ตามรอย "กองสลากฯ"ผ่านไป 9 ปี ยังแก้หวยเกินราคาไม่ได้? "บิ๊กตู่" จะทำได้หรือ?
"..การแก้ไขปัญหาสลากฯ จึงไม่ได้อยู่เพียงแค่เรื่องการขายสลากฯ เกินราคา แต่มันรวมไปถึงเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่นที่เกาะกิน และฝั่งรากลึกในระบบการบริหารงานของกองสลากฯ มาช้านานด้วยณ วันนี้ ประเทศไทย มิได้อยู่ภายใต้อำนาจการบริหารงานของ "นักการเมือง" แต่อยู่ภายใต้อำนาจการบริหารของรัฐบาล ทหาร ที่มีอำนาจเต็มที่จะสามารถกวาดล้างปัญหาการทุจริตในทุกๆ ด้านอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด โอกาสในการแก้ไขปัญหากวาดล้างทุจริต ในกองสลาก น่าจะทำได้ไม่ยาก.."
"เรื่องขายสลากฯในราคา 80บาท ผมพูดไปนานแล้วว่าในงวดวันที่ 16 มิ.ย.นี้ ราคาสลากฯ ต้องมีราคาแค่ 80 บาท และต้องทำให้ได้ ถ้าทำไม่ได้ ก็ต้องเลิกขาย ซึ่งถ้ารั่วไหลต้องสอบสวนลงโทษ เอาโควตาคืนก่อน ไม่อยากให้มีอะไรรุนแรงเกินไป เพราะคนเดือดร้อนมีมาก"
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวไว้ชัดเจนระหว่างการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 12 พ.ค.58 ที่ผ่านมา
พร้อมขยายความต่อว่า "คนขายสลากเป็นล้านคน ถ้าเลิกขายแล้วคนพวกนี้จะโวยกันหรือไม่ และจะกินอะไรกัน อำนาจใช้ได้ แต่จะเกิดผลกระทบกับใครบ้าง ไม่สามารถทำให้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะเราไม่ได้ไปเดินขายกับเขา เพราะฉะนั้นต้องดูปลายทางด้วยว่าจะขายในรูปแบบใด รวมเล่มได้หรือไม่ แต่นี่ยังไม่ขยาย รวมถึงการค้าปลีก หรือหวยออนไลน์ เพราะเป็นทางเลือกเผื่อไว้ ถ้าหากแก้ไม่ได้ จะให้ออกเป็นสลากออนไลน์ จะได้ไม่กล้าขึ้นราคา"
สิ้นเสียงคำแถลงจบลง หลายคนคงคิดในใจเหมือนๆ กันว่า "สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล" ในฐานะที่ดูแลรับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรงแล้ว เจองาน "หิน" เข้าแล้ว
เพราะต้องยอมรับความจริงข้อหนึ่งว่า ปัญหาเรื่องการขายสลากเกินราคา ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในยุคนี้ แต่เป็นปัญหาเรื้อรังสะสม ที่ผ่านมาหลายยุคหลายสมัยก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ แถมยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ดังมาเป็นระยะๆ ว่า มีนักการเมืองและข้าราชการ อยู่เบื้องหลังขบวนการ ขณะที่ผลประโยชน์ และผู้เกี่ยวข้องก็มีจำนวนมาก จึงทำให้ปัญหาไม่สามารถที่จะแก้ไขให้หมดสิ้นไปง่ายๆ
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาการขายสลากเกินราคา ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่ผ่านมา
พบว่า เริ่มต้นเป็นทางการในช่วงปี 2549 โดยมีการออกข่าวประชาสัมพันธ์ ว่า ได้ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างใกล้ชิด และได้นำข้อมูลเบาะแสส่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อขอความร่วมมือในการตรวจสอบข้อมูลและกวดขันให้เป็นไปตามมาตรการที่กำหนดไว้ ซึ่งหากมีหลักฐานใดที่เชื่อได้ว่า ผู้มีโควตารายใดจำหน่ายสลากเกินราคา จะถูกยึดโควตาสลากคืน และถูกดำเนินคดีตามกฎหมายด้วย
จากนั้นกระบวนการตรวจสอบก็เริ่มดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นระยะๆ โดยผลการจับกุมการจำหน่ายสลากเกินราคา ที่มีการบันทึกไว้เป็นทางการ ตั้งแต่เดือน พฤษภาคม 2549 - มิถุนายน 2555
พบว่า มีจำนวนกว่า 40,741 ราย แยกเป็นในเขตกทม. 19,153 ราย ต่างจังหวัด 21,588 ราย มีการยึดคืนโควตาหลายพันราย
ส่วนการประชาสัมพันธ์ข้อมูลก็ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง มีการเปิดช่องทาง ให้ร้องเรียนการแจ้งเบาะแสการขายสลากเกินราคาเป็นทางการในเว็บไซต์ (http://203.150.224.248/glo_app/complain.php) พร้อมแจ้งประชาสัมพันธ์ข้อมูลบทลงโทษ อยู่เป็นระยะๆ แยกเป็น
@ สลากกินแบ่งรัฐบาล
พระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. 2517
มาตรา 39 ผู้ใดเสนอขายหรือขายสลากกินแบ่งรัฐบาลที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ และยังไม่ได้ออกรางวัลเกินราคาที่กำหนดในสลากกินแบ่ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท
@ สลากบำรุงการกุศล
พระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478
มาตรา 9 ทวิ ห้ามมิให้ผู้ใดเสนอขายหรือขายสลากกินแบ่งที่ออกจำหน่าย ตามมาตรา 9 และที่ยังมิได้ออกรางวัลเกินกว่าราคาที่กำหนดในสลาก
มาตรา 9 ทวิ ผู้ใดฝ่าฝืนตาม มาตรา 9 ทวิ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำและปรับ
ก่อนที่ในช่วงกลางปี 2557 สำนักงานสลากฯ จะแจ้งออกข่าวประชาสัมพันธ์เป็นทางการว่า ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการลงโทษผู้แทนจำหน่าย กรณีจำหน่ายสลากเกินราคา หรือไม่ปฏิบัติตามสัญญา หากตรวจพบหรือมีการจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่ว่าจะเป็นการจำหน่ายเกินราคาโดยนิติบุคคลหรือตัวแทนผู้ได้รับการจัดสรรสลากโดยตรง หรือจำหน่ายเกินราคาโดยผู้ที่เป็นสมาชิกขององค์กรหรือนิติบุคคลที่ได้รับการจัดสรร จะมีการลงโทษตามลำดับ ตั้งแต่การตัดโควตาบางส่วนหรือทั้งหมด และการบอกเลิกสัญญา
ทั้งนี้ หากตัวแทนจำหน่ายประเภทใดขายโควตา หรือโอนสิทธิ์ให้ผู้อื่นโดยไม่จำหน่ายเอง จะถูกตัดโควตาและบอกเลิกสัญญาในจำนวนสลากที่รับไปจำหน่ายทันที
(ดูเอกสารประกอบ)
แต่ดูเหมือนว่า ปัญหาเรื่องนี้ ก็ยังไม่จ่างหายไป โดยล่าสุด ในช่วงปลายปี 2557 สำนักงานสลาก ฯ ได้จัดทีมออกตรวจตลาดสลากตามนโยบายการจัดการปัญหาจำหน่ายสลากเกินราคา
ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากนโยบายในการให้ประทับตราสลากฯ ด้วยหมึกสีน้ำเงินรูปสี่เหลี่ยมด้านขวาของสลากฯ ทั้งสลาก 45,293,000 ล้านฉบับ ซึ่งเป็นสลากในส่วนของตัวแทนจำหน่ายรายย่อยทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค รวมทั้งสลากขององค์กร มูลนิธิและสมาคมคนพิการ 95 สมาคม เพื่อให้รับรู้ว่าเป็นสลากขายปลีกที่รับซื้อจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลโดยตรง ในราคาต้นทุน 74.40 บาท และผู้ขายจริงต้องติดบัตรตัวแทนจำหน่าย สำหรับบัตรสีส้ม การขายในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ส่วนบัตรสีเขียวเป็นของผู้ขายในต่างจังหวัด
จากการตรวจสอบพบว่า มีตัวแทนจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่จำหน่ายสลากประทับตราด้วยหมึกสีน้ำเงินรูปสี่เหลี่ยม และติดบัตรประจำตัวผู้จำหน่ายสลากตลอดเวลาที่จำหน่าย โดยจำหน่ายในราคาไม่เกิน 90 บาท ในขณะเดียวกันก็มีการตรวจพบการจำหน่ายสลากของผู้จำหน่ายที่ไม่ได้รับโควตาโดยตรงจากสำนักงาน ฯ แต่นำสลากที่มีตราประทับมาจำหน่ายด้วย
เบื้องต้น สำนักงาน ฯ ได้ทำการตรวจสอบหมายเลขสลาก กับรหัสโควตา เพื่อให้ตัวแทนจำหน่าย ที่มีชื่อเป็นผู้รับสลากที่มีการนำไปรวมชุด หรือไปวางจำหน่ายที่อื่น นอกเหนือจากที่ได้แจ้งไว้กับสำนักงาน มาชี้แจง
พร้อมประกาศว่า หากพบไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ จะทำหนังสือตักเตือน และให้มีการตรวจซ้ำ หากปรากฏข้อเท็จจริงชัดเจนว่า ไม่ขายปลีกด้วยตนเอง มีการนำสลากไปจำหน่ายต่อ สำนักงาน ฯ จะพิจารณายกเลิกการเป็นตัวแทนจำหน่ายต่อไป
จากนั้น ปัญหานี้ ก็ดูเหมือนจะเงียบหาย ขณะที่การขายสลากเกินราคาก็ยังปรากฎอยู่เหมือนเดิม พร้อมกับอำนาจของนักการเมืองบางกลุ่ม
นี่ยังไม่นับรวมถึง ข้อมูลการนำสลากไปคิดส่วนต่างฉบับละ 20 บาท กว่า 37 ล้านฉบับคู่ต่อปี เป็นเงินมูลค่า 1.5 หมื่นล้านบาทต่อปีที่หายไปจากการกินหัวคิว ที่ถูกเปิดประเด็นออกมาโดย นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เอง
สอดคล้องกับข้อมูลของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ออกมาระบุว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนกล่าวหาสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล สร้างความเดือนร้อนและไม่เป็นธรรมในการจัดสรรโควตา เป็นระยะเวลานาน ทำให้มีการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคา และมีผลกระทบต่อนโยบายของรัฐบาลโดยตรง ที่ไม่สามารถทำให้ราคาสลากฯ ลดลงได้ รวมทั้งมีเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง แสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายให้กับตนเองหรือผู้อื่น หรือร่วมกระทำการอันมีลักษณะเป็นการสมยอมกันเสนอราคาในการประมูล จากการจัดสรรโควตาดังกล่าว
"ระบบการจัดจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลที่จัดจำหน่ายผ่านระบบโควตา เป็นระบบการผูกขาด ซึ่งประกอบด้วย ส่วนราชการ มูลนิธิองค์กรการกุศลต่างๆ และบริษัทเอกชนรายใหญ่ โดยการขายขาดและไม่ได้รับคืนหากจำหน่ายสลากฯ ได้ไม่หมด ซึ่งแม้ว่าจะเป็นประโยชน์ในการบริหารจัดการของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่สะดวกและประหยัดต้นทุนแต่ก็เป็นกระบวนการที่ขาดความโปร่งใส ผลักภาระความรับผิดชอบ ทำให้เกิดระบบกินหัวคิว พ่อค้าคนกลางนำไปจำหน่ายต่อหรือรวมชุดสลากฯ แล้วจำหน่ายเกินที่กำหนด ก่อให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค มีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของผู้มีรายได้น้อยเป็นส่วนใหญ่"
"นอกจากนี้ การให้โควตาแก่นิติบุคคลที่เป็นผู้ผูกขาดผลประโยชน์มาเป็นเวลานานนับสิบปี เป็นวิธีการที่เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มบุคคลที่มีผลประโยชน์ทางการเมือง บางกลุ่ม ซึ่งต้องการใช้อำนาจมาแสวงหาผลประโยชน์จากโควตาดังกล่าว โดยคาดว่าในแต่ละเดือนจะได้ผลประโยชน์เป็นเงินจำนวนมหาศาล"
คำถามที่น่าสนใจ คือ ภายหลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ใช้อำนาจในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่งแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล อาทิ การตั้งบอร์ดชุดใหม่ขึ้นทำหน้าที่แทนชุดเดิม จัดตั้งกองทุนใช้จ่ายเงินช่วยแก้ไขปัญหาสังคม และกำหนดบทลงโทษสำคัญผู้ที่ฝ่าฝืนขายล็อตเตอร์รี่แพงเกินราคากำหนด มีโทษจำคุก ไม่เกินหนึ่งเดือน ปรับหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
พร้อมแต่งตั้งให้ พลตรี อภิรัชต์ คงสมพงษ์ เข้ามาทำหน้าที่เป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล ซึ่งดูเหมือน พลตรี อภิรัชต์ จะรับรู้รับทราบปัญหาในเบื้องต้นอยู่แล้ว เห็นได้จากคำให้ ที่ระบุว่า สาเหตุที่สลากแพงมาจากกองสลากฯเอง โดยกำหนดให้กลุ่มบุคคลที่มารับช่วงไปในราคาที่กำหนดกันเอง
แต่ถ้าหากพิจารณาคำให้สัมภาษณ์ ของ พล.อ.ประยุทธ์ ล่าสุดเมื่อถูกถามว่า ทราบข้อมูลที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ออกมาเปิดเผยตัวเลขค่ากินหัวคิวการจำหน่ายสลากกินแบ่ง จำนวน 1.5 หมื่นล้านบาทต่อปีหรือไม่
พล.อ.ประยุทธ์ ตอบว่า "ไม่รู้ ไม่ทราบ"
เมื่อถามว่า แล้วจะดำเนินการตรวจสอบหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "ก็เขาตรวจสอบ เดี๋ยวต้องตรวจสอบ ถ้าตรวจสอบแล้ว ก็เดือดร้อนรัฐบาลที่แล้วทั้งหมด ผมบอกแล้วไง มันมีอยู่มานานเต็มทีแล้ว ไปถามรัฐบาลที่แล้วให้ผมหน่อยสิ ไปไล่เอา ไปขุดทางนู้นหน่อยสิ วันหน้าฝากอิศราหน่อยสิ ไปขุดแถวรัฐบาลที่แล้ว"
หรือแม้กระทั่งคำให้สัมภาษณ์ของ พลตรี อภิรัชต์ ที่ระบุว่า “ผมไม่อยากกระชากหน้ากากหรือเปิดเผยขบวนการทั้งหมด มิเช่นนั้นจะอยู่ประเทศไทยไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลใกล้ชิด ลูก เมีย คนขับรถ หรือใครก็ตาม”
ก็เริ่มทำให้หลายคนชักไม่มั่นใจ ว่า ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น จะสามารถถูกกวาดล้าง ได้หมดในยุคนี้หรือไม่ เพราะเริ่มเห็นสัญญาณอะไรบ้างอย่างจากคำให้สัมภาษณ์ที่ประกาศออกมา เหมือนนักมวย ที่ขึ้นสังเวียนชกแล้ว แต่ยังไม่กล้าออกอาวุธให้เต็มหมัด "กักๆ ขาดๆ เกินๆ"
ถ้ามีข้อมูลจริง เป็นประโยชน์ก็ควรจะเปิดเผยออกมาโดยเร็ว เพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบ และร่วมกันตรวจสอบข้อมูล เพื่อทำความจริงให้ปรากฎชัดเจน!
ณ วันนี้ ประเทศไทย มิได้อยู่ภายใต้อำนาจการบริหารงานของ "นักการเมือง" ที่ถูกระบุว่า เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์จากกองสลากฯ
แต่อยู่ภายใต้อำนาจการบริหารของรัฐบาล "ทหาร" ที่มีอำนาจเต็มที่จะเข้ามาตรวจสอบข้อมูล หลักฐานต่างๆ เพื่อกวาดล้างปัญหาการทุจริตในทุกๆ ด้านอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
โอกาสในการแก้ไขปัญหากวาดล้างทุจริตในกองสลากฯ น่าจะทำได้ไม่ยากเกินความสามารถที่มีอยู่มากนัก
ขึ้นอยู่กับว่า มีความตั้งใจจริง และ พร้อมจะลงมือทำอย่างเต็มที่หรือไม่?