ค้านกระจุย! “พท.-ปชป.”กอดคอวิพากษ์ รธน.ใหม่ทำการเมืองไร้เสถียรภาพ
จัดเต็ม! เวที กมธ.การเมือง สปช. เชิญ 74 พรรคการเมือง-กลุ่มการเมือง-ภาคประชาชน ร่วมถกร่าง รธน.ใหม่ ค้านเพียบ 4 ปม “กลุ่มการเมืองลงเลือกตั้ง-เลือกตั้ง ส.ส. โอเพนลิสต์-ที่มานายกฯ-ที่มา ส.ว.”
จบลงไปหมาด ๆ สำหรับงาน “แสดงความคิดเห็น” ต่อรัฐธรรมนูญ “ฉบับท็อปบู้ต” ของบรรดา 74 พรรคการเมือง กลุ่มการเมือง และภาคประชาชน จัดขึ้นโดย คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปการเมือง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)
แม้ว่างานวันนี้จะจืดชืดไปนิด เนื่องจากไม่มีรายชื่อระดับ “บิ๊กเนม” เข้าร่วมก็ตาม
นอกจากนี้ส่วนใหญ่มีแต่บรรดา “พรรคเล็กพรรคน้อย” ขึ้นชี้แจงแสดงความเห็น ซึ่งเรียกเสียงฮือฮา และตลกขบขันให้แก่ กมธ.ปฏิรูปการเมือง บรรดาผู้เข้าร่วมงาน และผู้สื่อข่าวได้บางครั้งคราว
แต่ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ค่อนข้างดี ในการ “รับฟัง” ความเห็นจาก “ผู้ประสบภัยโดยตรง” นั่นก็คือ “นักการเมือง” และ “ภาคประชาชน”
โดยเฉพาะ 2 พรรคใหญ่ “เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์” ที่ส่ง “สามารถ แก้วมีชัย” และ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์-บุญยอด สุขถิ่นไทย” เข้าร่วมด้วย
สำหรับประเด็นหลักในการวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีอยู่ 4 ประเด็น ได้แก่ 1.เปิดโอกาสให้กลุ่มการเมืองได้รับการเลือกตั้ง 2.การเลือกตั้ง ส.ส. ระบบแบบสัดส่วนผสม หรือ “โอเพนลิสต์” 3.ที่มาของนายกรัฐมนตรี และ 4.ที่มาของ ส.ว.
เพื่อให้เห็นภาพ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เรียบเรียงเหตุการณ์-บรรยากาศภายในงานมานำเสนอ ดังนี้
ภายหลังการกล่าวเปิดงานโดย “สมบัติ ธำรงธัญวงศ์” ประธาน กมธ.ปฏิรูปการเมือง บรรดานักการเมืองก็เปิดฉากวิพากษ์กรณีเปิดโอกาสให้ “กลุ่มการเมือง” ได้รับการเลือกตั้งทันที
ไม่ว่าจะเป็นพรรคเล็กพรรคใหญ่ ล้วนเห็นพ้องเป็นเสียงเดียวกัน “ค้าน” ไม่ให้ “กลุ่มการเมือง” ได้รับโอกาสการเลือกตั้ง !
โดย “จุรินทร์” มองว่า การเปิดโอกาสให้กลุ่มการเมืองเข้าร่วมนั้น จะทำให้เกิดผลเสีย 4 ประเด็น ได้แก่ 1.เกิดการเมือง 2 มาตรฐาน 2.ย้อนยุคกลับไปสู่ประชาธิปไตยครึ่งใบ ทำให้การเมืองไร้เสถียรภาพ นำไปสู่การยึดอำนาจอีกครั้ง 3.ประชาชนเสียผลประโยชน์ และ 4.สนองเกมการเมืองแบบเฉพาะกิจ
“สุดท้ายจะทำให้เกิดวงจรอุบาทว์ ย้อนยุคไปสู่รูปแบบที่เราเคยได้รับบทเรียนมาแล้ว”
(อ่านประกอบ : ปชป.ไม่เห็นด้วยกลุ่มการเมืองลงเลือกตั้ง-ชี้ย้อนยุคสู่ประชาธิปไตยครึ่งใบ)
ต่อมา ประเด็นการเลือกตั้ง ส.ส. แบบ “โอเพนลิสต์” ที่ทั้งนักการเมือง และภาคประชาชนมองว่า “ยุ่งยาก-สร้างปัญหา”
กรณีนี้ “สามารถ” อธิบายว่า เจตนาการส่ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อคือต้องการให้พรรคใช้บุคลากรที่เหมาะสม มีคุณวุฒิในการทำงานที่สภา และคนเหล่านี้ไม่เหมาะกับการเป็น ส.ส. เขต ดังนั้นถ้าใช้ระบบโอเพนลิสต์จะยุ่งยาก รวมถึงการเลือก ส.ส. บัญชีรายชื่อแบบเดิม ประชาชนมีประสบการณ์ และตกผลึกแล้วด้วย
ส่วน “จุรินทร์” ยืนยันหนักแน่นว่า การเลือกตั้งแบบโอเพนลิสต์ ถือเป็นการจำกัดอำนาจของประชาชน เพราะแทนที่ประชาชนจะมีสิทธิเลือก ส.ส. บัญชีรายชื่อที่มีอยู่ในเขตนั้น แต่ถูกจำกัดให้เลือกได้แค่คนเดียว คะแนนเดียว
(อ่านประกอบ : พท.-ปชป.ประสานเสียงค้าน! เลือกตั้ง “โอเพนลิสต์”-ซัดจำกัดอำนาจปชช.)
ต่อมา เป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด และอภิปรายยาวนานมากที่สุด กินเวลาเกือบหนึ่งชั่วโมงเต็ม นั่นคือ กรณีที่มาของนายกรัฐมนตรี
โดยหลายฝ่ายมองว่าเป็นการ “เปิดช่อง” ให้ “คนนอก” ได้เข้ามาเป็นนายกฯอย่างง่ายดายราวปอกกล้วยเข้าปากช้าง
ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์เซ็งแซ่ของผู้เข้าร่วมงาน ต่างบอกเป็นหนึ่งเดียวกันว่า “ไม่เอา” !
ขณะที่ “พรรคสีแดง-สีฟ้า” ในงานนี้ “งดตี” กันชั่วคราว หันหน้า “จูบปาก” ยืนยัน “คัดค้าน” ที่มานายกฯแบบนี้เช่นกัน
“ถ้าเขียนแบบนี้ ถือว่าเป็นการเขียนแบบสายล่อฟ้าทำให้เกิดวิกฤติ” อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย ระบุ
(อ่านประกอบ : “เพื่อไทย”เปรียบรธน.สายล่อฟ้าชนวนก่อวิกฤติเปิดช่อง“นายกฯคนนอก”)
แต่สิ่งที่เรียกเสียงปรบมือเกรียวกราวได้ภายในงาน กลับเป็นคำพูดของ “สมศักดิ์ โกศัยสุข” อดีตหัวหน้าพรรคการเมืองใหม่ ที่ตอบโต้เรื่อง “การเล่นนอกกติกา” ของคนบางฝ่ายทำให้ประเทศไทยเข้าสู่จุดนี้ว่า
“สาเหตุที่เกิดวิกฤติเพราะนักการเมืองมันเลวเกินไป มีคอร์รัปชั่นเป็นที่ประจักษ์ ประชาชนเดินขบวนประท้วงซึ่งใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญอย่างสันติ แต่กลับยังหน้าด้านอยู่ต่อ ความผิดทั้งปวงให้ดูตัวเองเสียด้วย ถ้าเป็นนักการเมืองจะไม่พูดแบบนี้ เพราะทำให้บ้านเมืองเสียหายมาพอแล้ว เพราะฉะนั้นเวลาจะเลือก ส.ส. ที่ได้รับเสียงจากประชาชน ก็น่าจะมีสติปัญญาสักหน่อย ก็น่าจะรู้ว่าเอาคนนอกไปทำไม”
พร้อมสำทับว่า “เห็นด้วย” กับกรณีที่มานายกฯคนนอก
หลังจากนั้นเป็นเรื่องของที่มา ส.ว. ที่บรรดาภาคประชาชน และอดีต ส.ว. ดาหน้าออกมาโจมตีว่า “ไม่ยึดโยงกับประชาชน”
“พรรคเพื่อไทย” ออกโรงค้านหัวชนฝา ยืนยันว่า ส.ว. ควรมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด เพราะ ส.ส. และ ส.ว. คือตัวแทนจากประชาชน
ตรงกันข้ามกับ “พรรคประชาธิปัตย์” ที่ไม่ได้อภิปรายในประเด็นดังกล่าว
นอกจากนี้เป็นประเด็นการตรวจสอบถ่วงดุล ซึ่ง “จุรินทร์” อภิปรายคัดค้านได้อย่างถึงพริกถึงขิง โดยระบุว่า เป็นการเพิ่มอำนาจให้กับ “นายกฯ” เกินเหตุ ซึ่งควรจะตัดมาตรา 181, 182 และ 274 ทิ้งเสีย
ขณะที่ประเด็นการทำประชามติรัฐธรรมนูญ ต่างแบ่งออกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเห็นว่า สมควรทำประชามติ เนื่องจากการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ประชาชนไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ส่วนอีกฝ่ายมองว่า ทำไปก็เสียงบประมาณเปล่า ๆ
ส่วน “พรรคเพื่อไทย-พรรคประชาธิปัตย์” ไม่แสดงความคิดเห็นในประเด็นนี้แต่อย่างใด
ทั้งหมดคือประเด็นหลักที่บรรดา “พรรคเล็ก-พรรคใหญ่-ภาคประชาชน” ต่างร่วมหัวจมท้าย “คัดค้าน” กันเสียงเซ็งแซ่
ต้องติดตามว่าเสียงเหล่านี้จะได้ยินไปยัง “36 อรหันต์” กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ หรือไม่
หรือจะปล่อยให้เป็นเพียงแค่ "สายลม" ที่พัดผ่านมาแล้วก็ผ่านไปเท่านั้น !