มาเลย์- อินโดฯ เสนอให้ที่พักชั่วคราว โรฮีนจา 1 ปี
มาเลเซีย-อินโดนีเซีย เห็นพ้องร่วมกันไม่ผลักดันเรือผู้อพยพกลับสู่ทะเลอีก พร้อมเสนอให้ที่พักชั่วคราวผู้อพยพโรฮีนจา ขณะที่ไทยยังสงวนท่าทีในการให้ความช่วยเหลือ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลการพบหารือระหว่างพลเอกธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ดาโต๊ะ ซรี อะนิฟาห์ อามาน รัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซีย และนางเร็ตโน เลสตารี เปรียนซารี มาร์ซูดี รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย เกี่ยวกับปัญหาการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในภูมิภาค ที่เมืองปุตราจายา ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมานั้น การพบหารือรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเห็นพ้องถึงความจำเป็นของการช่วยชีวิตผู้ย้ายถิ่นในทะเลซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนเฉพาะหน้าตามหลักมนุษยธรรม ซึ่งจะต้องอยู่บนพื้นฐานของการรับผิดชอบร่วมกัน (International burden sharing) และเป็นไปตามกฎหมายและกฎระเบียบของแต่ละประเทศ
ที่ประชุมรัฐมนตรี เห็นถึงความจำเป็นในการป้องกันปัญหาในระยะกลางและยาวอย่างยั่งยืน การแก้ไขปัญหาต้องครอบคลุมรอบด้านและเป็นความพยายามร่วมกัน จึงเรียกร้องให้ประเทศต้นทาง ทางผ่าน และปลายทางในภูมิภาค รวมทั้งประชาคมระหว่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศผู้ให้และองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง แสดงออกถึงความจริงใจที่จะร่วมมือกันแก้ไขปัญหา นำเสนอทางเลือกที่ปฏิบัติร่วมกันได้ โดยไม่ปล่อยให้เป็นภาระของประเทศใดประเทศหนึ่ง
พร้อมกันนี้ มาเลเซียและอินโดนีเซีย ยังเห็นร่วมกันจะไม่ผลักดันเรือผู้อพยพกลับสู่ทะเลอีก และเสนอให้ที่พักชั่วคราว ขณะที่ประชาคมโลกต้องจัดการเรื่องกระบวนการตั้งถิ่นฐานใหม่และการส่งกลับภายในเวลา 1 ปี ขณะที่ไทยยังสงวนท่าทีในการให้ความช่วยเหลือ
สำหรับการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศ ที่ประเทศมาเลเซีย และรัฐบาลไทยมีกำหนดจัดการประชุมว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดียปลายเดือนนี้ที่กรุงเทพฯ นั้น ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ หัวหน้าสาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวกับสำนักข่าวอิศราว่า การประชุมทั้งหมดมีข้อดี อย่างน้อยก็เห็นว่า ปัญหาโรฮิงจา การโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติทางทะเล โดยเฉพาะในอ่าวเบงกอลที่เพิ่มขึ้น ไม่ใช่เป็นปัญหาของประเทศใดประเทศหนึ่ง การประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศ ก็ไม่มีประเทศต้นทางอย่างเมียนม่าอยู่ แต่ข้อดีการประชุมปลายเดือนที่กรุงเทพ เมียนม่ามาด้วย
“เรื่องทั้งหมดคนที่เดินออกจากบ้าน ออกมาทำไม หากไม่ได้รับทุกข์ ฉะนั้นต้องไปแก้ที่ต้นเหตุ มิเช่นนั้นจะจัดการลำบาก ทำอย่างไรให้เมียนม่า เห็นคนโรฮีนจาเป็นพลเมืองเมียนม่ามากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่”
ศ.ดร.ชัยวัฒน์ กล่าวถึงกรณีที่แต่ละประเทศในช่วงที่ผ่านมา พยายามผลักดันเรือโรฮีนจาออกจากน่านน้ำของประเทศตนเองนั้น เป็นเหตุผลง่ายมาก เพราะมองจากผลประโยชน์ของรัฐ และความมั่นคงของรัฐ ฉะนั้นคนเหล่านี้อาจเป็นภัยคุกคาม หน้าที่รัฐคือการผลักดันออกไป
"แต่หากมองในสายตาพลเมืองโลก เราอาจต้องทำให้เห็นว่า จริงเราเห็นความสำคัญของผลประโยชน์ของรัฐ และความมั่นคงของชาติ แต่อย่าลืมโรฮีจาที่อยู่ในเรือเป็นเด็กหญิงเด็กชาย เป็นธรรมดาที่มีทุกข์มีสุข ดังนั้น เงื่อนไขอะไรก็แล้วแต่เพื่อไม่ให้บุคคลเหล่านี้เสียชีวิตไปมากกว่านี้อาจเป็นสิ่งที่จำเป็นที่ ต้องทำอย่างไรไม่ประนีประนอมมากนักกับผลประโยชน์ของชาติ หรือความมั่นคงของประเทศ อันนี้เป็นสิ่งที่ต้องคิดไปด้วยกัน ไม่ใช่อย่างใดอย่างหนึ่ง อาจต้องคิดทั้งสองอย่างพร้อมกัน"
เมื่อถามทำไมเราแคร์คนโรฮีนจา น้อยกว่าคนเนปาลนั้น ศ.ดร.ชัยวัฒน์ กล่าวด้วยว่า อาจเริ่มต้นคำถามว่า เราเป็นใคร อาจเริ่มต้นจากว่า เราเป็นพุทธ และโรฮินจา ไม่ใช่ อีกทั้งเนปาลเป็นแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ส่วนหนึ่งของพุทธศาสนิกชนจึงมีความใกล้ชิดกัน คนไทยอาจคุ้นกับการเดินทางไปจาริกแสวงบุญ อันนี้เลยบอกเราว่า เวลาเราคิดถึงคนอื่นในฐานะพลเมืองโลก เราจึงคิดไม่เหมือนกัน แต่คิดตามสิ่งที่เราเป็น
ที่มาภาพ:http://www.mfa.go.th