พลิก 6 คดีในศาลฎีกาฯก่อนคิว‘ยิ่งลักษณ์’ 4 อดีตนายกฯ 5 รมต. ‘จำเลย’
อัพเดท 6 คดีนักการเมืองใหญ่ในศาลฎีกาฯ ก่อนไต่สวน“ยิ่งลักษณ์”ปมทุจริตโครงการรับจำนำข้าว 19 พ.ค.58 คนเครือญาติชินวัตรอดีตนายกฯตกเป็นจำเลย 3 คนจาก 4 คน และ 5 อดีต รมต. – เสี่ยชูชีพ หาญสวัสดิ์ -วิทยา เทียนทอง คิวล่าสุด
ไฮไลต์ความเคลื่อนไหวทางการเมืองวันที่ 19 พ.ค.58 ด้านหนึ่งจะอยู่ที่คิวปรากฏตัวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในคดีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถูกอัยการสูงสุดฟ้องในข้อกล่าวหากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่ในการระงับความเสียหายโครงการรับจำนำข้าว (คดีหมายเลขดำที่ อม.22/2558) โดยศาลฎีกาฯนัดพิจารณาคดีนัดแรก 09.30 น. ล่าสุดมีเสียงยืนยันจากคนใกล้ชิดว่าอดีตนายกฯ “เดินทางไปศาลฯแน่”
อย่างไรก็ตาม ในบริบทของคดีที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูล กรณีอัยการสูงสุดเป็นโจทก์ฟ้อง และกรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช.ฟ้องเอง อยู่ในสาระบบของศาลฎีกาฯ นอกจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์แล้วมีอีก 5 คดี (ไม่รวมคดีความผิดเกี่ยวกับการบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองท้องถิ่น) ได้แก่
1. คดีหมายเลขดำที่ อม.3/2555 อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ 1 กับพวกรวม 27 คน จำเลย ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ (คดีทุจริตปล่อยเงินกู้ธนาคารกรุงไทย) นัดไต่สวนพยานครั้งต่อไป 20 พ.ค.58
2. คดีหมายเลขดำที่ อม.3/2556 คณะกรรมการ ป.ป.ช. โจทก์ นายนพดล ปัทมะ อดีต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ และที่ปรึกษากฎหมายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จำเลย ความผิดตำแหน่งหน้าที่ราชการ ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ใดผู้หนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ในกรณีที่นายนพดลไปลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ฉบับลงวันที่ 18 มิ.ย. 51 ที่สนับสนุนให้ประเทศกัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกโดยไม่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาไทย นัดไต่สวนพยานครั้งต่อไป 5 มิ.ย.58
3.คดีหมายเลขดำที่ อม.2/2558 ป.ป.ช. เป็นโจทก์ยื่นฟ้องยื่นฟ้องนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. และพล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีต ผบช.น. เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และพ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 295 และ 302 กรณีเมื่อวันที่ 7 ต.ค.51 รัฐบาลนายสมชายได้มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ที่ปิดล้อมทางเข้ารัฐสภา กระทั่งเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และมีผู้บาดเจ็บ 471 ราย นายธนฤกษ์ นิติเศรณี ประธานแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เจ้าของสำนวน นัดพิจารณาคดีนัดแรก 29 พ.ย.58
4. คดีหมายเลขดำที่ อม.25/2558 อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายภูมิ สาระผล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ 1 และนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ 2 กับพวก อีก 19 ราย ร่วมกันเป็นจำเลยรวม 21 ราย ฐานทุจริตโครงการ ระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) นายธนฤกษ์ นิติเศรณี ประธานแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกาเป็นเจ้าของสำนวน นัดพิจารณาคดีนัดแรก หรือนัดฟังคำพิพากษา 29 มิ.ย.58
5.คดีหมายเลขดำที่ อม.27/2558 ระหว่างอัยการสูงสุด โจทก์ นายชูชีพ หาญสวัสดิ์ ที่ 1 นายวิทยา เทียนทอง ที่ 2 จำเลย ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 กรณีร่วมกันทุจริตซื้อปุ๋ยอินทรีย์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดว่านายชูชีพ หาญสวัสดิ์ ขณะดำรงตำแหน่ง รมว.เกษตรและสหกรณ์ และนายวิทยา เทียนทอง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง เลขานุการ รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ร่วมกันกระทำผิด ศาลฎีกาฯนัดพิจารณาครั้งแรก 6 ก.ค.58 เวลา 09.30 น. มีนายปริญญา ดีผดุง ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา เป็นผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน
ในจำนวนทั้งหมด 6 คดีเป็นคดีที่คนเครือญาติชินวัตร อดีตนายกฯตกเป็นจำเลย 3 คน (จากอดีตนายกฯ 4 คน มี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ด้วย) และเป็นอดีตรัฐมนตรี 5 คน (ไม่รวม พล.อ.ชวลิต อดีตรองนายกฯ)
ในช่วงที่ผ่านมา อดีตรัฐมนตรีถูกศาลฎีกาฯสั่งจำคุกมีมาแล้ว อาทิ นายประชา มาลีนนท์ อดีต รมช.มหาดไทย คดีทุจริตจัดซื้อรถดับเพลิง นายวัฒนา อัศวเหม อดีต รมช.มหาดไทย คดีคลองด่าน ส่วนอดีตนายกฯ มีมาแล้ว 1 คนในคดีจัดซื้อที่ดินรัชดาฯ