กทม. เดินหน้ารับฟังชุมชนได้รับผลกระทบโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
กทม. เดินหน้ารับฟังชุมชนที่กระทบจากโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ระบุไม่มีใครต่อต้าน ยินดีรับค่าชดเชย เตรียมประสานกรมธนารักษ์สร้าง 'บ้านมั่นคง' บนที่ราชพัสดุ เป็นทางเลือก
นายไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการกองควบคุมอาคาร สำนักการโยธา กทม. เปิดเผยถึงความคืบหน้าของโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาว่า ล่าสุดเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2558 ที่ผ่านมา ร.อ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม. มีมติเห็นชอบในหลักการโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ โดยมีกรอบวงเงินดำเนินการ 14,006 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 18 เดือน ซึ่งหากกทม. ได้รับมติ ครม. อย่างเป็นทางการผ่านกระทรวงมหาดไทย ก็จะดำเนินการจ้างที่ปรึกษาในการสำรวจและออกแบบรายละเอียดโครงการต่อไป
ในส่วนการลงพื้นที่เพื่อรับฟังความคิดเห็นประชาชนและสำรวจข้อมูลผลกระทบนั้น ผู้อำนวยการกองควบคุมอาคาร ระบุว่า กทม. ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงปัจจุบันลงพื้นที่แบบกลุ่มย่อยร่วมกับตัวแทนการเคหะแห่งชาติ และตัวแทนสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน มาแล้ว 4 ครั้ง ซึ่งครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 30 เมษายน ที่ผ่านมา เป็นการลงพื้นที่ครั้งใหญ่ที่สุด ณ ศาลเจ้าจุ้ยโบเนี้ยว (แม่ทับทิม) เขตดุสิต
โดยมีประชาชนกว่า 200 คน จาก 5 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนมิตรคาม 1 ชุมชนมิตรคาม 2 ชุมชนราชผาทับทิมร่วมใจ ชุมชนโรงไอศครีม และชุมชนหน้าศาลเจ้า มาร่วมประชุมและแสดงความคิดเห็น ซึ่งชาวชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยามีความเข้าใจในการดำเนินโครงการดังกล่าว ไม่ต่อต้านพร้อมทั้งยินดีรับค่าชดเชยที่ทางภาครัฐจะจัดให้
"ชาวชุมชนต้องการให้กทม. ประสานกับกรมธนารักษ์ เพื่อจัดหาพื้นที่ราชพัสดุ เพื่อให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) เข้าไปดำเนินการโครงการก่อสร้างบ้านมั่นคง และให้รัฐบาลสนับสนุนค่าก่อสร้างบางส่วน" นายไทวุฒิ กล่าว เเละว่า อย่างไรก็ดี กทม.จะนำข้อมูลจากการเคหะฯ มาจัดทำบอร์ดว่า ยังมีโครงการบ้านเอื้ออาทรที่ยังมีห้องว่างที่ใดบ้าง พร้อมแจ้งราคา เพื่อเป็นทางเลือกและข้อมูลในการตัดสินใจให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบ
ทั้งนี้ จากการสำรวจมีชุมชนที่รุกล้ำ จำนวน 286 หลังคาเรือน ประชากรประมาณ 800 คน ซึ่งการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ชุมชน เจ้าของสถานที่ และผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจะดำเนินการไปเป็นระยะ เพื่อหาแนวทางในการชดเชยเยียวยาที่เหมาะสมต่อไป .