คปก.วอนรัฐดันร่างข้อตกลงฯ คุ้มครองสิทธิคนทำงานในเวทีอาเซียน
คปก.ระดมความเห็นร่างข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิคนทำงาน ร้องรัฐหนุนให้เกิดการยอมรับใน 10 ประเทศสมาชิก หวังสร้างมาตรฐานแรงงานเท่าเทียม เอ็นจีโอเเนะ ก.เเรงงานจัดเวทีเจรจาสังคม เชิญทุกฝ่ายเข้าร่วม
วันที่ 14 พฤษภาคม 2558 คณะอนุกรรมการปฏิรูปกฎหมายด้านประชาคมอาเซียน คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) จัดเสวนา ‘ประชาคมอาเซียนกับหนึ่งมาตรฐานแรงงาน จะเป็นจริงได้อย่างไร’ เพื่อรวบรวมความคิดเห็นต่อการจัดทำร่างข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิคนทำงาน ณ ห้องประชุม คปก. อาคารซอฟต์แวร์ ปาร์ค จ.นนทบุรี
โดยที่ประชุมมีความเห็นว่า ร่างข้อตกลงอาเซียนฯ เป็นแนวคิดที่ก้าวหน้าในหลายมิติ เพื่อการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนทำงานที่อยู่ในประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งจะส่งผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และหากนำไปปฏิบัติได้จะทำให้ภูมิภาคสร้างมาตรฐานด้านแรงงานอย่างเท่าเทียมกับสากล
ทั้งนี้ เพื่อเป็นไปตามข้อคิดเห็นดังกล่าว จึงมีข้อเรียกร้องให้ภาครัฐของไทยและอาเซียนสนับสนุนร่างข้อตกลงอาเซียนฯ และให้รัฐบาลนำไปผลักดันในองคาพยพของอาเซียน นอกจากนี้ให้ภาคประชาสังคมนำไปเผยแพร่ในกลุ่มสมาชิกพร้อมนำเสนอความเห็นต่อภาครัฐ เพื่อสร้างมาตรฐานแรงงานเดียวกัน ตลอดจนสิทธิของคนทำงานในภูมิภาคอย่างเท่าเทียม
ดร.ศรีประภา เพชรมีศรี อนุกรรมการปฏิรูปกฎหมายด้านประชาคมอาเซียน เปิดเผยถึงหลักการสำคัญในร่างข้อตกลงอาเซียนฯ ว่า มีเนื้อหาครอบคลุมคนทำงานทุกคน โดยไม่เลือกสัญชาติ มีทั้งหมด 26 มาตรา แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ 1.ส่วนหลักการทั่วไป/นิยาม 2.ส่วนสิทธิและการรับรองสิทธิ และ 3.ส่วนการปฏิบัติ/กลไก ซึ่งการจะนำเสนอต่อเวทีอาเซียนได้นั้น จะต้องผ่านรัฐบาลไทย แต่จะมีผลบังคับใช้ต่อเมื่อมีประเทศสมาชิกให้สัตยาบัน 5 ประเทศขึ้นไป ไม่จำเป็นต้องลงนามพร้อมกันทั้ง 10 ประเทศ อย่างไรก็ตาม เรามีเป้าหมายสูงสุดอยากให้ทุกประเทศเห็นพ้องไปในทิศทางเดียวกัน
“เมื่อเดือนที่ผ่านมา คปก.ได้นำเสนอร่างข้อตกลงอาเซียนฯ ในงานของเครือข่ายภาคประชาสังคมระดับอาเซียน ณ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้เข้าร่วมจากภาคแรงงาน ไม่ค่อยมีจากภาครัฐ” อนุกรรมการฯ กล่าว และพบว่า ขณะนี้ประชาคมอาเซียนมักให้ความสำคัญกับแรงงานมีฝีมือ ทั้งที่ในภูมิภาคยังมีแรงงานฝีมือระดับกลางและต่ำ จึงอยากให้หันมาใส่ใจคนกลุ่มนี้มากขึ้น
ดร.ศรีประภา กล่าวต่อว่า อีกจุดประสงค์หนึ่งของร่างข้อตกลงอาเซียนฯ คือ แรงงานได้รับการคุ้มครองสิทธิอย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะค่าตอบแทน แม้ไม่สามารถปรับให้เท่ากันได้ แต่ก็ไม่ควรห่างกันมากเกินไป เพื่อป้องกันการอพยพโยกย้ายถิ่นฐานในอนาคต และไม่ว่าการเจรจาในระดับใดต้องคำนึงถึงเสียงประชาชนได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง มิใช่ภาครัฐจะทำทุกอย่างด้วยตัวเอง โดยไม่อาศัยความต้องการจากสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศ
ด้านนายอารักษ์ พรหมณี รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า คปก.ผลักดันร่างข้อตกลงอาเซียนฯ เพื่อยกระดับคุ้มครองแรงงานให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งภูมิภาคถือเป็นความกล้าหาญและก้าวหน้า เพราะมีเนื้อหาครอบคลุมเกือบทุกมิติ คล้ายประมวลว่าด้วยเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมารัฐมีหน้าที่เข้าไปประชุม และส่วนใหญ่มักจำกัดเนื้อหาเฉพาะสิทธิแรงงาน จะมีเรื่องสิทธิมนุษยชนบ้างในบางเรื่อง แต่กลไกจะนำไปสู่ความสำเร็จต้องคำนึงกฎหมายด้วย โดยแก้ไขให้เชื่อมโยงไปทุกประเทศ
ขณะที่นางสุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง รองประธานมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ กล่าวว่า ที่ผ่านมามาตรฐานคุ้มครองสิทธิคนทำงานย่ำแย่มาก ดังนั้นการที่ไทยริเริ่มร่างข้อตกลงอาเซียนฯ จึงนับเป็นการไถ่บาป และควรเชิญชวนอีก 9 ประเทศอาเซียนร่วมขับเคลื่อน พร้อมเห็นด้วยหากกระทรวงแรงงานจะเชิญฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น นายจ้าง ลูกจ้าง หรือองค์กรที่ทำงานกับคนทำงาน มาพูดคุยกันในรูปแบบการเจรจาทางสังคม (Social Dialogue)
“กระทรวงแรงงานและกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ต้องวางแผนร่วมกัน และขับเคลื่อนให้เกิดจิ๊กซอว์ได้ทั้งในประเทศและอาเซียน ในแง่กลไกการทำงานอื่น ๆ ที่มิได้ครอบคลุมเฉพาะแรงงาน แต่รวมถึงคุณภาพชีวิตด้วย” รองประธานมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ กล่าว และว่าขณะนี้อาเซียนกำลังทำพิมพ์เขียว เพื่อก้าวสู่การเป็นประชาคม จึงถือเป็นจังหวะดีที่จะนำร่างข้อตกลงอาเซียนฯ เข้าไปหารือด้วย โดย คปก.ต้องหาช่องทางทำงานร่วมกับสองกระทรวงของไทย หากเปรียบเทียบกับปฏิญญาต่าง ๆ แล้วคล้ายคลึงกันก็ร่วมเสนอได้ แม้เนื้อหาในร่างจะไม่ถูกนำไปใช้ทั้งหมด