จำนำข้าว .. ‘รูรั่วแสนล้าน’?
วันที่ 7 ต.ค. ดีเดย์เริ่มต้นอภิมหาโครงการรัฐบาลยิ่งลักษณ์ งบประมาณถึง 4.3 แสนล้านบาท “โครงการรับจำนำข้าว” นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม พรรคประชาธิปัตย์ รมว.พาณิชย์เงา ออกมาติติง-ตั้งข้อสังเกตถึงสารพัด “รูรั่ว” ที่อาจจะทำให้เกิดปัญหาขึ้นในการปฏิบัติจริง
ไม่ว่าจะเป็น 1.ชาวนาเข้าโครงการไม่หมด 2.ได้เงินไม่ถึง 1.5 หมื่น/ตัน และ 3.เกิดการทุจริต
“หลักคิดของโครงการรับจำนำข้าวคือการดูดซับข้าวส่วนเกินในตลาด เพื่อพยุงไม่ให้ราคาตกต่ำ เนื่องจากข้าวเป็นสินค้าแบบ Seasonal (ออกตามฤดูกาล) ข้าวนาปี ช่วงพฤศจิกายน-ธันวาคม จะออกมาเยอะมากๆ เวลาจำนำจึงไม่ควรสูงกว่าราคาตลาด เช่น ราคาตลาด 9,000 บาท/ตัน อาจจะรับจำนำที่ 8,000 – 8,500 บาท/ตันแต่ช่วงหลังมีการเมืองมาแทรกเลยรับจำนำสูงกว่าราคาตลาด การไถ่ถอนเลยไม่เกิดขึ้น” นพ.วรงค์ระบุ
และว่า ปัญหาของโครงการจำนำเกิดจากภาครัฐไปตั้งโต๊ะซื้อข้าวเองไม่ได้ จึงต้องจ้างโรงสีให้เข้าร่วมโครงการ แล้วต้องส่งคนไปตรวจสอบ ในหลักการนั้นดี แต่ในการปฏิบัติ หากคิดหาประโยชน์เข้าตัวเอง ก็จะเป็นการเปิดช่องให้เกิดการร่วมทุจริตระหว่าง “พ่อค้าคนกลางหรือโรงสี-เจ้าหน้าที่รัฐ-นักการเมือง” กลายเป็น “3 ประสาน” แห่งการทำนาบนหลังชาวนา!
หมอวรงค์แบ่งวิธีทุจริตโครงการนี้เป็น “ไตรภาค” ตามเส้นทางเดินของข้าว ดังนี้
ภาคแรก..เมื่อชาวนาเอาข้าวไปโรงสี
“เวลานี้ชาวบ้านเกี่ยวข้าวขายหนีน้ำ โรงสีก็จะจ้างชาวนาเอาใบประทวนมาสวมสิทธิ หรืออาจจะมีผู้มีอิทธิพลไปขนข้าวจากชายแดนเข้าประเทศ จากนั้นเอาไปพักไว้ที่ใดที่หนึ่ง ก่อนนำมาสวมสิทธิขายให้กับรัฐบาล ท้ายที่สุดคือการจำนำลม คือไม่มีข้าวไปจำนำแต่จ่ายเงินออกไป..คือมันเงินทั้งนั้น การตวัดลายเซ็นในใบประทวนก็คือเงิน อยู่มาวันหนึ่งก็ให้ชาวนาไปเซ็นใบประทวน โดยไม่มีข้าวมาจำนำจริง”
กระบวนการทุจริตช่วงต้น ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการสวมสิทธิในใบประทวนทั้งสิ้น ไม่ว่าจะใช้ข้าวโรงสี ข้างต่างประเทศ หรือข้าวลม
“ในใบประทวนจะต้องมีคนเซ็นรับ อาทิตัวแทนชาวนา ตัวแทนเจ้าหน้าที่รัฐ จากองค์การคลังสินค้า (อคส.) ไม่ก็องค์การตลาดเพื่อการเกษตร (อ.ต.ก.) ตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในใบจะระบุว่าเอาข้าวมาจำนำกี่ตัน ดังนั้นถ้าเจ้าหน้าที่รัฐไม่รู้เห็น ก็คงจะทุจริตลำบาก”
อีกปัญหาที่จะตามมาขั้นตอนนี้ คือ การใช้สูตรคำนวณที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์คำนวณมา อาทิ ในพื้นที่นั้นๆ ผลผลิตในการทำนา 1 ไร่ ได้ข้าวกี่กิโลกรัม อาทิ ภาคเหนือได้ไร่ละ 490 กิโลกรัม ภาคอีสานได้ไร่ละ 510 กิโลกรัม เป็นต้น
“ปัญหาคือรัฐบาลเคยหาเสียงไว้ว่า จะรับจำนำข้าวทุกเมล็ด จึงต้องดูว่าจะให้จำนำตามโควตาหรือทุกเมล็ด เพราะข้อเท็จจริงชาวบ้านทำนา 1 ไร่ได้ข้าว 60-70 ถัง (ข้าวเปลือก 1 ถัง = 15 กิโลกรัม ) ก็มี จึงเป็นทางสองแพร่งที่รัฐบาลจะเดินลำบาก”
นพ.วรงค์เผยว่า อีกวิธีที่ใช้คือการกดดันชาวนา เพราะครั้งนี้รัฐบาลให้โรงสีร่วมโครงการเพียง 650 โรง จากทั้งหมด 3,000 โรง ขณะที่ท่าข้าวอีก 3,000 แห่ง ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมเวลาข้าวมามากๆ จะกลายเป็นคอขวด ที่อาจทำให้เกิดปัญหาเหมือนในอดีตคือเอาข้าวไปเที่ยงวันกว่าจะได้ชั่งก็เที่ยงคืน สุดท้ายชาวบ้านก็ขี้เกียจ หรือรอไม่ไหวก็ยอมขายเงินสด ทำให้ถูกกดราคา แล้วยังอาจถูกหลอกให้เซ็นใบประทวนไปสวมสิทธิอีกด้วย กลายเป็นโดนทั้งขึ้นทั้งล่อง
ภาคสอง...การบริหารจัดการสต๊อกข้าว
“โกดังหรือไซโลเก็บข้าวจะมี 2 แบบ คือ เก็บข้าวเปลือกและข้าวสาร รัฐบาลนี้บอกว่าจะให้สีข้าวเปลือกเป็นข้าวสารทุกๆ 10 วัน เพราะการเก็บข้าวเปลือกจะเสียค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บในอดีตเคยเกิดปัญหาเมื่อราคาข้าวในตลาดแพง โรงสีก็จะเลือกเอาข้าวดีๆ ของรัฐบาลมาขาย เสร็จแล้วก็ไปซื้อข้าวถูกๆ มาเทใส่แทน..ก็มันไม่มีใครรู้นี่ (เลยทำกัน)”
ในหลักการก็มีการจ้าง “เซอร์เวเยอร์” เป็นตัวแทนมาทำหน้าที่ตรวจสอบ แต่ก็กลายเป็นการเพิ่ม “ตัวละคร” ให้กับวงจรอุบาทว์ทำนาบนหลังคนนี้มากขึ้น เพราะคนเหล่านี้จะมารับเงินหรือกินหัวคิวอีกต่อ
“มีครั้งหนึ่งผมเคยไปร่วมตรวจโกดัง ปรากฏว่าข้างนอกเป็นข้าว แต่ข้างในเป็นแกลบทั้งหมด เพราะข้าวแค่ 1 ล้านตันถือว่ามหาศาลมาก ยิ่งถ้าราคาข้าวจับพลัดจับผลูดีขึ้นมา ในโรงสีก็อาจจะมีแต่แกลบก็ได้”?!
ภาคสุดท้าย...การประมูลเพื่อส่งออก
นพ.วรงค์บอกว่า วิธีทุจริตขั้นตอนนี้ก็เหมือนที่เคยอื้อฉาวในอดีต คือ การฮั้วกันในหมู่ผู้ประมูลให้ราคาข้าวที่ได้ต่ำ จากนั้นก็นำเงินมายัดใส่มือนักการเมือง เวลาประมูลระบายข้าวแต่ละครั้งจึงมีข่าวว่ารัฐบาลขาดทุนครั้งละเป็นหมื่นๆ ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีปัญหากับการส่งออก เพราะข้าวซื้อมาราคาแพง เวลาขายก็ต้องให้ราคาสูง จึงมีการประเมิณว่าไทยอาจสูญเสียตลาดส่งออกไปกว่า 30%
“ในโครงการนี้เมื่อข้าวหลุดจากมือชาวนาทุจริตได้ทุกกระบวนการ เพราะรัฐบาลต้องเปลี่ยนบทบาทมาเป็นพ่อค้าจำเป็น เราเสียดายเงิน 4.1 แสนล้านบาท ที่จะเอามาใช้รับจำนำข้าว 25 ล้านตัน เมื่อบวกค่าบริการจัดการอีก 2.5 หมื่นล้านบาท เบ็ดเสร็จ 4.35 แสนล้านบาท มากที่สุดในประวัติศาสตร์ เพราะก่อนนี้เต็มที่ก็ใช้ไม่เกิน 1 แสนล้านบาท แล้วยังมีนักวิชาการประเมิณความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้นจากโครงการนี้ว่า จะมีราว 1.5-2.5 แสนล้านบาท” รมช.พาณิชย์เงา ประชาธิปัตย์ กล่าวทิ้งท้าย
ที่มาภาพ : http://dektube.com/action/viewarticle/25132