ถอดปมเงื่อนบึ้มป่วนยะลา
เหตุระเบิดป่วนเมืองยะลา ณ ปี 2558 ต้องนับว่ายืดเยื้อที่สุดเท่าที่เคยเกิดมา
โดยปกติการสร้างสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอด 11 ปี (นับตั้งแต่ปี 2547) แต่ละจุดแต่ละพื้นที่มักเกิดเหตุรวดเดียวจบ แม้บางกรณีเป็นเหตุต่อเนื่อง มีระเบิดหลายลูก มีลอบยิงสลับ แต่ก็จะเกิดขึ้นในห้วงเวลาเดียว ไม่ยืดเยื้อข้ามวัน
กระทั่งเมื่อปี 2557 คือ เหตุระเบิดกลางเมืองยะลา 4 จุด เมื่อวันที่ 6 เมษายน โดยหนึ่งในนั้นเป็นคาร์บอมบ์ใกล้กับร้านราชาเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งเป็นย่านเศรษฐกิจ จนมีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก สร้างความตื่นตระหนกไปทั่ว พอรุ่งเช้าก็มีเหตุในลักษณะ "อาฟเตอร์ช็อค" ตามมาอีก เป็นระเบิดลูกเล็กๆ อีกหลายลูก หลายจุด จนผู้คนอกสั่นขวัญหาย
ขณะที่เหตุระเบิดเสาไฟฟ้าแรงสูงเพื่อดับเมืองปัตตานี เมื่อ 25 พฤษภาคม 2557 หลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำรัฐประหารได้ 3 วัน จนไฟฟ้าดับครึ่งเมือง แม้จะมีระเบิดตามมาอีกกว่า 20 ลูกเช่นกัน แต่เหตุการณ์ก็ไม่ยืดเยื้อ ความเดือดร้อนที่ตามมาในวันรุ่งขึ้นคือประชาชนไม่มีไฟฟ้าใช้ และเจ้าหน้าที่พบวัตถุระเบิดที่ไม่ทำงานอีกหลายลูก
นั่นเป็น 2 เหตุการณ์ป่วนใหญ่เมื่อปีที่แล้ว แต่ข้อน่าสังเกต คือ การก่อเหตุรุนแรงโดยใช้ระเบิดเป็นปฏิบัติการต่อเนื่องอย่างน้อยแค่ข้ามคืนเท่านั้น ทว่าเหตุระเบิดป่วนเมืองยะลาครั้งนี้ เริ่มมีเสียงกัมปนาทลูกแรกเมื่อค่ำวันพฤหัสบดีที่ 14 พฤษภาคม ต่อเนื่องเกือบตลอดทั้งวันของวันศุกร์ที่ 15 พฤษภาคม กระทั่งเช้าวันเสาร์ที่ 16 พฤษภาคม ก็ยังมีระเบิดและเพลิงไหม้บริเวณตึกแถวไม้ร้านราชาเฟอร์นิเจอร์ หน้า "เซฟตี้ โซน" กลางเมืองยะลา
นี่คือพัฒนาการของการก่อเหตุรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งแม้ฝ่ายความมั่นคงจะประโคมข่าวว่าภาพรวมดูดีขึ้น แต่หากพิจารณาในรายละเอียดแล้วจะพบข้อเท็จจริงสวนทาง
ประเด็นต่อมาที่ทุกฝ่ายถามไถ่กันก็คือ อะไรคือสาเหตุที่ทำให้เกิดระเบิดในลักษณะป่วนเมืองยะลาครั้งใหญ่?
เบื้องต้นต้องยอมรับว่าสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ระยะหลังอธิบายยากมากขึ้นทุกทีว่าเกิดจากเหตุปัจจัยใดแน่ เพราะไม่ใช่เรื่องของขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนอย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว แต่มีพวกรับจ้างหวังเงิน กลุ่มแก๊งเครือข่ายธุรกิจผิดกฎหมาย รวมไปถึงพวกสมุนรับใช้นักการเมือง ที่คอยผสมโรงจุดไฟอยู่เป็นระยะ
ดังเช่นเหตุคาร์บอมบ์ที่เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา จนถึงป่านนี้ก็ยังหาข้อสรุปอันเป็นที่ยอมรับตรงกันทุกฝ่ายไม่ได้ว่า เป็นเรื่องของขบวนการแบ่งแยกดินแดนต้องการแสดงศักยภาพ หรือมีกลุ่มการเมืองบงการอยู่เบื้องหลังกันแน่
นี่ยังไม่นับบางเหตุการณ์ที่ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นการกระทำของฝ่ายรัฐเองอีกต่างหาก...
ฉะนั้นการวิเคราะห์จึงต้องรับฟังข้อมูลตรงจากผู้รับผิดชอบในพื้นที่เป็นหลัก เพราะถือว่าใกล้ชิดกับสถานการณ์มากที่สุด
โดยเฉพาะจากการประเมินของ พลโทปราการ ชลยุทธ แม่ทัพภาคที่ 4 ที่ระบุสาเหตุสั้นๆ เอาไว้ 2 ประการจากการสัมภาษณ์ช่วงหลังเกิดเหตุสดๆ ร้อนๆ
1.เป็นการตอบโต้ฝ่ายความมั่นคงที่ปฏิบัติการจับกุมแนวร่วมก่อความไม่สงบได้หลายราย รวมทั้งมีเหตุยิงปะทะจนก่อความสูญเสีย
ประเด็นนี้ถือว่ามีน้ำหนัก เพราะตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมามีการเปิดปฏิบัติการเชิงรุกของฝ่ายความมั่นคงจริง โดยเฉพาะเหตุปะทะที่อำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี เมื่อค่ำวันพุธที่ 13 พฤษภาคม มีการวิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องหาคดีความมั่นคงคนสำคัญ 1 ราย และจับกุมอีก 1 ราย ทั้งคู่มีหมายจับที่ออกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) และเกี่ยวข้องกับเหตุรุนแรงหลายเหตุการณ์
โดยเหตุปะทะดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนเหตุระเบิดป่วนเมืองยะลาเพียงไม่ถึง 24 ชั่วโมง
ส่วนการจับกุมบุคคลต้องสงสัยทั้งมีหมายจับและไม่มีหมายจับช่วงก่อนหน้านี้นั้น มีประเด็นที่น่าจับตาและสร้างความไม่พอใจให้บางฝ่ายในพื้นที่ ก็คือ การติดตามจับกุมและวิสามัญฆาตกรรมบุคคลที่ฝ่ายความมั่นคงอ้างว่าเกี่ยวข้องกับเหตุคาร์บอมบ์ที่สมุย ซึ่งจนถึงปัจจุบันเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวได้แล้วหลายคน บางคนมีบทบาทเคลื่อนไหวในพื้นที่เปิดด้วย แต่คดีกลับไม่มีความคืบหน้าชัดเจนนัก นอกจากใช้เป็นเครื่องมือกล่าวหากันทางการเมือง
2.เป็นการก่อเหตุเชิงสัญลักษณ์ ประเด็นนี้ก็มีน้ำหนักไม่น้อยเช่นกัน เพราะหากไล่ดูเหตุระเบิดป่วนเมืองยะลา จนถึงขณะนี้กว่า 30 จุดแล้ว ปรากฏว่าเป้าหมายส่วนใหญ่เป็นร้านค้าของพี่น้องไทยพุทธและไทยจีน
รูปแบบการวางระเบิดเป็นแบบล็อคเป้าหมาย ระเบิดที่ใช้เป็นชนิดแสวงเครื่อง มีทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ โดยระเบิดลูกใหญ่มุ่งทำลายเสาไฟฟ้าแรงสูง ตั้งใจให้ไฟฟ้าดับทั้งเมือง แล้วมีระเบิดลูกเล็กๆ ตามมาเพื่อสร้างความตื่นกลัว
ยุทธวิธีแบบนี้ ฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบเคยทำมาแล้ว เมื่อครั้งเหตุการณ์ดับเมืองปัตตานี เมื่อ 25 พฤษภาคม 2557
หากพิจารณาในแง่นี้ ก็มีความเป็นไปได้ว่าการก่อเหตุระเบิดป่วนเมืองยะลาไม่ได้เกี่ยวโยงกับเหตุปัจจัยอื่นที่เป็นปัจจัยภายนอกเท่าใดนัก แต่เป็นแผนงานปกติของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงที่ต้องการสร้างสถานการณ์ตามจังหวะและเวลาจะเอื้ออำนวย
แน่นอนว่าผลของมันก็คือการดิสเครดิตฝ่ายความมั่นคง โดยเฉพาะเหตุระเบิดและเพลิงไหม้ช่วงเช้าของวันเสาร์ที่ 16 พฤษภาคม บริเวณตึกแถวไม้ร้านราชาเฟอร์นิเจอร์ จุดเกิดเหตุอยู่บริเวณทางเข้า "เซฟตี้โซน" ซึ่งมีจุดตรวจของฝ่ายปกครองตั้งอยู่ใกล้ๆ
สำหรับเหตุปัจจัยอื่นๆ ที่มีการวิเคราะห์กัน แต่มีน้ำหนักน้อยกว่า 2 ประเด็นแรก ก็คือ
หนึ่ง การตอบโต้กระบวนการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยสมมติฐานคือ ขบวนการบีอาร์เอ็นซึ่งเป็นขบวนการใหญ่ที่สุดและน่าเชื่อว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่มากที่สุด แสดงท่าทีไม่เข้าร่วมกระบวนการพูดคุย
ประเด็นนี้ดูเหมือนจะมีน้ำหนัก เพราะล่าสุดกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ 6 กลุ่ม ซึ่งอ้างว่ามีตัวแทนจากบีอาร์เอ็นร่วมอยู่ด้วย ได้เตรียมเปิดตัว "องค์กรร่ม" ชื่อว่า MARA Patani ขึ้น เพื่อเป็น "องค์กรตัวแทน" กลุ่มผู้เห็นต่างทั้งหมด ทำหน้าที่พูดคุยดับไฟใต้กับรัฐบาลไทย
แต่คนวงในของกลุ่มผู้เห็นต่างบอกว่า บุคคลที่อ้างเป็นตัวแทนบีอาร์เอ็นนั้น ไม่ใช่ตัวจริง และไม่ได้รับมติจาก "สภาองค์กรนำของบีอาร์เอ็น" ให้ไปร่วมขบวนพูดคุย
ฉะนั้นหากบีอาร์เอ็นต้องการก่อเหตุรุนแรงเชิงสัญลักษณ์ เพื่อปฏิเสธการพูดคุยที่ตนเองไม่ได้เห็นชอบด้วย ก็น่าจะมีความเป็นไปได้
ทว่าข่าววงในจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมานี้เอง โมเดล MARA Patani ที่กลุ่มผู้เห็นต่าง 6 กลุ่มตั้งขึ้นมาเพื่อดำเนินการพูดคุยกับรัฐบาลไทย โดยมีผู้อำนวยความสะดวกอย่างมาเลเซียให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่นั้น ได้ถูกปฏิเสธอย่างไร้เยื่อใยจาก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.แล้ว
ถ้าข่าวนี้มีมูล และบีอาร์เอ็นรับรู้ ก็ไม่เห็นต้องเหนื่อยสร้างสถานการณ์เพื่อล้มกระบวนการพูดคุยที่ตนเองไม่อยากร่วม
อีกเรื่องที่มีการพูดถึงกันว่าอาจเป็นสาเหตุของระเบิดป่วนเมืองยะลา คือ การสร้างสถานการณ์เพื่อกลบกระแสข่าวฉาวเรื่องค้ามนุษย์โรฮิงญา ซึ่งมีเจ้าหน้าที่รัฐหลายหน่วยเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยจำนวนมาก โดยเฉพาะสีกากีที่ถูกย้ายพ้นเก้าอี้มีร่วมร้อยนาย แต่ประเด็นนี้มีน้ำหนักค่อนข้างน้อย เพราะเจ้าหน้าที่ที่โดนย้ายทั้งหมดล้วนอยู่นอกพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
เรื่องสุดท้ายที่มองข้ามไม่ได้เลยก็คือ "เรื่องการเมือง" เพราะสัปดาห์หน้าจะถึงวาระครบรอบ 1 ปีการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ของคณะ คสช. การเกิดเหตุรุนแรงในห้วงนี้ จึงเท่ากับฉีกหน้า คสช.และรัฐบาลทหารที่มีจุดแข็งด้านความมั่นคง
ทั้งหมดนี้คือความซับซ้อนซ่อนเงื่อนของสถานการณ์และปัญหาที่ชายแดนใต้ ซึ่งนับวันจะขยายปมมากขึ้น และแก้ไขยากขึ้นทุกที!
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : เหตุการณ์บึ้มป่วนเมืองยะลา (ขอบคุณภาพจาก กู้ภัยแม่กอเหนี่ยวยะลา)