องค์กรภาคประชาสังคม ถกปัญหาค้ามนุษย์ จี้รัฐประกาศเป็นนโยบายระดับอาเซียน
องค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านป้องกัน-ค้ามนุษย์ ประชุมหารือตั้ง(ร่าง) เครือข่ายคณะทำงานติดตาม แก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ของไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
วันที่ 13 พฤษภาคม 2558 องค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ อาทิ มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน(LPN) มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF) จัดประชุมหารือการตั้ง(ร่าง) เครือข่ายคณะทำงานติดตาม แก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ของไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ณ ห้องประชุมศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง อาคารวิทยพัฒนา ชั้น 2 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศ.สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกระแสความตื่นตัวของรัฐบาลกับการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ในขณะนี้ ต้องแก้ใหม่ทั้งระบบไม่ใช่แก้ที่ปลายน้ำ ขณะเดียวกันการทำประมงของไทย ก็เก่งหาปลา แต่หาปลาจนเกินขนาดที่ธรรมชาติจะรับไหว แม้ว่าเสียงการเรียกร้องในวันนี้จะพอดังอยู่ แต่เสียงในด้านอื่นๆ อาจยังน้อยเกินไป
ศ.สุริชัย กล่าวถึงผลกระทบด้านการประมง เป็นผลกระทบของชาติ ปัญหาซับซ้อนหลายชั้น รัฐอย่าทำแบบไฟไหม้ฟางที่สนใจแค่ชั่วคราวก็ถูกลืมอย่างรวดเร็ว
“ไทยเป็นประเทศส่งออกอาหารทะเลลำดับต้นๆ ของโลก เราต้องรับผิดชอบกับการกระทำกับความผิดทุกกระบวนการที่ก่อให้เกิดเป็นกระบวนการค้ามนุษย์ ไม่ว่าจะลงเรือมากี่คน ไม่มีกระบวนการคัดกรอง”
ด้านนางสาวปฏิมา ตั้งปรัชญากูล ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน ในฐานะมีส่วนเข้าไปช่วยเหลือลูกเรือประมง กล่าวถึงปัญหาแรงงานทาส การค้ามนุษย์ว่า มีหลายรูปแบบ สิ่งที่พยายามจะบอกกับภาครัฐ คือวันนี้ภาครัฐอ่อนแอมาก ไม่ค่อยเห็นความสำคัญกับเรื่องการค้ามนุษย์แรงงานประมง
“จากที่ LPN ได้ลงพื้นไปช่วยเหลือชาวประมงที่อินโดนีเซียในช่วงที่ผ่านมา พบว่า สถิติในรอบ 9 ปี ที่มีชาวประมงมีชีวิตรอดกลับมา และที่มาขอความช่วยเหลือทาง LPN เพื่อให้ไปช่วยเหลือคนที่ยังติดตามเกาะต่างๆ คือ ลูกเรืออินโดนีเซีย 128 คน ไทย 16 คน พม่า 112 คน ที่เสียชีวิตแล้ว 9 คน เป็นพม่า 2 คน สาเหตุของการเสียชีวิตคือการขาดอาหารอย่างรุนแรง และบวมน้ำเสียชีวิต คนที่รอดกลับมาบ้างก็จะพิการ จำอะไรไม่ได้ เพราะถูกทำร้ายทารุณ จนถึงแก่ชีวิต”
นางสาวปฏิมา กล่าวถึงชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงานประมงเหล่านั้น ไม่ได้รับความธรรมแม้แต่น้อย ทั้งเรื่องค่าแรง ชีวิตความเป็นอยู่ รายจ่ายมากกว่ารายรับ การใช้ชีวิตบนเรือทุกอย่างต้องซื้อ แรงงานบางคนเป็นหนี้ต้องทำงานใช้หนี้จนไม่เหลือเงินกลับบ้าน และขณะเดียวกันคนทางบ้านก็ไม่สามารถรับทราบข่าวคราวของแรงงานเหล่านั้นได้เลย มีบางรายนายจ้างบอกว่าจะพาไป 3 เดือนเท่านั้น แต่เมื่อเวลาผ่านไปไม่มีวี่แววจะได้กลับบ้าน ขณะที่แรงงานประมงบางคนจากบ้านไปเป็นกว่า 20 ปี พอได้รับการช่วยเหลือก็กลับบ้านไม่ถูก
“ลักษณะงานของแรงงานประมงในเรือมีตั้งแต่ทิ้งอวนลงทะเล และลากขึ้นมา แล้วนำปลาไปแช่ห้องเย็น หากอวนเสียหายก็ต้องซ่อม ลักษณะงานแบบนี้ก็จะต้องทำตลอดทั้งวันทั้งคืน เรือถูกกฎหมายก็มีน้อยกว่าผิดกฎหมาย ส่วนใหญ่เป็นเรือทำเอกสารปลอม ซื้อตั๋วปลอม เช่น เจ้าขอองเรือขอสัมปทานในการหาปลา 1 ลำ แต่จะมีเรือไปหาปลา 5 ลำ รวมถึงแรงงานไม่มีสวัสดิการใดๆ เลย ทั้งประกันชีวิต ประกันอุบัติเหตุ”
ส่วนนายสมพงษ์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลินิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน กล่าวถึงประชุมหารือการตั้ง(ร่าง) เครือข่ายคณะทำงานติดตาม แก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ของไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่แรงงานไทยถูกหลอกไปเป็นแรงงานบนเรือประมงในประเทศอินโดนีเซีย แต่กลับถูกเอาเปรียบจนทำให้มีผู้เสียชีวิต ซึ่งเมื่อปี 2557 สามารถช่วยเหลือกลับมาประเทศไทยได้ 137 คนแล้ว ยังเหลือผู้รอการช่วยเหลือบนเกาะอัมบนและเบนจินา อีกประมาณ 300-400 คน
“เดือน เม.ย.ที่ผ่านมา รัฐบาลอินโดนีเซียประกาศว่าจะขยายระยะเวลาในการตรวจสอบเรือประมงต่างชาติออกไปอีก 6 เดือน ทำให้เกิดความกังวล และอยากให้รัฐบาลไทยเร่งแก้ไขปัญหา พร้อมกับประกาศเป็นนโยบายการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ข้ามชาติในระดับอาเซียนและนานาชาติ แต่เท่าที่ไปยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อเร่งรัดให้แก้ปัญหานี้เมื่อวันที่ 30 เม.ย.ที่ผ่านมา ถึงขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าอะไร”
นายสมพงษ์ กล่าวอีกว่า ตอนนี้มีแรงงานประมงไทยมาร้องขอความช่วยเหลือหลังได้กลับประเทศ เราจึงตั้งทนายความมาช่วยเหลือให้ได้รับสิทธิที่พึงมี เช่น เงินชดเชยกรณีได้รับอุบัติเหตุ ทุพพลภาพจากการทำงาน เป็นต้น ซึ่งอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูล นอกจากนี้ทางมูลนิธิฯ และเครือข่ายยังให้ความช่วยเหลือด้านอื่นๆ ที่ภาครัฐอาจจะไม่ได้คำนึงถึง เพราะมัวแต่กลัวความจริง กลัวการเป็นข่าว กลัวมีกรณีการค้ามนุษย์
อย่างไรก็ตาม ผลการหารือจากการประชุม ได้มีข้อเสนอต่อภาครัฐ เช่น ขอให้หลายภาคส่วนเข้ามาช่วยกันในเรื่องการค้ามนุษย์ องค์กรภาคเอกชนขอมีส่วนร่วมในการตรวจสอบและช่วยเหลือแรงงานประมง รวมถึงการมีส่วนร่วมใน พ.ร.บ.ประมง หรือการออกกฎกระทรวงว่าด้วยการทำประมง และต้องให้กลุ่มแรงงานที่รอดชีวิตกลับมาได้ก่อตั้งกลุ่มเพื่อกลับไปช่วยเพื่อนที่ยังไม่ได้กลับมาด้วย รวมถึงเรือประมงทุกลำต้องมีหลักฐานชัดเจนได้รับอนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย หลักฐานของแรงต้องมีความชัดเจนและเป็นข้อมูลจริงไม่ใช่ปลอมแปลง รวมถึงค่าแรงก็ต้องเป็นตามข้อตกลงเงื่อนไขด้วย