พบสารก่อมะเร็งอื้อ บารากู่ ทั้งยาฆ่าแมลง ฟอมาลีน นิโคติน
สคบ.ห้ามขาย ห้ามนำเข้า และให้บริการสินค้าบารากู่ บุหรี่ไฟฟ้าเด็ดขา ยันฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย ด้านสมาพันธ์ชมรมคุ้มครองผู้บริโภค ระบุ มีผลิตภัณฑ์ออกใหม่ มาหลอกเงินจากวัยรุ่นอีกแล้ว
วันที่ 14 พฤษภาคม 2558 สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคร่วมกับ สมาพันธ์คุ้มครองผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร สำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ กรมการค้าต่างประเทศ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ร่วมอภิปราย เรื่อง “บารากู่ สินค้าอันตราย” ณ โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ
พญ.ปานทิพย์ โชติเบญจมาภรณ์ ผู้อำนวยการ สำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า บารากู่ เป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมในกลุ่มวัยชาย ซึ่งเพิ่มจำนวนการใช้มากขึ้นระยะเวลา 2 ปี เป็น 44% ปัจจุบัน มีวางจำหน่ายอย่างแพร่หลายบนโลกโซเซียลมีเดีย และบริเวณใกล้เคียงกับโรงเรียน ทั้งยังมีการโฆษณาชวนเชื่อว่า ไม่มีพิษภัย เพราะทำมาจากผลไม้แห้ง มีกลิ่นหอม เป็นสมุนไพร ไม่มีนิโคตินเหมือนบุหรี่ทั่วไป สูบแล้วไม่ติด และยังสร้างความเชื่อว่าจะเลิกบุหรี่ได้ง่ายขึ้น นั้นเป็นความเชื่อผิดๆ และยังหาซื้อได้ง่าย
“ทาง สคบ.และศูนย์เฝ้าระวังและพิสูจน์สินค้าที่ไม่ปลอดภัย ได้ลงพื้นที่สุ่มเก็บตัวอย่างโดยใช้วิธีการล่อซื้อบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้าและนำมาวิเคราะห์ทดสอบหาสารเคมีอันตรายหรือความไม่ปลอดภัยที่อาจเกิดขึ้นกับผู้กับผู้บริโภค โดยมีกรมวิทยาศาสตร์บริการเป็นผู้ดำเนินการทดสอบ และผลการทดสอบพบว่า ตัวอย่างบารากู่พบสารแคลเซียม (Calcium) แมกนีเซียม (Magnesium) เหล็ก (lron) แมงกานีส(Manganese) และสังกะสี (Zinc) ยาฆ่าแมลง ฟอมาลีน โดยเฉพาะนิโคติน ซึ่งจะเป็นตัวที่วิ่งไปถึงสมองเพียงไม่กี่วินาที เมื่อสูบนิโคตินเข้าไปจะทำให้รู้สึกสบาย ผ่อนคลาย ส่วนผลการทดสอบสารเคมีที่ใช้เติมบารากู่ไฟฟ้าชนิดน้ำ พบอนุพันธ์ของเบนซีน ซึ่งเป็นสารเคมีอันตรายและยังเป็นก่อมะเร็งและมีโอกาสจะติดโรคร้ายแรงในช่องปาก ขณะที่ผู้สูบบุหรี่จะมีโอกาสเป็นโรคในช่องปาก 24% ส่วนคนที่ไม่สูบอะไรเลย 8 %”
นายกีรติ รัชโน ผู้อำนวยการกองบริหารสินค้าทั่วไป กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้มีการประชุมครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 10 พฤษจิกายน 2557 มีมติให้ห้ามขายและห้ามใช้บริการสินค้าบารากู่ บารากู่ไฟฟ้า บุหรี่ไฟฟ้า น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า และได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2558 โดยมีบทลงโทษดังนี้ ผู้ขาย หรือผู้ให้บริการ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าเป็นผู้ผลิตเพื่อขายหรือเป็นผู้สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
นายวิทยา แจ่มกระจ่าง ประธานสมาพันธ์ชมรมคุ้มครองผู้บริโภค กทม. กล่าวว่า ในตอนนี้สินค้าบารากู่และบุหรี่ไฟฟ้าได้มีการระงับการนำเข้าแล้ว ขณะนี้มีสินค้าชนิดใหม่ บารากู่ไฟฟ้าที่ผลิตในกรุงเทพฯ เป็นผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่ที่ออกมาหลอกเงินจากวัยรุ่น อุปกรณ์ในการสูบเหมือนบุหรี่ไฟฟ้าเป็นแท่งมีแบตเตอรี่ในตัว ภายในแท่งบรรจุแผ่นใยสังเคราะห์ชุบน้ำยากลิ่นผลไม้ มีลักษณะคล้ายน้ำมันมีกลิ่นฉุนมากเวลาสูบแล้วพ่นออกมาจะเป็นไอ ใช้แล้วทิ้งเลย และมีโอกาสที่จะระเบิดได้ การที่ผู้ขายเรียกชื่อสินค้าใหม่นี้ว่าบารากู่ไฟฟ้าเป็นกลยุทธ์ทางการตลาด เนื่องจากบารากู่ต้นตำรับเป็นการหมักยาเส้นกับกากผลไม้ต่างๆ ทำให้เวลาสูบบารากู่มีกลิ่นผลไม้ แต่บารากู่ไฟฟ้านั้นกลิ่นผลไม้มาจากสารเคมีสังเคราะห์ให้เกิดกลิ่นผลไม้ชนิดต่างๆ อาจจะเรียก บารากู่ไฟฟ้าว่าบุหรี่ไฟฟ้าชูรสก็คงจะไม่ผิด