ถึงเวลาขึ้นเงินเดือน"ตุลาการ-อัยการทหาร"ภายใต้พ.ร.บ.ศาลทหารฉบับใหม่
"...เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหารพ.ศ. ๒๔๙๘ ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน บทบัญญัติหลายมาตราไม่เหมาะสมกับกาลสมัยเนื่องจากโครงสร้างและกิจการทางทหารได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และบทบัญญัติบางมาตราไม่สอดคล้องกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา.."
ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่กฎหมายฉบับหนึ่ง ที่มีความสำคัญต่อการพิจารณาคดีความในประเทศไทยในส่วนของศาลทหาร
กฎหมายฉบับนี้ มีชื่อว่า พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2558
ระบุว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลทหารจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร (ฉบับที่ ๘) พ.ศ. ๒๕๕๘”
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. ๒๔๙๘และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๔ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกข้อบังคับและระเบียบเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ข้อบังคับและระเบียบนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้”
มาตรา ๔ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสี่ของมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. ๒๔๙๘
“ระเบียบราชการของศาลทหารและอัยการทหารตามวรรคสามให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา”
มาตรา ๕ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๑๑/๑ แห่งพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. ๒๔๙๘
“มาตรา ๑๑/๑ ให้ตุลาการพระธรรมนูญและอัยการทหารได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งโดยเปรียบเทียบกับค่าตอบแทนและเงินประจำตำแหน่งของผู้พิพากษาหรือตุลาการศาลอื่น และพนักงานอัยการ แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามระเบียบที่กระทรวงกลาโหมกำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง”
มาตรา ๖ ให้ยกเลิกความใน (๓) ของมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหารพ.ศ. ๒๔๙๘ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“(๓) คดีที่ต้องดำเนินในศาลเยาวชนและครอบครัว”
มาตรา ๗ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๙ แห่งพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหารพ.ศ. ๒๔๙๘ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๐๒ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคมพ.ศ. ๒๕๑๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๑๙ ศาลจังหวัดทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาได้ทุกบทกฎหมายเว้นแต่คดีที่จำเลยมียศทหารชั้นสัญญาบัตร”
มาตรา ๘ ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา ๒๔ แห่งพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. ๒๔๙๘ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๒๔ ศาลทหารสูงสุดมีอำนาจพิจารณาพิพากษาบรรดาคดีที่อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลทหารกลาง และคดีที่อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลทหารชั้นต้นโดยตรงไปยังศาลทหารสูงสุด ตามบทบัญญัติว่าด้วยการอุทธรณ์และฎีกาตามพระราชบัญญัตินี้”
มาตรา ๙ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๔๕/๑ แห่งพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหารพ.ศ. ๒๔๙๘
“มาตรา ๔๕/๑ ในกรณีที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาบัญญัติให้จ่ายเงินรางวัลค่าตอบแทน ค่าป่วยการ ค่าพาหนะเดินทาง ค่าเช่าที่พัก และค่าใช้จ่ายอย่างใด ๆ ไว้แก่ทนาย ล่าม พยานนักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ เจ้าพนักงานผู้ส่งหมาย หรือบุคคลอื่นใด การจ่ายเงินดังกล่าวให้เป็นไปตามระเบียบที่กระทรวงกลาโหมกำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง”
มาตรา ๑๐ ให้ยกเลิกความในลักษณะ ๒ การควบคุม มาตรา ๔๖ ของภาค ๕ วิธีพิจารณาความอาญาทหาร แห่งพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. ๒๔๙๘ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๒๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ลักษณะ ๒การควบคุมผู้ต้องหาในกรณีพิเศษ
มาตรา ๔๖ ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัยหรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นทำให้ไม่อาจร้องขอให้ศาลทหาร ที่มีอำนาจสั่งขังผู้ต้องหาซึ่งเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารตามมาตรา ๑๖ ได้ ให้ผู้บังคับบัญชาทหาร ซึ่งมีตำแหน่งตั้งแต่ผู้บัญชาการกองพลหรือเทียบเท่าขึ้นไปเป็นผู้มีอำนาจสั่งควบคุม ถ้าไม่มีผู้บังคับบัญชาทหารซึ่งมีตำแหน่งตั้งแต่ผู้บัญชาการกองพลหรือเทียบเท่าขึ้นไป หรือผู้ต้องหาอยู่ต่างท้องถิ่นกับผู้บังคับบัญชาทหารซึ่งมีตำแหน่งตั้งแต่ผู้บัญชาการกองพลหรือเทียบเท่าขึ้นไปก็ให้ผู้บังคับบัญชาทหารสูงสุด ณ ที่นั้น เป็นผู้มีอำนาจสั่งควบคุมผู้ต้องหาไว้ตามความจำเป็นและกำหนดระยะเวลาตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาว่าด้วยการขังเมื่อเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจำเป็นดังกล่าวในวรรคหนึ่งได้สิ้นสุดลงแล้ว ถ้ายังมีความจำเป็นที่จะต้องควบคุมผู้ต้องหาไว้ต่อไปอีก และการควบคุมนั้นยังไม่ครบกำหนดระยะเวลาตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาว่าด้วยการขัง ให้ร้องขอต่อศาลทหารที่มีอำนาจเพื่อสั่งขังผู้ต้องหานั้นต่อไปได้ให้นำความในวรรคหนึ่งและวรรคสองมาใช้บังคับแก่บุคคลตามมาตรา ๑๖ ซึ่งเป็นผู้ต้องหา ในคดีอาญาที่ไม่อยู่ในอำนาจศาลทหารตามมาตรา ๑๔ ด้วยโดยอนุโลมการควบคุมผู้ต้องหานี้ให้ถือว่าเป็นการควบคุมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา”
มาตรา ๑๑ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๕๖ แห่งพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. ๒๔๙๘ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๒๖ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๕๖ ภายใต้บังคับมาตรา ๕๕
(๑) ในคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายหรือไม่ถ้าไม่มีก็ให้ศาลตั้งทนายให้
(๒) ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุก ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายหรือไม่ ถ้าไม่มีและจำเลยต้องการก็ให้ศาลตั้งทนายให้ให้ศาลจ่ายเงินรางวัลและค่าใช้จ่ายแก่ทนายที่ศาลตั้งตามมาตรานี้ โดยคำนึงถึงสภาพแห่งคดีและสภาวะทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ตามระเบียบที่กระทรวงกลาโหมกำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง”
มาตรา ๑๒ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๖๐ แห่งพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหารพ.ศ. ๒๔๙๘ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๖๐ ห้ามมิให้พิพากษาหรือสั่งเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้องถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น เว้นแต่ข้อแตกต่างนั้นมิใช่ในข้อสาระสำคัญและทั้งจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลจะลงโทษ
จำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นก็ได้ ในกรณีที่ข้อแตกต่างนั้นเป็นเพียงรายละเอียด เช่น เกี่ยวกับเวลาหรือสถานที่กระทำความผิดหรือต่างกันระหว่างการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ฉ้อโกง โกงเจ้าหนี้ ยักยอกรับของโจร และทำให้เสียทรัพย์ หรือต่างกันระหว่างการกระทำผิดโดยเจตนากับประมาท มิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญ ทั้งมิให้ถือว่าข้อที่พิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ เว้นแต่จะปรากฏแก่ศาลว่าการที่ฟ้องผิดไปเป็นเหตุให้จำเลยหลงต่อสู้
แต่ทั้งนี้ศาลจะลงโทษจำเลยเกินอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดที่โจทก์ฟ้องไม่ได้ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงบางข้อดังกล่าวในฟ้อง และตามที่ปรากฏในทางพิจารณาไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษ ห้ามมิให้ศาลลงโทษจำเลยในข้อเท็จจริงนั้น ๆถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามฟ้องนั้นโจทก์สืบสม แต่โจทก์อ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิดศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยตามฐานความผิดที่ถูกต้องได้ถ้าความผิดตามที่ฟ้องนั้นรวมการกระทำหลายอย่าง แต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเองศาลจะลงโทษจำเลยในการกระทำผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่พิจารณาได้ความก็ได้”
มาตรา ๑๓ ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา ๖๑ แห่งพระราชบัญญัติธรรมนูญ ศาลทหาร พ.ศ. ๒๔๙๘ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๕ ลงวันที่ ๘ พฤศจิกายนพ.ศ. ๒๕๒๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๖๑ ภายใต้บังคับบทบัญญัติว่าด้วยการอุทธรณ์และฎีกาตามพระราชบัญญัตินี้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลทหารในเวลาปกติ โจทก์ จำเลย ผู้มีอำนาจแต่งตั้งตุลาการ หรือผู้มีอำนาจสั่งลงโทษ อาจอุทธรณ์หรือฎีกาได้ภายในสามสิบวัน ทั้งนี้ นับแต่วันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งให้จำเลยฟัง”
มาตรา ๑๔ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๖๑/๑ แห่งพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. ๒๔๙๘
“มาตรา ๖๑/๑ การอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย ให้อุทธรณ์โดยตรงไปยังศาลทหารสูงสุดแต่หากมีฝ่ายอื่นซึ่งมีสิทธิอุทธรณ์ ได้อุทธรณ์ปัญหาข้อเท็จจริงด้วย ให้ถือว่าผู้อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวอุทธรณ์ต่อศาลทหารกลางการอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่งให้ยื่นต่อศาลทหารชั้นต้น ให้ศาลทหารชั้นต้นพิจารณาและมีคำสั่งว่าเป็นการอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายต่อศาลทหารสูงสุดหรือไม่ในกรณีที่ศาลทหารชั้นต้นเห็นว่าเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ให้ส่งสำนวนไปยังศาลทหารกลางกรณีดังกล่าวผู้อุทธรณ์อาจยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลทหารชั้นต้นนั้นไปยังศาลทหารสูงสุดภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันฟังคำสั่งศาลทหารชั้นต้น ถ้าศาลทหารสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่าอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่งเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ให้ส่งสำนวนไปให้ศาลทหารกลางพิจารณาพิพากษาต่อไป”
มาตรา ๑๕ ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งและวรรคสองของมาตรา ๖๔ แห่งพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. ๒๔๙๘ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๑๑ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๖๔ ภายใต้บังคับมาตรา ๒๔๖ ถึงมาตรา ๒๔๘ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และมาตรา ๒๒ แห่งพระราชบัญญัติเรือนจำทหาร พุทธศักราช ๒๔๗๙ คำพิพากษาของศาลทหาร เว้นแต่ศาลอาญาศึกหรือศาลที่พิจารณาพิพากษาคดีแทนศาลอาญาศึกตามมาตรา ๔๐เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว ให้ผู้มีอำนาจสั่งลงโทษจัดการให้เป็นไปตามคำพิพากษา ถ้าเป็นคำพิพากษาของศาลทหารซึ่งนั่งพิจารณา ณ ศาลพลเรือนและมีผู้พิพากษาศาลพลเรือนเป็นตุลาการตามมาตรา ๓๗ให้บังคับคดีไปตามมาตรา ๒๔๕ วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาส่วนคำพิพากษาของศาลอาญาศึก หรือศาลที่พิจารณาพิพากษาคดีแทนศาลอาญาศึกตามมาตรา ๔๐ ให้ผู้มีอำนาจสั่งลงโทษจัดการให้เป็นไปตามคำพิพากษาได้ทีเดียว เว้นแต่ผู้ต้องคำพิพากษาให้ประหารชีวิตเป็นหญิงถ้ามีครรภ์อยู่ ให้รอไว้จนพ้นกำหนดสามปีนับแต่คลอดบุตร แล้วให้ลดโทษประหารชีวิตลงเหลือจำคุกตลอดชีวิตเว้นแต่เมื่อบุตรถึงแก่ความตายก่อนพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว ในระหว่างสามปีนับแต่คลอดบุตร ให้หญิงนั้นเลี้ยงดูบุตรตามความเหมาะสมในสถานที่ที่สมควรแก่การเลี้ยงดูบุตรภายในเรือนจำ”
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้ มีการระบุหมายเหตุว่า : เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหารพ.ศ. ๒๔๙๘ ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน บทบัญญัติหลายมาตราไม่เหมาะสมกับกาลสมัยเนื่องจากโครงสร้างและกิจการทางทหารได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และบทบัญญัติบางมาตราไม่สอดคล้องกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ดังนั้น สมควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติดังกล่าวเพื่อให้การใช้บังคับเหมาะสมกับสภาพการณ์ปัจจุบันและเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ สมควรกำหนดให้ตำแหน่งตุลาการพระธรรมนูญและอัยการทหารได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งเพื่อให้สามารถดำรงตนอยู่ในความยุติธรรมได้อย่างสมเกียรติจึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
--------
ทั้งหมดนี่ คือ ความเปลี่ยนแปลงของอำนาจ "ศาลทหาร" ที่เกิดขึ้นในยุคภายใต้การบริหารงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี