จริยธรรมสื่อ:สอนคน สอนใคร สอนอย่างไร
คนทำสื่อจับมือนักวิชาการระดมคิดปฏิรูปจริยธรรมสื่อ สร้างวิถีกำกับดูเเลกันเองตามอุดมคติวิชาชีพ หนุนส่งเสริมตั้งเเต่ระดับประถมศึกษา สร้างการรู้เท่าทัน หลังพบสู่ยุคตกต่ำ รุนเเรง น่าห่วง
หลายปีที่ผ่านมา มีการขยายตัวของสื่อมวลชนมากขึ้น เนื่องจากเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย ทำให้เกิดสื่อใหม่หลายช่องทาง
ดังนั้นภูมิทัศน์ของสื่อจึงเปลี่ยนแปลงไป อย่างไรก็ตาม ภายใต้สภาพสังคมเช่นนี้ สื่อมวลชนมักถูกตั้งคำถามถึงการทำหน้าที่ตามกรอบจรรยาบรรณวิชาชีพ ท่ามกลางอำนาจการเมืองและกลุ่มทุนที่จ้องครอบงำทุกขณะ จะยึดมั่นผลประโยชน์ชาติมากกว่าองค์กรและเป็นที่พึ่งของประชาชนมากน้อยเพียงใด ซึ่งการปลูกฝังอุดมการณ์ตั้งแต่ในสถาบันการศึกษาจึงมีความสำคัญ
ด้วยเหตุนี้ ศูนย์ศึกษาจริยธรรมสื่อมวลชน ภายใต้ศูนย์ศึกษาจริยธรรม กฎหมาย และนโยบายสื่อ สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ร่วมกับสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ จัดโครงการศึกษาจริยธรรมสื่อ หัวข้อ Training for the Trainer;Ethics for Mass Media ครั้งที่ 1 เพื่อเสริมสร้างความรู้และศักยภาพนักวิชาการนักวิชาชีพในการถ่ายทอดจริยธรรมสื่อ ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล
ภายในงานมีบุคคลในแวดวงวิชาชีพและวิชาการหลายท่านร่วมงาน อาทิ นายมานิจ สุขสมจิตร ประธานมูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย, รศ.ดร.ดรุณี หิรัญรักษ์ ประธานศูนย์ศึกษาจริยธรรม กฎหมาย และนโยบายสื่อ, นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย, นายบรรยงค์ สุวรรณผ่อง กรรมการควบคุมจริยธรรม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
น.ส.สุวรรณา สมบัติรักษาสุข ประธานคณะอนุกรรมการด้านกฎหมายและนโยบายสื่อ ศูนย์ศึกษาจริยธรรม กฎหมาย และนโยบายสื่อ สถาบันอิศรา, รศ.ดร.สุกัญญา บูรณเดชาชัย อาจารย์ประจำสาขาวารสารศาสตร์ ภาควิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา, ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายสื่อสารองค์กร สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ (นิด้า) รวมถึงนายธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิชาการ สถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ
ทั้งนี้ เวทีเสวนา ‘จริยธรรมสื่อ:สอนคน สอนใคร สอนอย่างไร’ มี คุณพุทธ อภิวรรณ จากรายการทุบโต๊ะข่าว ช่องอมรินทร์ทีวี เป็นผู้ดำเนินรายการบนเวทีครั้งนี้ ซึ่งวิทยากรต่างมีความเห็นในทิศทางเดียวกันว่า จริยธรรมสื่อมีความสำคัญมากในการประกอบวิชาชีพ ปราศจากการครอบงำของการเมืองและกลุ่มผลประโยชน์ รายงานข้อมูลครบถ้วนรอบด้าน กล้าแสดงคามคิดเห็น และยอมรับในสิ่งที่ตนเองกระทำ อีกทั้งต้องปลูกฝังหลักการตั้งแต่สถาบันการศึกษา เพื่อสร้างจิตสำนึกและอุดมการณ์ในฝังรากลึกต่อไป
ยุคจริยธรรมสื่อตกต่ำ ปัญหาร้ายที่น่าห่วง
"วสันต์ ภัยหลีกลี้" ประธานอนุกรรมาธิการศึกษากฎหมายเกี่ยวกับการจัดตั้งองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน เพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม คุ้มครองสวัสดิภาพ และสวัสดิการของสื่อมวลชน แสดงความเห็น "จริยธรรมสื่อ" มีความสำคัญเทียบเท่ากับ "เสรีภาพ" ซึ่งถือเป็นหลักของสื่อในระบอบประชาธิปไตย ถ้าสื่อปราศจากเสรีภาพแล้ว สังคมจะถูกปิดหูปิดตา ด้วยเสรีภาพสื่อ คือ เสรีภาพประชาชน ขณะเดียวกัน ต้องมีความรับผิดชอบ และจริยธรรมคอยกำกับ มิฉะนั้นจะก่อให้เกิดผลลบกับสังคมไม่น้อย
“สื่อมีคุณอนันต์ และมีโทษมหันต์ หมายถึง สื่อให้คุณและโทษ ซึ่งที่ผ่านมา หลายคนกล่าวว่า สื่อเป็นอย่างไร สังคมเป็นอย่างนั้น ขณะเดียวกัน สังคมเป็นอย่างไร สื่อเป็นอย่างนั้นเช่นกัน”
ประธานอนุกรรมาธิการศึกษากฎหมายฯ ชี้ให้เห็นปัญหาจริยธรรมสื่อในปัจจุบันตกต่ำมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การนำเสนอข่าวเกินจริง ใส่ความคิดเห็น ตั้งตนเองเป็นผู้พิพากษา ตีตราผู้ตกเป็นข่าว รับอามิสสินจ้าง ไม่แยกแยะระหว่างผลประโยชน์องค์กรกับส่วนรวม หรือแม้กระทั่งผลประโยชน์ทางธุรกิจล้วนปะปนกันไป ทำให้กลายเป็นปัญหารุนแรงและน่าห่วง สาเหตุอาจเกิดจากคนในแวดวงวิชาชีพไม่มีโอกาสได้เรียนรู้ ฝึกปฏิบัติ หรือตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องจริยธรรม
กรณีเช่นนี้ส่งผลให้งานที่ทำอยู่มีลักษณะเลื่อนลอย ทำไปเรื่อย ๆ เมื่อเจอบททดสอบต่าง ๆ จึงมีโอกาสพลาดพลั้งสูง หากทำผิดก็ไม่มีใครกล้าตักเตือน เพราะหลายคนไม่อยากมีเรื่องกับสื่อ แม้กระทั่งสื่อด้วยกันเองยังไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ เรียกว่า แมลงวันไม่ตอมแมลงวัน
“ปัจจุบันมีองค์กรวิชาชีพทำหน้าที่กำกับจริยธรรมสื่อ แต่บ่อยครั้งการกำกับนั้นอยู่ในลักษณะเกรงใจ และไม่ทั่วถึง เนื่องจากเป็นการกำกับโดยสมัครใจ นี่จึงเป็นอีกหนึ่งปัญหา”
แล้วจะแก้ไขปัญหาอันรุนแรงนี้อย่างไร เขาระบุว่า ต้องขับเคลื่อนไปพร้อมกันทั้งฝ่ายวิชาชีพและวิชาการ เริ่มต้นฝ่ายวิชาการ มุ่งเน้นพัฒนาหลักสูตร ต้องให้ความสำคัญผู้สอนและวิธีการสอน ทำให้เด็กมีโอกาสเรียนรู้
พร้อมยกรูปธรรม ‘ไทยพีบีเอส’ มีการจัดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ นั่งล้อมวง พูดคุยกัน ช่วยกันตั้งประเด็น พิจารณาในแง่มุมต่าง ๆ และต้องสร้างภูมิคุ้มกันแก่เด็กด้วยการปลูกฝังศีลธรรม และทำอย่างไรให้การสอนจริยธรรมเป็นเรื่องใกล้ตัว ผู้คนมีโอกาสแลกเปลี่ยนอย่างกว้างขวาง
นอกจากนี้การรู้เท่าทันสื่อก็เป็นเรื่องสำคัญ เพื่อจะช่วยกำกับดูแลสื่ออีกทางหนึ่ง นอกเหนือการกำกับดูแลกันเองแล้ว สังคมก็ควรเข้มแข็งในประเด็นนี้ด้วย เพราะหากปฏิบัติไม่ถูก ประชาชนจะเลิกซื้ออ่านหรือรับชม ซึ่งมองว่า เป็นอีกวิธีหนึ่งในการช่วยกำกับดูแลสื่อ
อย่างไรก็ตาม "วสันต์ ภัยหลีกลี้" บอกด้วยว่า ที่ผ่านมาพลังสังคมยังมีน้อย ดังนั้นต้องช่วยกันปลุกความตื่นตัว โดยมีเครือข่ายภาคประชาชนเข้าร่วมเชื่อว่า จะทำให้สื่อมีความรับผิดชอบมากขึ้น
สื่อมีจุดยืนได้ อย่าปล่อยให้พิการทางความคิด
รศ.ดร.เสรี วงษ์มณฑา อดีตคณบดีคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ม.ธรรมศาสตร์ (มธ.) ชี้ให้เห็นถึงบทบาทของสื่อมวลชนระหว่างความเป็นกลางกับเลือกข้าง ยืนยันว่า สื่อมวลชนแสดงจุดยืนได้ แต่ต้องด้วยความยุติธรรม นำเสนอข้อมูลรอบด้าน หากนำเสนอเฉพาะส่งเสริมความคิดฝ่ายเดียว ด้านอื่นไม่แยแส นั่นคือความไม่เป็นกลาง
ทั้งนี้ ยกตัวอย่างสื่อไม่เป็นกลางจากประสบการณ์จริง เช่นกรณีนักจัดรายการวิทยุบางคนปล่อยเวลาแก่คนพูดเข้าข้างตนเองนาน ส่วนคนพูดไม่เข้าข้างตนเองกลับให้เวลาน้อย หรือเจ้านายกำลังอบรมลูกน้อง ซึ่งเป็นนักจัดรายการวิทยุว่า หากใครพูดไม่ถูกใจให้ใช้ดินสอขูดที่ขอบโต๊ะเหมือนถูกคลื่นรบกวน และวางสายไป เป็นต้น
“สื่อมีความคิดเห็นได้ แต่ไม่ใช่ในข่าว และอย่าให้เราเป็นคนพิการความคิด มิใช่ว่ามีอาชีพสื่อแล้ว ห้ามแสดงความชอบหรือความคิดเห็น” อดีตคณบดีคณะวารสารศาสตร์ฯ มธ. กล่าว และว่า น่าเสียดายที่รายการโทรทัศน์ไทยมีรายการประเภทวิจารณ์ข่าวน้อย ตั้งแต่หมดยุคพิชัย วาสนาส่ง ปัจจุบันเหลือเพียงการเล่าข่าวเท่านั้น
รศ.ดร.เสรี กล่าวด้วยว่า การเป็นสื่อมวลชนที่ดี เมื่อทำอะไรไปแล้วต้องรู้จักยอมรับผลของการกระทำ ต้องกล้าแอ่นอกรับ ไม่ว่าจะดีหรือเลว ดังนั้นในการแสดงความคิดเห็นชอบหรือไม่ชอบต้องแอ่นอกรับกับสิ่งที่พูดส่งผลกระทบอะไรต่อสังคม ซึ่งนักข่าวบางคนสร้างทัศนคติอันตรายต่อสังคมก็ต้องยอมรับการกระทำของตนเองว่าได้สร้างทัศนคติทำลายความมั่นคงทางด้านวัฒนธรรม
“ใครที่ทำอะไรไม่เคยคิดถึงผลลัพธ์ของตนเองคือคนโง่ แต่คนที่จะทำอะไรแล้วคิดเสมอว่าทำไปแล้วเกิดอะไรขึ้นคือคนฉลาด”
อดีตคณบดีคณะวารสารศาสตร์ฯ มธ. ยังขอร้องคนนอกแวดวงการศึกษา เลิกคิดว่า อาจารย์ไม่สอนเรื่องจริยธรรม ซึ่งความจริงได้สอนทั้งที่มีชื่อวิชาโดยตรง และสอนแฝงในทุกวิชา ทว่า ปัญหาจริยธรรมย่ำแย่ขณะนี้เกิดจากการถูกกลืนในระบบธุรกิจสื่อต่างหาก
ก่อนทิ้งท้ายด้วยบทเพลงในทำนอง ‘รู้ว่าเขาหลอก’ ให้เจ็บช้ำเล่น ๆ ว่า "จริยธรรมสูงค่า แต่ราคาแสนต่ำ ช้ำหรือเปล่าคิดดู ทุกคำสอนที่ให้เขาอยู่ หรือจะสู้น้ำเงิน เป็นคนงานเป็นลูกจ้าง นายปูทางให้เดิน นายพบบ่อทอง นายพบบ่อเงิน นายก็เมินคุณค่า เขาให้มากเราก็ให้เขาหมด จริยธรรมหยดหายไป หัวใจหวิวคุณธรรมไร้ค่า เพราะเงินค่าแท้จริง"
หนุนสื่อไทยมีหลักจริยธรรมถ้วนหน้า
ด้าน "ภัทระ คำพิทักษ์" ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เป็นอีกหนึ่งบุคคลที่ขับเคลื่อนเรื่องจริยธรรมสื่อมาอย่างต่อเนื่อง มองเห็นปัญหาจริยธรรมถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยอยู่บ่อยครั้ง แต่ไม่ค่อยชัดเจนนัก โดยพบผู้สอนในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ยังเข้าไม่ถึงข้อมูลปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกฎหมายหรือเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพแวดล้อม อีกอย่าง มีการพูดถึงการทำสื่อในแง่ธุรกิจน้อยเกินไปด้วย ทั้งหมดจึงเป็นช่องว่างที่สำคัญ
ประธานสภาการหนังสือพิมพ์ฯ ยอมรับว่า การทำสื่อปัจจุบันมีเรื่องธุรกิจเกี่ยวข้อง ไม่ได้ทำเพื่อการกุศล แต่ต้องพูดให้ชัดว่า การทำธุรกิจสื่อนั้นต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย พร้อมยกหลัก ‘กำแพงศักดิ์สิทธิ์’ ระหว่างฝ่ายเจ้าของและกองบรรณาธิการ (บก.) ซึ่งไทยมีเพียงบางองค์กร โดยจะศึกษาการตั้งกำแพงนี้ในกอง บก.ต่อรองกับเจ้าของควรมีหน้าตาอย่างไร และจำเป็นต้องมีบุคคลภายนอกหรือไม่
เขาบอกด้วยว่า ต้องส่งเสริมให้แต่ละองค์กรมีจริยธรรม เหมือนไทยพีบีเอสที่มีจริยธรรมองค์กร จริยธรรมกอง บก. เช่นเดียวกับในญี่ปุ่นที่มีการรวมตัวทุกระดับ และแต่ละสมาคมล้วนมีข้อผูกพันกับสังคม แต่ไทยไม่มีเลย จึงหวังว่าจะมีการส่งเสริมให้เกิดขึ้นในอนาคต และสร้างการมีส่วนร่วมของผู้รับสื่อ ตลอดจนสร้างจินตภาพให้ชัดเจนด้วย
“ทุกวันนี้คนอยากเป็นผู้ประกาศข่าวมาก เพราะได้เป็นดาราเซเลป มีรายได้จากการโฆษณา แต่จินตภาพจริง ๆ ที่ได้จากวิชาชีพนี้คืออะไร จะต้องพูดให้ชัดเจน” ภัทระ กล่าว และว่า การสอนที่สำคัญ คือ สอนด้วยการเล่าเรื่อง ซึ่งมีความสำคัญมาก
ด้าน รศ.สดศรี เผ่าอินจันทร์ อดีตคณบดี คณะการสื่อสารมวลชน ม.เชียงใหม่ (มช.) ระบุเป็นคนหนึ่งที่เรียกร้องให้จัดตั้งสภาวิชาชีพกลางขึ้น หรือร่มใหญ่ เพราะต้องยอมรับว่า สังคมเวลานี้ไม่ใช่ยุคยูโทเปียที่มีแต่คนดี ทุกอย่างดีไปหมด ถ้าจะไม่ให้มีก็ต้องกำกับดูแลกันเองอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ คำว่า จริยธรรม มิได้หมายถึง ดีชั่ว แต่หมายถึงสิ่งที่พึงประพฤติปฏิบัติ เช่น ต้องนำเสนอเนื้อหาที่ดี ประเทืองปัญญา มีสาระสอดแทรกบ้าง
“คุณธรรมจริยธรรมจะกลายเป็นจิตวิญญาณของสื่อ อย่าไปคิดว่า สภาวิชาชีพชุดใหญ่จะมาจากคนทำสื่อฝ่ายเดียว แต่ต้องมีผู้ทรงคุณวุฒิด้วย” นักวิชาการ มช. กล่าว และว่า องค์กรร่มเล็กก็ต้องสรรหากรรมการอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่พวกมากลากไป ใครเป็นสื่อใหญ่ได้เข้ามาเยอะ คนของสื่อยักษ์ใหญ่ทำไม่ดีก็ปล่อยผ่าน กรณีเช่นนี้ต้องปฏิรูปให้หมด อย่าหวังพึ่งกฎหมายอย่างเดียว
คนทำสื่อต้องร่ำรวยด้วยจริยธรรม
ขณะที่ "ก่อเขต จันทเลิศลักษณ์" ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย พูดถึงการสอนเรื่องจริยธรรมสื่อในสถานศึกษาว่า ต้องสอนตั้งแต่ระดับประถมศึกษา ทุกโรงเรียน ทุกมหาวิทยาลัย ไม่เฉพาะวิชานิเทศศาสตร์หรือวารสารศาสตร์เท่านั้น เพราะอย่าลืมว่า สื่อปัจจุบันมีผู้จบมาจากสาขาวิชาอื่นด้วย นอกจากนี้ต้องสร้างการเรียนรู้ชีวิตของสื่อที่มีอุดมการณ์ บอกเล่าประวัติของคนวงการนี้ให้อยู่ในการศึกษาของเด็กรุ่นใหม่ เพื่อหวังสร้างแรงบันดาลใจ
มิใช่เวลาผ่านไป 10 ปี หาคนมีอุดมการณ์และเป็นแรงบันดาลใจไม่ได้เลย คนรุ่นใหม่ต่างหันมาเรียนรู้บุคคลที่ประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุน้อย มีเงินจำนวนมากจากการทำสื่อ หากปล่อยเป็นเช่นนี้จะทำให้คนรุ่นใหม่คิดว่า เรียนวารสารศาสตร์เพื่อก้าวสู่ความร่ำรวย ทั้งนี้ ไม่ปฏิเสธคนทำสื่อต้องจนเสมอไป แต่ต้องรวยด้วยจริยธรรม
สุดท้าย ต้องทำให้คนรุ่นใหม่หรือคนในวิชาชีพ แม้กระทั่งเจ้าของสื่อตระหนักว่า การมีจริยธรรมเป็นทางรอด มิเช่นนั้นสังคมจะไม่เชื่อถือ ตรงกันข้ามขณะนี้เห็นว่าคนไม่มีจริยธรรมกลับรวยเอา ๆ นั่นเป็นเพราะสิ่งแวดล้อมหรือบริบทของสังคมมิได้เอื้อต่อการสร้างกรอบจริยธรรม ดังนั้นจะเกิดขึ้นต่อเมื่อขับเคลื่อนไปพร้อมกันทั้งสังคม .