สนช.เปิดเวทีถกหาแนวทางแชร์ข้อมูลการรักษาคนไข้ระหว่างรพ.
อนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาระบบสารสนเทศด้านมาตรฐานข้อมูลชี้หากมีการเปิดเผยข้อมูลประวัติการรักษาคนไข้ระหว่างโรงพยาบาล มีโอกาสสูงรักษาชีวิตคนไข้ ไม่ต้องมาเสียเวลาส่งต่อ แนะควรมีกฎหมายบังคับใช้เพื่อรักษาข้อมูลของคนไข้
19 พฤษภาคม 2558 คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ร่วมกับคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาระบบสารสนเทศด้านมาตรฐานข้อมูลการแพทย์ จัดเสวนาเรื่อง “ข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคลเปิดแค่ไหน ปิดอย่างไร ให้ผู้ป่วยได้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ณ ห้องรับรอง1-2 ชั้น 3 อาคารรัฐสภา 2
นพ.รัฐพลี ภาคอรรถ อนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาระบบสารสนเทศด้านมาตรฐานข้อมูลการแพทย์ กล่าวถึงการแชร์ข้อมูลหรือประวัติการรักษาคนไข้ระหว่างโรงพยาบาลจะทำให้สามารถรักษาชีวิตคนไข้ไว้ได้มาก ที่ผ่านมาในระบบการรักษาเสียเวลาและเสียคนไข้ไปกับการส่งต่อหลายโรงพยาบาล เช่น มีกรณีคนไข้ที่มีอาการบาดเจ็บรอบหัวเข่า 10-25% สามารถต่อเส้นเลือดได้ภายใน 6 ชั่วโมง แต่เฉลี่ยการส่งต่อผู้ป่วยโดยประมาณใช้ระยะเวลาถึง 15 ชั่วโมง นั่นหมายความว่า การส่งต่อผู้ป่วยจากโรงพยาบาลที่ 1 มาสู่โรงพยาบาลที่2 และ3 ใช้เวลาค่อนข้างมาก
"หากโรงพยาบาลแรกสามารถแชร์ประวัติการเจ็บป่วยของคนไข้ให้โรงพยาบาลที่ 2 ได้ ผ่านข้อมูลสารสนเทศก็จะทำให้ประเมินการรักษาได้รวดเร็วและจะได้รู้ศักยภาพว่าสามารถที่จะรักษาพยาบาลได้หรือไม่ หากไม่ได้ก็จะได้รีบส่งให้โรงพยาบาลจุฬา ศิริราช หรือรามาธิบดีต่อได้ทันที"
นพ.รัฐพลี กล่าวว่า การเพิ่มข้อมูลทางการรักษานั้นจะต้องเคารพสิทธิทั้งของประชาชน และบุคลากร จึงจำเป็นที่จะต้องสร้างกติกาเพื่อรักษาประโยชน์สูงสุดจากการคิดใช้ดิจิตอลไพรเวซี่ (Digital Privacy)ด้วย
ด้านนายไพศาล ลิ้มสถิต ที่ปรึกษาอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาระบบสารสนเทศด้านมาตรฐานข้อมูลการแพทย์ กล่าวถึงกฎหมายไทยเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลด้านสุขภาพนั้น คือ พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 7 ซึ่งระบุไว้ว่า “ข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคล เป็นความลับส่วนบุคคล ผู้ใดจะนำไปเปิดเผยในประการที่น่าจะทำให้บุคคลนั้นเสียหายไม่ได้ เว้นแต่การเปิดเผยนั้นเป็นไปตามความประสงค์ของบุคคลนั้นโดยตรง หรือมีกฎหมายเฉพาะบัญญัติให้ต้องเปิดเผย แต่ไม่ว่ากรณีใดๆ ผู้ใดจะอาศัยอำนาจหรือสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการ หรือกฎหมายอื่นเพื่อขอเอกสารเกี่ยวกับข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคลที่ไม่ใช่ของตนไม่ได้”
นายไพศาล กล่าวว่า ดังนั้นหากจะให้เกิดการใช้ข้อมูลการรักษาร่วมกันระหว่างโรงพยาบาลจึงจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. .... โดยขอบเขตการบังคับใช้กฎหมายต้องเป็นกฎหมายกลางที่ใช้กับภาครัฐ และภาคเอกชน (ภาคธุรกิจ) ในการร่างพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ควรมีผู้ทรงคุณวุฒิไม่น้อยกว่ากรรมการโดยตำแหน่ง โดยเฉพาะด้านข้อมูลสุขภาพ และควรให้ความสำคัญกับข้อมูลส่วนบุคคลด้านสุขภาพที่เป็น sensitive data มากกว่าข้อมูลส่วนบุคคลทั่วไป โดยมีหลักเกณฑ์เฉพาะในเรื่องนี้
“ทั้งนี้ควรมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการส่งเสริมสิทธิของเจ้าของข้อมูล และควรกำหนดให้มีโทษปรับทางปกครองในบางกรณี เพราะเป็นมาตรการทางกฎหมายที่มีประสิทธิภาพมากกว่าโทษอาญา และในการบังคับใช้กฎหมายควรมีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเป็นการเฉพาะ”
เมื่อถามว่า กฎหมายฉบับนี้มีความเป็นไปได้ในการนำมาใช้มากน้อยเพียงใด นายไพศาล กล่าวว่า รัฐบาลชุดปัจจุบันให้ความสำคัญกับการร่างพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. .... เป็นอย่างมากเพราะเกี่ยวข้องกับการทำงานในระบบดิจิตอล ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลด้วย ดังนั้นกฎหมายฉบับนี้น่าจะแล้วเสร็จในรัฐบาลชุดนี้ และจากการศึกษาข้อมูลจากประเทศอังกฤษที่มีการใช้การเปิดเผยข้อมูลคนไข้ระหว่างโรงพยาบาล พบว่า เขามีกฎหมายค่อนข้างชัดเจน ซึ่งได้พยายามเอาแนวทางนั้นมาปรับใช้กับของประเทศไทย
ส่วนในอนาคตจะมีค่าใช้บริการหรือไม่ นายไพศาล กล่าวว่า ต้องดูอีกครั้งหนึ่ง แต่หากเป็นการให้ข้อมูลการรักษาระหว่างโรงพยาบาลไม่มีปัญหาในเรื่องค่าใช้จ่าย
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าในการแสดงความคิดเห็นของแพทย์ที่เข้าร่วมเสวนาต้องการให้การเปิดเผยข้อมูลคนไข้นั้นสามารถใช้ได้ทั้งในระบบโรงพยาบาลรัฐต่อรัฐ และโรงพยาบาลรัฐต่อเอกชน หากจะมีการแก้กฎหมายก็ควรจะทำให้มีประสิทธิภาพด้วย