OECD เผย 'คิดเป็น' ทักษะการทำงานที่นายจ้างต้องการมากที่สุด
OECD เปิดผลสำรวจพบนายจ้างยุคใหม่ต้องการลูกน้อง คิดเก่ง-คิดสร้างสรรค์ มาอันดับ 1 สสค.ร่วม 12 ประเทศ พัฒนาเครื่องมือส่งเสริมและประเมินทักษะคิดได้-คิดสร้างสรรค์ก่อนนำร่อง 12 ประเทศ ก.ย.นี้
เมื่อเร็วๆนี้ ณ สำนักงานใหญ่องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ประเทศฝรั่งเศส เชิญ ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายเศรษฐศาสตร์การศึกษา สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมประชุมนานานาชาติว่าด้วยการพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์และความคิดสร้างสรรค์ของเด็กเยาวชน โดยมีผู้บริหารหน่วยงานการศึกษาและนักวิชาการจากทั่วโลกกว่า 12 ประเทศมาร่วมกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์และกำหนดแนวทางการสร้างเครือข่ายการวิจัยนานาชาติ และสร้างเครื่องมือส่งเสริมและประเมินเพื่อพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์และความคิดสร้างสรรค์ของเด็กเยาวชนในในระดับโรงเรียน
โดยข้อมูลล่าสุดในการสำรวจความต้องการจากนายจ้างที่ประสบความสำเร็จในประเทศสมาชิกกว่า 34 ประเทศของ OECD พบว่า นายจ้างคาดหวังให้ลูกจ้างมีทักษะด้านการคิดวิเคราะห์และความคิดสร้างสรรค์สูงสุด OECD จึงมีแผนจะให้การสนับสนุนการวิจัยและเริ่มทดลองใน 100 โรงเรียนนับแต่ปลายปีนี้เป็นระยะเวลา 3-5 ปี โดยมี 10 โรงเรียนในประเทศไทยเข้าร่วมการวิจัยดังกล่าว
“เป็นเรื่องที่น่าตกใจว่า ระบบการศึกษาในปัจจุบันยังขาดเครื่องมือในการฝึกฝนและวัดประเมินทักษะการคิดวิเคราะห์และความคิดสร้างสรรค์ที่เป็นทักษะที่ทำให้คิดเป็น ซึ่งเป็นทักษะการทำงานที่นายจ้างต้องการมากที่สุดอย่างเป็นระบบ
ทั้งนี้ OECD เชิญสสค.เข้าร่วมเครือข่ายวิจัยระดับนานาชาตินี้ เพราะเชื่อมั่นในขีดความสามารถทางวิชาการด้านการส่งเสริมการพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 จากงานวิจัยที่ทำต่อเนื่องมาเป็นเวลา 3 ปี ร่วมกับคณะนักวิจัยนำโดย ดร.ธันยวิช วิเชียรพันธ์ จนมีเครือข่ายครูและโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการหลายสิบโรงเรียนจากทุกภูมิภาค
สำหรับคู่มือพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ของทีมงาน ดร.ธันยวิช มียอดดาวน์โหลดจาก www.qualitylearning.org สูงกว่า 10,000 ครั้งภายในเวลาเพียงไม่ถึง 1 ปี โดยหลังจากสสค.และ OECD ร่วมกันพัฒนาเครื่องมือแล้วเสร็จจะมีการนำร่องใช้ใน 12 ประเทศตั้งแต่ ก.ย.58 นี้