วย เช่น เรื่องกระจายอำนาจ การป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่น การปรับโครงสร้างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ
เพราะหลายคนก็อยากเห็นความคืบหน้าแต่ละเรื่อง
“ถ้าประเมินโดยภาพรวมการทำงานของคสช.ในรอบหนึ่งปีภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ ผมคิดว่าสอบผ่าน แต่ต้องเข้าใจว่าตอนนี้บ้านเมืองอยู่ในภาวะไม่ปกติ การทำงานก็ลำบากแล้วยิ่งหลังจากนี้ดูแล้วคสช.คงเจออุปสรรคมากขึ้นไปอีก” โฆษกกปปส.กล่าวย้ำ
พอถามว่าหลายเรื่องของปฏิรูป ไม่มีความคืบหน้ามากนัก คนมองว่าพลเอกประยุทธ์ลอยตัวเกินไปโยนไปให้ สปช. อย่างเดียวทั้งที่บางประเด็นรัฐบาลหรือคสช.ก็ทำได้ เช่น ปฏิรูปตำรวจ หรือการกระจายอำนาจ “เอกนัฐ” ให้ความเห็นว่า
เราต้องแยกบทบาทให้ชัดเจน เพราะตั้งแต่เริ่มต้นการทำรัฐประหาร ทางคสช.มอบหมายเรื่องภารกิจปฏิรูปให้เป็นหน้าที่ของสปช. ซึ่งก็อยากให้สปช.มีความชัดเจนในข้อเสนอตัวเองมากกว่านี้ เช่น เรื่องพลังงาน ก็สังเกตเห็นได้ชัดว่าตัวสปช.เวลามีข้อสรุปความเห็นมันไม่มีความหนักแน่น จึงทำให้ข้อเสนอปฏิรูปของสปช.ไม่สามารถชี้นำไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลได้ เห็นได้จากเช่นเรื่องการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 หรือตัวร่างญัตติคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญของสมาชิกสปช.ที่มีการแยกกันเสนอญัตติออกเป็น 8 ญัตติ มันก็ทำให้ไม่มีความหนักแน่นและไม่มีพลังที่จะไปชี้นำไปสู่การปฏิบัติได้
ประเด็นเรื่องการปฏิรูปในด้านต่างๆ ถ้าสปช.มีการชี้แจงให้ชัดเจนและประชาสัมพันธ์ข้อสรุปของสปช. แล้วนำเสนออย่างหนักแน่น มันจะชัดเจนกว่านี้ จะโทษพลเอกประยุทธ์คนเดียวไม่ได้ ต้องดูด้วยว่าใครเป็นฝ่ายรับผิดชอบแต่ละส่วน
“แต่ตอนนี้มันมาครบหนึ่งปีแล้ว และอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ทุกคนก็อาจเห็นว่าเขาไม่ได้มอบเช็คเปล่าไปให้ทำงานโดยจะทำไปถึงเมื่อไหร่ก็ได้โดยที่ไม่มีความคาดหวังอะไร อย่างตอนนี้ก็มาถึงจุดที่คนกำลังจะประเมินผลงาน แต่ละฝ่ายที่ได้รับมอบหมายไปเช่น สปช. กมธ.ยกร่างทำหน้าที่ดีหรือยัง ถ้ายังผลิตผลงานออกมาไม่ได้ ภาระทั้งหมดก็จะไปตกอยู่ที่พลเอกประยุทธ์แล้ว จะต้องกำกับดูแลให้มันเดินหน้าไปได้ชัดเจนมากกว่านี้ยิ่งขึ้น”
ถามว่า ถ้าสุดท้ายประเทศไม่เกิดการปฏิรูปอะไรเลย รัฐประหารของคสช.มันจะเสียของหรือไม่ “โฆษกกปปส.”ตอบว่า ในมุมความเห็นของกปปส.เรามองว่าถ้าผ่านไป 1-2 ปีแล้วไม่มีการปฏิรูป เราก็มองว่ามันสูญเปล่า ในมุมมองของคสช.เขาอาจมองว่าการเข้ามาของคสช. เพื่อมารักษาความสงบของประเทศตอนนั้นแต่ในมุมมองของประชาชนโดยเฉพาะมวลมหาประชาชนเขาคาดหวังว่า คสช.และองค์กรที่เกิดขึ้นมาจะใช้เวลาช่วงนี้ให้เป็นประโยชน์ที่สุด
เพราะก่อนหน้านี้การปฏิรูปมีคนพูดหลายคน แต่ไม่มีใครเคยทำได้เพราะรัฐบาลก่อนๆ ไม่จริงใจคือพูดแล้วไม่ทำ และที่ไม่ทำเพราะมีผลประโยชน์ทับซ้อน จนกปปส.เรียกร้องในช่วงชุมนุมว่าต้องปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง แล้วเราเชื่อว่ากระบวนการปฏิรูปตอนนี้ที่ไม่มีนักการเมืองเกี่ยวข้อง มาเป็นผู้เล่น จึงไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนจึงเป็นโอกาสอันดีที่จะทำเรื่องปฏิรูปให้เสร็จ ภายในเวลาที่เร็ว แต่เราก็เข้าใจว่าการปฏิรูปไม่ใช่ว่าจะทำกันภายใน 1-2 ปี บางอย่างต้องใช้เวลานานกว่านั้น แต่อย่างน้อย ประชาชนก็คงคาดหวังที่จะเห็นการปฏิรูปและหลักใหญ่ ๆ ของมันหลายเรื่องควรให้เสร็จสิ้นภายในเวลาที่กำหนด
เพราะหลังรัฐประหารไปแล้วและมีการจัดการเลือกตั้ง แต่หากเรื่องการปฏิรูปมันไม่มีผลงานเป็นชิ้นเป็นอัน ก็แน่นอนต้องพูดว่าเป็นความสูญเปล่า แต่เมื่อกระบวนการตรงนี้ยังเดินอยู่ก็ต้องรอดูผลงานไปอีกสักระยะว่าจะเป็นอย่างไร
ต่อข้อถามที่ว่าในวันที่คสช.ลงจากอำนาจตามโรดแมปคิดว่าคสช.ควรทำอย่างไรให้ประชาชนจดจำคณะรัฐประหารชุดนี้ในทางที่ดี ”โฆษกกปปสช.” ตอบว่าการที่คสช.เข้ามาแล้วทำให้ประเทศสงบเรียบร้อยไปสัก 1-2 ปี จะไม่ใช่ผลงานที่ยั่งยืนและชวนให้จดจำในความรู้สึกของประชาชน แต่ถ้าภายใน 1-2 ปีที่คสช.เข้ามานอกจากรักษาความสงบได้แล้วแต่ยังได้วางรากฐานการปฏิรูปไว้ เพื่อให้รัฐบาลชุดต่อไปและประชาชนมาสานต่อไป โดยที่จะเป็นการพัฒนาระบบการเมือง ระบบประชาธิปไตยในประเทศอย่างยั่งยืนและเป็นที่ยอมรับของประชาชนคนไทยทุกคน นำไปสู่ความรักความสามัคคีของคนในบ้านเมือง สิ่งนี้จะทำให้คนจดจำคสช.
ผมเชื่อว่าที่พลเอกประยุทธ์ตัดสินใจทำรัฐประหารจริงๆ แล้ว ไม่ได้เข้ามาเพราะเรื่องอยากมีอำนาจแต่บ้านเมืองตอนนั้นสถานการณ์บังคับจริงๆ เพราะตอนนั้นไม่มีนายกรัฐมนตรี แล้วรัฐมนตรีที่เหลือก็ไม่ยอมลาอออก จะเลือกตั้งก็ไปไม่ได้ ไปถึงทางตัน ทำให้พลเอกประยุทธ์ก็ตัดสินใจทำรัฐประหาร ผมเชื่อว่าพลเอกประยุทธ์ทำเพราะไม่ได้อยากต้องการหรือกระหายอำนาจ เข้าใจว่าท่านมีจุดประสงค์ที่ดี แต่มันก็ต้องดูผลงานด้วยเหมือนกันว่า ทำงานไปแล้วเป็นอย่างไร มาถึงวันนี้ก็ยังเห็นว่ายังไปได้ค่อนข้างดี แต่หวังว่าภายใน 1-2 ปีจะวางรากฐานเรื่องปฏิรูปได้
“เรื่องปฏิรูปจะเป็นหัวใจสำคัญถ้าคสช.ทำได้ คนจะจดจำไปอีกนาน เพราะในอีกสัก 5 ปีข้างหน้าหลายปัญหาตอนนี้เช่นเรื่องโรฮีนจา เรื่องปัญหาไอยูยูให้ใบเหลืองการทำประมงไทย หรืออะไรต่างๆ ปัญหาพวกนี้ก็เป็นปัญหาที่รัฐบาลต้องจัดการแก้ไข แต่มันไม่ใช่สิ่งที่จะถูกจดจำ แต่สิ่งที่คนจะจดจำคสช.ก็คือต้องวางรากฐานการปฏิรูปเอาไว้ให้ชัดเจน แล้วนำไปสานต่อมีการต่อยอดได้ไปเป็นสิบปี จากสิ่งที่เกิดสมัยคสช. ก็จะเป็นสิ่งที่ทำให้คสช.เป็นที่จดจำ”
“ประสงค์”บอกคสช.สอบตก ให้ผ่านแค่ 30 เปอร์เซ็นต์
ปิดท้ายที่ความเห็นของ "น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ" ที่ชื่อนี้ไม่ต้องเอ่ยอะไรมากในแวดวงการเมือง ถือเป็นคนดังอยู่แล้ว เพราะมีดีกรีการเมืองมากมาย อาทิ อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี(พลเอกเปรม ติณสูลานนท์)-อดีตสนช.ปี 49 –อดีตประธานกมธ.ยกร่างรธน.ปี 50 ในแวดวงการเมืองเรียกเขาว่า "ซีไอสงค์" เพราะเคยเป็นเลขาธิการสมช.มาก่อน
“น.ต.ประสงค์” พูดถึงการทำงานของคสช.ในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมาและสิ่งที่เห็นว่าคสช.ควรต้องเร่งทำต่อจากนี้ โดยเริ่มต้นว่า มองจากจุดแรกที่คสช.เข้ามายึดอำนาจเมื่อ 22 พ.ค. 2557 มาถึงวันนี้ คสช.ทำงานมาหนึ่งปีแล้ว แต่ต้องเข้าใจก่อนว่าที่ผ่านมาหลายปี การบริหารประเทศของรัฐบาลระบอบทักษิณ ทำให้ประเทศเสียหายอย่างมาก ทุกด้านทั้งสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ทำให้บ้านเมืองแตกแยกมาก จนประชาชนออกมาต่อสู้ตั้งแต่ พันธมิตรฯ จนถึงกปปส.ก็เพราะเขาต้องการกำจัดระบอบทักษิณที่ใช้อำนาจไม่ถูกต้องในการบริหารประเทศให้หมดจากอำนาจไป
เมื่อคสช.เข้ามายึดอำนาจ ประชาชนก็มีความหวังจะมาแก้ปัญหา ทำให้พวกระบอบทักษิณหมดจากอำนาจไป แต่หนึ่งปีที่ผ่านมา ของคสช.ที่ยึดอำนาจแล้วมาจัดตั้งรัฐบาล รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา รัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลเฉพาะกาลไม่ใช่รัฐบาลตามปกติ หน้าที่รัฐบาลเฉพาะกาลคือการกำจัดกวาดล้างสิ่งที่ทำให้ประเทศเหลวแหลกมาร่วมสิบปี สิ่งเหล่านี้ต้องเป็นเป้าหมายหลัก
เมื่อมองคสช.ยึดอำนาจหนึ่งปี มีอะไรดีขึ้นบ้าง ส่วนที่ดีก็มี เช่น ในเรื่องเกี่ยวกับการปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่นทั้งในส่วนภาคราชการและเอกชน อาทิ การตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิ์การบุกรุกที่ป่าสงวน ตรงนี้ก็เป็นส่วนดี ที่คสช.เข้าไปจัดการ อีกอันที่ดีก็คือ ทำให้ความขัดแย้งที่รุนแรงในประเทศจนประชาชนจะฆ่าฟันกันเอง ก็หายไปถือเป็นเรื่องดีของคสช.ที่เข้ามา
อย่างไรก็ตาม “น.ต.ประสงค์” ระบุว่า รัฐบาลเฉพาะกาลที่มีเวลาทำงานไม่นานมาก ต้องจัดการกับปัญหารากเหง้าที่ทำให้บ้านเมืองเสียหาย โดยพบว่าที่ผ่านมา คสช.เองกลับไม่ได้ทำงานแบบลงลึกไปถึงต้นเหตุของปัญหาประเทศ ด้วยการลุยขุดรากถอนโคลน ตรงนี้พบว่าหนึ่งปีของคสช.ยังไม่เกิดขึ้น ทั้งที่การแก้ปัญหาแบบขุดรากถอนโคลนดังกล่าวบางอย่างทำได้ทันที โดยไม่ต้องใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 57 เอาแค่กฎหมายธรรมดามาใช้ก็ทำได้แล้ว
สำหรับ “น.ต.ประสงค์”เป็นที่รู้กันดีว่าเป็นคนหนึ่งที่เคลื่อนไหวชนกับระบอบทักษิณมาตลอดหลายปี โดยเขาย้ำว่า คสช.ควรต้องเร่งรัดจัดการกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ มีสถานภาพเป็นบุคคลที่ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินแล้วว่ามีความผิดคดีทุจริตที่ดินรัชดาฯ แต่ที่ผ่านมา พ.ต.ท.ทักษิณ ก็หนีคดีมาตลอดหลายปี ใช้กฎหมายธรรมดาจัดการได้ แต่หนึ่งปีที่ผ่านมา คสช.และ รัฐบาลคสช. กลับไม่ดำเนินการใด ๆ เลย เช่น ไม่ถอดยศ พ.ต.ท.ของทักษิณ ทั้งที่ตำรวจหรืออดีตตำรวจคนไหนใครทำผิดกฎหมายก็โดนถอดยศหมด อีกทั้งไม่มีการเพิกถอนพาสปอร์ตของ พ.ต.ท.ทักษิณ ทำให้พ.ต.ท.ทักษิณเดินทางไปที่ต่าง ๆ ได้ตลอด รัฐบาลไม่มีการประสานกับตำรวจสากลหรือประสานกับสถานเอกอัครราชทูตประเทศต่าง ๆ เพื่อติดตามตัว
“หนึ่งปีผ่านมา ไม่มีผลงานอะไรเลยในเรื่องพวกนี้ ทั้งที่การไม่ดำเนินการของคสช.อาจถือเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญาเสียด้วยซ้ำ”
นอกจากนี้ น.ต.ประสงค์ ยังเห็นว่า เมื่อคสช.เข้ามาแล้ว ก็ไม่ได้ดูว่าปัญหาความขัดแย้งในประเทศที่เกิดขึ้น ฝ่ายไหนผิด ฝ่ายไหนถูก แต่บอกว่าผิดทั้งคู่ แล้วก็คิดแต่จะให้มาปรองดองกัน คสช.ใช้วิธีการผลักมิตรเป็นศัตรู ไม่มีการจำแนก ทำให้ความขัดแย้งยังคงอยู่ ไป แถมไปเพิ่มความไม่พอใจให้กับคนที่เคยเป็นมิตร ไปผลักเขาไปเป็นศัตรู ไม่เห็นว่าเขาเป็นมิตร
เรื่องหนักสุด หนึ่งปีที่ผ่านมา เรื่องภาวะเศรษฐกิจ เพราะบ้านเมืองเสียหายจากระบอบทักษิณที่ทำทิ้งไว้โดยเฉพาะการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว แทนที่คสช. จะจัดการคนที่สร้างความเสียหายให้ประเทศหลายแสนล้านบาท คสช.กลับปล่อยให้การติดตามเรื่องนี้ใช้กระบวนการปกติที่ใช้เวลานาน ทั้งที่คสช.ก็มีอำนาจในการจัดการกับคนที่สร้างความเสียหายได้ ขณะเดียวกันเมื่อเจอปัญหาภาวะเศรษฐกิจมีปัญหาทั้งระบบ เห็นได้จากตัวเลขหนี้สาธารณะ หนี้ภาคครัวเรือนสูงมาก ประชาชนเจอเรื่องค่าครองชีพสูง ราคาสินค้าเกษตรก็มีปัญหาราคาตกต่ำ ทำให้ ในภาพรวมเรื่องเศรษฐกิจเห็นชัดว่า เรื่องนี้คือจุดอ่อนของคสช.และรัฐบาล ที่แก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้เลยในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมา เพราะคสช.ไปมัวเล่นแต่กับปัญหาเฉพาะหน้า แต่เรื่องใหญ่กลับไม่ทำ
“น.ต.ประสงค์” วิพากษ์คสช.ต่อไปว่า เช่นเดียวกับเรื่องสังคม ความแตกแยกของคนในประเทศยังคงอยู่ เพียงแต่ช่วงนี้ไม่ได้ออกมาเคลื่อนไหวเพราะทำไม่ได้แบบเปิดเผย แต่ก็เคลื่อนไหวในรูปแบบต่าง ๆ ผ่านโซเชียลมีเดีย ลำพังแค่พวกเก่าไม่พอใจคสช.ก็เคลื่อนไหวต่อเนื่อง แต่ช่วงหลังเริ่มพบว่าพวกใหม่ที่ไม่พอใจคสช.ก็เริ่มมีมากขึ้นและแสดงตัวเห็นได้ชัดมากขึ้น เรื่องความมั่นคงแม้ดูภายนอกเหมือนสงบ แต่หลายเรื่องยังคงอยู่และคสช.ยังแก้ไม่สำเร็จโดยเฉพาะปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนเรื่องการต่างประเทศ การดำเนินการของรัฐบาลในด้านนี้ พบว่าไม่ได้มีการดำเนินการในเชิงรุกอะไรมากนัก
…โดยภาพรวมทั้งหมด หนึ่งปีที่ผ่านมา ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นบนท้องถนน เมื่อตอนนี้ไม่มีประชาชนก็รู้สึกดีขึ้นแต่ก็เป็นแค่ชั่วคราว เรื่องปฏิรูปอะไรต่าง ๆ ที่ควรต้องเปลี่ยนแปลงแก้ไข โดยเฉพาะการปฏิรูปตำรวจ ที่ต้องปฏิรูปอย่างเร่งด่วน แต่ก็ไม่มีความคืบหน้า ทางกรรมาธิการของสภาปฏิรูปแห่งชาติที่ตั้งมาศึกษาเรื่องนี้ เสนอแนวทางไปแล้ว ก็มีการเก็บเรื่องไว้ ไม่คืบหน้า ทั้งที่การปฏิรูปตำรวจสามารถทำได้ตั้งแต่ตอนนี้เลย แต่กลับไปทำเรื่องไม่เป็นเรื่องในบางครั้ง มีการบอกให้ไปฝากความหวังเรื่องปฏิรูปไว้กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทั้งที่ความจริงการปฏิรูปหลายอยางทำได้เลย ไม่ต้องรอรัฐธรรมนูญ สามารถใช้อำนาจคสช.จัดการได้ แต่ก็เล่นไปซื้อเวลาอะไรต่างๆ เช่นปัญหาพลังงาน ก็สามารถใช้อำนาจที่มีอยู่แก้กฎหมายปิโตรเลียมได้ ก็ไม่ทำ คล้ายๆ กับผลักทุกอย่างให้เป็นเรื่องของรัฐบาลหน้า ผลักให้พ้นตัวไป ทั้งที่ตัวเองมีหน้าที่อยู่
“การปฏิรูปเรื่องต่างๆ เช่นปฏิรูปตำรวจ หากคสช.ที่ทำรัฐประหารมาไม่ทำ ผลที่ตามมาจะไม่เป็นสิ่งที่ดีกับคสช.และรัฐบาล เพราะตอนนี้หนึ่งปีผ่านมา ประชาชนสงสัย กันว่า ทักษิณมีอิทธิพลอะไรเหนือคสช.หรือไม่ เพราะหากเป็นคนอื่นที่ถูกศาลตัดสินคดีแบบนี้ ป่านนี้ต้องถูกยอดยศ เพิกถอนหนังสือเดินทาง และมีการสั่งตำรวจสากลให้ติดตามตัวมาดำเนินคดีแล้วแต่ก็ไม่มีการดำเนินการกับทักษิณใดๆเลย ปล่อยให้ลอยนวล จนถูกทักษิณด่าที่เกาหลีใต้ ก็สมน้ำหน้าแล้ว”
ในภาพรวมทั้งหมด คิดว่าปัญหาสำคัญๆยังไม่มีความคืบหน้าในการแก้ปัญหา คสช.บอกว่าจะคืนความสุขให้ประชาชน แต่ตอนนี้ประชาชนเดือดร้อนกันมากโดยเฉพาะจากเรื่องปัญหาค่าครองชีพ
“ถ้าจะมีการให้คะแนนผมก็ให้คสช.สอบผ่านแค่ 30 เปอร์เซ็นต์อย่างสูง อีก 70 ไม่ให้ผ่าน ซึ่ง 30 เปอร์เซ็นต์ก็ถือว่าสูงแล้ว” น.ต.ประสงค์ ระบุ
พร้อมกับเสนอแนะคสช.ว่า ช่วงเวลาที่เหลือของคสช.ควรใช้ภาวะผู้นำในขณะนี้ทำให้ประชาชนเห็นว่าคสช.มีความตั้งใจจริงที่จะขุดรากเหง้าปัญหาพื้นฐาน ต้องจัดการกับพวกตัวการต่าง ๆ ด้วยอำนาจที่เด็ดขาด เช่น ถอดยศ เพิกถอนหนังสือเดินทาง ตามจับตัว เพื่อไม่ให้ประชาชนสงสัยว่า คสช.มีการไปตกลงอะไรกันหรือไม่
หลากหลายความเห็นข้างต้น ถ้าคสช.รับฟังและคัดกรอง เพื่อนำไปพิจารณากำหนดทิศทางการทำงานของคสช.ในปีที่ 2 ก็น่าจะเป็นความเห็นที่เป็นกระจกสะท้อนการทำงานของคสช.ที่น่าสนใจไม่มากก็น้อย
ขอบคุณภาพประกอบจาก : peopleunitynews.com