ขรก.-จนท.รัฐไม่กลัวกม.! เครือข่ายต้านโกงจับมือลุยแก้รอยด่างประเทศ
“…คนไทยมองเรื่องการทุจริตเป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะข้าราชการ เจ้าหน้ารัฐที่มีคุณธรรมตกต่ำ ทำการทุจริตอย่างไม่เกรงกลัวกฎหมาย โดยเฉพาะหัวหน้าส่วนข้าราชการที่เป็นคนดูแลป้องกันการทุจริตกลับปล่อยปละละเลย เห็นแก่พวกพ้อง ซึ่งในความเป็นจริงถือว่ามีความผิดทางวินัย แต่ที่ผ่านมาไม่มีหน่วยงานไหนเข้ามาตรวจสอบ ทำให้การทุจริตเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและหนักขึ้นเรื่อย ๆ…”
“ในปีงบประมาณนี้ (2558) ได้รับจำนวน 2.1 พันล้านบาท และในปีงบประมาณหน้าจะได้รับวงเงินกว่า 2.8 พันล้านบาท ซึ่งงบประมาณจำนวนนี้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการแสวงหาข้อเท็จจริงและการไต่สวนวินิจฉัย นำไปสู่ความโปร่งใสและมีธรรมาภิบาลตามหลักสากล และจะสามารถเพิ่มคะแนนดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นของประเทศให้ดีขึ้น หรือตั้งเป้าให้มีคะแนนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ในปี 2560”
เป็นคำยืนยันของ “ภักดี โพธิศิริ” กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ถึงทิศทางการปราบปรามทุจริต ในงานสัมมนา “คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2558” ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ คอนเวนชั่น
โดยงานดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อหารือแลกเปลี่ยนความเห็นแนวทางในการขับเคลื่อนการ “ปราบโกง” ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด !
ซึ่งมี “ตัวพ่อ” แห่งแวดวง “ปราบทุจริต” มาร่วมงานกันมากมาย ไม่ว่าจะเป็น “วิชา มหาคุณ” กระบี่มือหนึ่งแห่ง ป.ป.ช. “สุภา ปิยะจิตติ” กรรมการ ป.ป.ช. น้องใหม่ไฟแรง “ประยงค์ ปรียาจิตต์” เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และ “ประมนต์ สุธีวงศ์” ประธานองค์การต่อต้านคอร์รัปชั่นแห่งประเทศไทย เป็นต้น
“ภักดี” เปิดฉากอธิบายเรื่องแนวคิดและยุทธศาสตร์ชาติฯ ระยะที่ 2 “ภายใต้บริบทแห่งการเปลี่ยนแปลง” ว่า การจะขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติฯให้ประสบความสำเร็จนั้น เราต้องเน้นการบูรณาการอย่างมีประสิทธิภาพ โดยต้องดำเนินการควบคู่กันทั้งด้านการปราบปรามอย่างจริงจัง และการป้องกันการทุจริตที่มีประสิทธิภาพ และปลูกจิตสำนึกคนในสังคมให้ไม่ยอมรับการทุจริต อาศัยการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วนโดยเฉพาะองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ
“การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติฯ ในระยะที่ 2 ต้องยกระดับคุณธรรมและความโปร่งใสภาครัฐโดยยึดหลักธรรมาภิบาล ผู้มีอำนาจหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีพฤติกรรมการทุจริตลดลง และเจ้าหน้าที่รัฐต้องยึดถือประมวลจริยธรรมเป็นแนวทางปฏิบัติ รวมทั้งต้องมีพฤติกรรมใช้ตำแหน่งหน้าที่ทุจริต ประพฤติมิชอบลดลง รวมทั้งมีความโปร่งใสและการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐเพิ่มขึ้น”
“ส่วนภาคเอกชนก็ต้องดำเนินการโดยยึดหลักบริษัทภิบาล เพื่อลดการทุจริต และการติดสินบน ขณะเดียวกันภาคประชาสังคมจะต้องสร้างเครือข่าย สร้างความตระหนักรู้ ปลุกกระแสไม่ยอมรับการโกง รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ส่วนกลุ่มเป้าหมายเด็กและเยาวชนนั้นต้องเน้นปลูกจิตสำนึกคุณธรรมจริยธรรมอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่เด็กเล็ก ระบบการศึกษาภาคบังคับ ระดับอุดมศึกษา จนถึงเข้าสู่ระบบการทำงาน ส่วนสื่อมวลชนต้องสร้างความรู้เท่าทันให้ประชาชน และขุดคุ้ยเรื่องที่ไม่ชอบมาพากลด้วย”
ก่อนตบท้ายถึงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่า “โชคดีที่นโยบายของ คสช. สนับสนุนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เรื่องการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มีนโยบายที่ชัดเจน กำหนดแนวทางปราบปรามทุจริต รวมทั้งให้การสนับสนุนงบประมาณที่เป็นครั้งแรกที่กำหนดแผนงบประมาณแบบบูรณาการในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐอย่างจริงจัง”
ซึ่งก็อย่างที่ทราบกันไปแล้วว่า ในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 2559 ได้จัดหนักงบปราบทุจริตไปกว่า 2.8 พันล้านบาท ซึ่งในส่วนของ ป.ป.ช. ได้ไปกว่า 1.8 พันล้านบาท และ ป.ป.ท. กว่า 291 ล้านบาท เลยทีเดียว !
ขณะเดียวกัน “ประมนต์” มองว่า ทิศทางการดำเนินงานของภาคเอกชนต้องกำหนดพันธกิจในการทำงาน คือเชื่อมโยงและขยายเครือข่ายต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบ และสร้างเสริมจิตสำนึกในการดำเนินการดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใส เคารพกฎหมายและศีลธรรมด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม รวมทั้งผลักดันนโยบายกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับให้เอื้อต่อการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
“ตอนนี้มีโครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริตกว่า 400 บริษัท รวมถึงโครงการขยายผลข้อเสนอให้มีการตกลงคุณธรรม ที่มีเป้าหมายในการสร้างกลไกที่เน้นการป้องกันการคอร์รัปชั่นและสร้างความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้าง พร้อมทั้งปรับปรุงกฎหมาย เพื่อให้หน่วยงานของรัฐปรับปรุงกระบวนการให้บริการพร้อมกำหนดระยะเวลาขั้นตอนการพิจารณาการทำงานอย่างรวดเร็ว และเปิดโอกาสให้ประชาชนมีสิทธิร้องเรียนหรือฟ้องร้องทางแพ่งและอาญาได้ตามแต่ละกรณี”
“แนวทางนี้จะสามารถขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ได้รวดเร็วและทำประโยชน์ได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น”
ปิดท้ายด้วย “ประยงค์” เล่าเหตุการณ์ปราบปรามการทุจริตอย่างไฟแลบ พร้อมยกตัวอย่างถึงกรณีกรมท่องเที่ยวจัดซื้อจัดจ้างเครื่องเล่น ที่ขณะนี้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้ชงเรื่องให้กับ ป.ป.ช. อีกด้วย
พร้อมสรุปว่า “การทุจริตของระบบข้าราชการมีการทุจริตเกิดขึ้นเป็นอย่างมากในปัจจุบัน เพราะคนไทยมองเรื่องการทุจริตเป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะข้าราชการ เจ้าหน้ารัฐที่มีคุณธรรมตกต่ำ ทำการทุจริตอย่างไม่เกรงกลัวกฎหมาย โดยเฉพาะหัวหน้าส่วนข้าราชการที่เป็นคนดูแลป้องกันการทุจริตกลับปล่อยปละละเลย เห็นแก่พวกพ้อง ซึ่งในความเป็นจริงถือว่ามีความผิดทางวินัย แต่ที่ผ่านมาไม่มีหน่วยงานไหนเข้ามาตรวจสอบ ทำให้การทุจริตเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและหนักขึ้นเรื่อย ๆ”
“ที่ผ่านมาการแก้ปัญหาเรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง แก้ปัญหาไม่ตรงจุด ทำให้คดีทุจริตที่ผ่านมามีกว่า 2 หมื่นคดี”
“หากข้าราชการปฏิบัติตามหน้าที่ ตามกฎระเบียบการทุจริตก็จะไม่เกิดขึ้น ประเทศชาติก็จะเดินหน้าได้”
เป็นคำพูดทิ้งท้ายไว้ให้ “รบ.ประยุทธ์” และบรรดาผู้มีอำนาจในบ้านเมืองขณะนี้คิด และดำเนินการ “ปราบโกง” อย่างจริงจัง
เพราะอย่างที่เคยย้ำไว้หลายครั้งแล้วว่า “หากท่านพูดเราจะฟัง หากท่านลงมือทำเราถึงจะเชื่อ”
อ่านประกอบ : งบปราบทุจริตปี’59“รบ.ประยุทธ์”-อัดฉีดป.ป.ช.1.8พันล.-สพฐ.กว่า 300 ล.