คตร.เตือน!"บิ๊กตู่"ก่อนใช้ม.44เยียวยาชาวนาพิจิตร 52.8 ล.ไม่ควรใช้งบรัฐจ่าย
เปิดละเอียด มติ นบข. ชง “พล.อ.ประยุทธ์” ใช้ ม.44 จ่ายเงินเยียวยา-เอาเรื่องคนโกงข้าวชาวนาพิจิตร 229 ราย 52.8 ล้าน พบ คตร. แนะเป็นเรื่องของประชาชน รัฐไม่ควรจ่าย หลังศาลพิจิตรพิพากษาให้เอกชนจ่ายเงินชดใช้คืนชาวนา 94 ราย 19 ล้านแล้ว
ในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2558 มติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน เห็นชอบจ่ายเงินเยียวยาชาวนาพิจิตรที่ถูกโกง 229 ราย ประมาณข้าว 4,419.7 ตัน วงเงินกว่า 52.8 ล้านบาท
โดยเตรียมใช้มาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เพื่อจ่ายเงินเยียวยาไปก่อน ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นผู้ดำเนินการ โดยไม่จำเป็นต้องรอให้คดีความสิ้นสุด
ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติตาม นบข. ที่เสนอให้ใช้มาตรา 44 จ่ายเงินเยียวยาแล้ว
ทั้งที่ คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ เสนอว่า ไม่ควรจ่าย
เพราะเป็นเรื่องของประชาชน !
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำรายงานการประชุม นบข. ที่พล.อ.ฉัตรชัย สาลิกัลยะ รมว.พาณิชย์ ทำหนังสือมติที่ประชุมเสนอต่อ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกฯ เพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีรายละเอียด ดังนี้
คณะอนุกรรมการติดตามกำกับดูแลการบริหารจัดการข้าวระดับจังหวัดพิจิตร สรุปความเสียหายของเกษตรกรที่ต้องได้รับความช่วยเหลือจำนวน 229 ราย ปริมาณ 4,479.101 ตัน จำนวนเงิน 52,835,531 บาท
สำหรับการดำเนินคดีนั้น องค์การตลาดเพื่อการเกษตร (อ.ต.ก.) ได้รายงานว่า เกษตรกร จำนวน 94 ราย ปริมาณ 1,614.390 ตัน วงเงิน 19,209,779 บาท ได้ยื่นฟ้องนายมุนินทร์ จันทรา นายอำนาจ ตันเสถียร และบริษัท แอลโกลด์แมนูแฟคเจอร์ จำกัด และท่าข้าวหัวดง ทั้งคดีอาญาและคดีแพ่ง
ซึ่งศาลพิจิตรชั้นต้นได้พิจารณาเรื่องดังกล่าว และมีคำพิพากษา เมื่อปลายเดือน ส.ค. 2557 ว่า นายมุนินทร์ นายอำนาจ บริษัท แอลโกลด์ฯ มีความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน สั่งจำคุกนายอำนาจ และนายมุนินทร์ เป็นเวลา 3 ปี และให้ร่วมกันคืนข้าวเปลือกหรือใช้ราคาแก่ผู้เสียหาย รวมเป็นเงิน 19,209,779 บาท
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ โดยกองนิติการ กรมการค้าภายใน ได้พิจารณาดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย โดยหารือเป็นการภายในกับอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ และมีความเห็นพ้องว่า เงินเยียวยากับเงินค่าเสียหายที่ได้รับจากคำพิพากษาเป็นคนละส่วนกัน เป็นสิทธิ์โดยชอบตามกฎหมายของผู้เสียหายในคดี
อย่างไรก็ดีการเยียวยาเป็นการใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน ควรสอบถามหน่วยงานเจ้าของเงินเพื่อความชัดเจนอีกครั้ง และหารือว่าหากรัฐจะประสงค์เข้ารับเงินค่าเสียหายแทนเกษตรกร หรือให้เกษตรกรชดใช้เงินคืนรัฐบาล และมีกฎหมาย ระเบียบ คำสั่ง หรือหลักเกณฑ์ วิธีการที่กำหนดไว้เป็นพิเศษหรือไม่ ทั้งนี้ได้มีหนังสือถึงสำนักงบประมาณเพื่อขอหารือในประเด็นดังกล่าวแล้ว
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) เสนอความเห็นว่า เหตุการณ์ดังกล่าว เป็นการฉ้อโกงระหว่างประชาชนกับประชาชน หากมีการแจ้งความดำเนินคดี และชดเชยค่าเสียหายไม่ควรใช้งบประมาณของรัฐ หากจะมีการช่วยเหลือควรจะให้คดีได้ข้อยุติก่อน และมีความชัดเจนว่าจะมีการชดใช้เงินคืนรัฐอย่างไร
ทั้งนี้ นบข. ได้พิจารณาเรื่องดังกล่าวแล้ว มีมติว่า
1.มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการ นบข. นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อรับทราบผลการตรวจสอบข้อมูลที่คลาดเคลื่อนของเกษตรจังหวัดพิจิตร ซึ่งต้องได้รับการช่วยเหลือเยียวยาตามผลการตรวจสอบของคณะอนุกรรมการระดับพิจิตร ร่วมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2558 มีเกษตรที่ต้องได้รับการเยียวยาทั้งสิ้น 229 ราย ปริมาณ 4,479.101 ตัน วงเงิน 52,835,531 บาท
2.มอบหมายฝ่ายเลขานุการประสานสำนักงบประมาณพิจารณานำเสนอนายกรัฐมนตรีโดยเร่งด่วน เพื่อพิจารณาอนุมัติเงินงบกลางรายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเพื่อช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรข้างต้น ตามนัยมติคณะรัฐมนตรี โดยให้ ธ.ก.ส. เป็นผู้ดำเนินการจ่ายเงินเยียวยาให้เกษตรต่อไป
3.การจ่ายเงินเยียวยาเกษตรกรจังหวัดพิจิตร และ/หรือการดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิดกฎหมายฐานฉ้อโกงเกษตรกรจังหวัดพิจิตร กรณีมีปัญหาหรือมีความจำเป็นทางข้อกฎหมาย ขอให้นำมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 มาใช้ดำเนินการก่อน เพื่อให้เกษตรกรจังหวัดพิจิตรได้รับการช่วยเหลือเยียวยาโดยเร็ว โดยไม่ต้องรอให้คดีความยุติก่อน
ล่าสุด ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ลงมติรับทราบมติ นบข. แล้ว ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ
สำหรับงบประมาณเพือการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรจังหวัดพิจิตร 229 ราย เป็นเงินจำนวนทั้งสิ้นกว่า 52.8 ล้านบาท ให้เบิกจ่ายงบประมาณจาก ธ.ก.ส. หากงบประมาณไม่เพียงพอให้ใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2558 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น โดยขอทำความตกลงในรายละเอียดกับสำนักงบประมาณตามขั้นตอนต่อไป
ทั้งนี้มอบหมายให้คณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ ของ คสช. ติดตามการใช้จ่ายงบประมาณให้เป็นไปด้วยความโปร่งใส และตรวจสอบได้ด้วย
หมายเหตุ : ภาพประกอบ พล.อ.อนันตพร จาก ASTVmanager, พล.อ.ประยุทธ์ จาก sanook