ผ่าขบวนการ "หัวคิว"โควตาหวย!ต้นตอสลากแพง ผูกขาดนับสิบปี ฉบับ ป.ป.ช.
"..การให้โควตาแก่นิติบุคคลที่เป็นผู้ผูกขาดผลประโยชน์มาเป็นเวลานานนับสิบปี เป็นวิธีการที่เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มบุคคลที่มีผลประโยชน์ทางการเมือง บางกลุ่ม ซึ่งต้องการใช้อำนาจมาแสวงหาผลประโยชน์จากโควตาดังกล่าว โดยคาดว่าในแต่ละเดือนจะได้ผลประโยชน์เป็นเงินจำนวนมหาศาล .."
จากกรณีรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล โดยออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 11 /2558 ซึ่งใช้อำนาจมาตรา 44 เข้ามาจัดการดูแลขั้นตอนการปฏิบัติงานต่างๆ ทั้งการปรับปรุงโครงสร้างการบริหารงานกองสลากฯ การกำหนดบทลงโทษผู้ที่ขายสลากกินราคา
และล่าสุดมีการแต่งตั้ง "พลตรี อภิรัชต์ คงสมพงษ์" ให้เป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล นั้น
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า ในช่วงการบริหารงานของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เคยมีการเสนอมาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการจัดสรรโควตาและการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคา ให้รัฐบาลพิจารณา
ป.ป.ช. ระบุว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนกล่าวหาสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล สร้างความเดือนร้อนและไม่เป็นธรรมในการจัดสรรโควตา เป็นระยะเวลานาน ทำให้มีการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคา และมีผลกระทบต่อนโยบายของรัฐบาลโดยตรง ที่ไม่สามารถทำให้ราคาสลากฯ ลดลงได้ รวมทั้งมีเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง แสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายให้กับตนเองหรือผู้อื่น หรือร่วมกระทำการอันมีลักษณะเป็นการสมยอมกันเสนอราคาในการประมูล จากการจัดสรรโควตาดังกล่าว
ป.ป.ช. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ข้อกฎหมาย หลักเกณฑ์ และวิธีการในการจัดสรรโควตา และ การจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล ประกอบความเห็นทางกฎหมายของคณะกรรมการกฤษฎีกา รวมทั้งศึกษาวิเคราะห์กิจการสลากกินแบ่งในต่างประเทศแล้ว เห็นว่า สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ได้มีมาตรการ และดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาการขายสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคา
เช่น มีการเพิ่มจำนวนสลากกินแบ่งรัฐบาลในท้องตลาด การกำหนดแถบสี การป้องกันการรวมเล่มหรือรวมชุดการเปิดให้ผู้ขายรายย่อยรับสลากฯ โดยตรงและเสรี การเพิ่มส่วนลดให้แก่ตัวแทนจำนหน่ายรายย่าย การตัดโควตา ผู้ดำเนินการจัดจำหน่ายที่ผิดเงื่อนไข การจับกุมดำเนินคดีต่อผู้ขายรายย่อยที่ขายสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคาเป็นต้น
แต่มาตรการดังกล่าว ไม่สามารถแก้ไขปัญหาการขายสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคาได้ ระบบการจัดจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลที่จัดจำหน่ายผ่านระบบโควตา เป็นระบบการผูกขาด ซึ่งประกอบด้วย ส่วนราชการ มูลนิธิองค์กรการกุศลต่างๆ และบริษัทเอกชนรายใหญ่ โดยการขายขาดและไม่ได้รับคืนหากจำหน่ายสลากฯ ได้ไม่หมด ซึ่งแม้ว่าจะเป็นประโยชน์ในการบริหารจัดการของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่สะดวกและประหยัดต้นทุน
แต่ก็เป็นกระบวนการที่ขาดความโปร่งใส ผลักภาระความรับผิดชอบ ทำให้เกิดระบบกินหัวคิว พ่อค้าคนกลางนำไปจำหน่ายต่อหรือรวมชุดสลากฯ แล้วจำหน่ายเกินที่กำหนด ก่อให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค มีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของผู้มีรายได้น้อยเป็นส่วนใหญ่
นอกจากนี้ การให้โควตาแก่นิติบุคคลที่เป็นผู้ผูกขาดผลประโยชน์มาเป็นเวลานานนับสิบปี เป็นวิธีการที่เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มบุคคลที่มีผลประโยชน์ทางการเมือง บางกลุ่ม ซึ่งต้องการใช้อำนาจมาแสวงหาผลประโยชน์จากโควตาดังกล่าว โดยคาดว่าในแต่ละเดือนจะได้ผลประโยชน์เป็นเงินจำนวนมหาศาล
การนำเครื่องจำหน่ายมาใช้ในการจำหน่ายสลากฯ ออนไลน์ ทั้งในรูปแบบสลากฯ 6 หลัก และ 3 ตัว 2 ตัว จะสามารถแก้ไขปัญหาความต้องการของผู้ซื้อในแต่ละหมายเลขได้อย่างทั่วถึงและเพียงพอ
เพราะผู้ซื้อจะสามารถซื้อหมายเลขที่ต้องการจากเครื่องจำหน่ายได้ แต่รางวัลที่ได้รับจะผันแปรไปตามจำนวนสลากฯ ที่จำหน่ายได้ จึงไม่ต้องซื้อผ่านตัวแทนจำหน่ายที่อาจขายสลากแพงกว่าราคาหน้าสลากฯ การนำเครื่องจำหน่ายมาใช้ในการจำหน่ายสลากฯ ออนไลน์ ดังกล่าวจึงเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาขายเกินราคาที่ชัดเจน ช่วยกำจัดทุจริตในการจัดสรรโควตาให้พ่อค้าคนกลาง ป้องกันการฟอกเงินของกลุ่มบุคคลที่มีผลประโยชน์ทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ
ทั้งนี้ ป.ป.ช. ยังได้เสนอความเห็น และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการจัดสรรโควตาและการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคา ต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อให้มีการปรับปรุง การปฏิบัติราชการ หรือวางแผนงานโครงการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ เพื่อป้องกันหรือปราบปรามการทุจริตต่อหน้าที่ การกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ จำนวน 7 ประเด็นดังนี้
1. สำนักงานสลากกินแบ่งรับาล ต้องกำหนดนโยบายอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีการกำหนดรูปแบบและปริมาณสลากฯ รวมทั้งปริมาณเครื่องจำหน่ายอัตโนมัติให้ชัดเจน โดยไม่พิจารณาเพียงแต่ผลประโยชน์เฉพาะการเงินของรัฐ เป็นหลัก
และต้องประกาศให้เป็นที่รับรู้ของประชาชนโดยทั่วไป รวมถึงสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล จะต้องจัดทำการประเมินนโยบายจำหน่ายสลาก ฯ ด้วย เครื่องจำหน่ายอัตโนมัติเป็นประจำทุกปี โดยองค์กรอิสระที่ไม่แสวงหากำไรและไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับสำนักงานสลากกิจแบ่งรัฐบาล ทั้งนี้ เพื่อประเมินถึงผลดีและผลเสียของนโยบายดังกล่าวอย่างหลากหลาย ทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม
2. คณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล ควรแถลงนโยบายในการกำกับการดำเนินงานของสำนักงานสลากฯ เพื่อให้เป็นตามหลักธรรมภิบาล ควรมีตัวชี้วัดหลักที่ใช้ในการกำหนดเป้าหมายในการดำเนินการของคณะกรรมการฯ รวมถึง ให้มีการเปิดเผยหลักเกณฑ์และวิธีในการกำหนดส่วนลดให้กับตัวแทนจำหน่ายและให้มีการเปิดการดำเนินงานด้านต่างๆ ของสำนักงานสลากฯ เพื่อความโปร่งใสตรวจสอบได้
3. การจัดสรรเงินที่คืนสู่สังคม ควรจัดสรรให้กับชุมชน ซึ่งเป็นพื้นที่จุดจำหน่ายเพื่อเป็นกองทุนรณรงค์ต่อต้านการเล่นการพนัน โดยเฉพาะป้องกันไม่ให้เด็กและเยาวชน เข้าไปเกี่ยวข้องกับการบริโภคสลากฯ
4. สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล จะต้องออกมาตรการในการห้ามจำหน่ายสลากฯ ให้กับเด็ก และเยาวชน และควรมีหลักประกันว่า ไม่สามารถจำหน่ายให้กับเด็กและเยาวชนได้อย่างจริงจัง รวมทั้งต้องกำหนดบทลงโทษตัวแทนผู้จำหน่ายให้ชัดเจนว่า หากมีการจำหน่ายสลากฯ ให้กับเด็กและเยาวชนจะมีผลอย่างไร ตลอดจนการติดตั้งเครื่องจำหน่ายสลากฯ ในที่ชุมชน จุดจำหน่ายต้องไม่อยู่ใกล้วัดและโรงเรียน
5. สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ต้องกำหนดเป็นมาตรการอย่างเคร่งครัด ว่าการจำหน่ายสลากฯ ด้วยเครื่องจำหน่ายสลากอัตโนมัติ จะไม่นำเครือข่ายการจำหน่ายนี้ไปขยายสินค้าการพนัน ในรูปแบบสลากฯ อื่นๆ
6. สำนักงานสลาฯ ต้องวางมาตรการในการตรวจสอบป้องกันไม่ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรม โดยเฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องกับขบวนการค้ายาเสพติดเข้ามาเป็นตัวแทนจำหน่ายสลากฯ อาจจะเป็นช่องทางในการนำเงินที่ได้รับจากการกระทำผิดไปฟอกเป็นเงินที่ถูกต้องตามกฎหมายได้
7.รายได้จากการจำหน่ายสลากฯ 3 ตัว 2 ตัว ด้วยเครื่องจำหน่ายอัตโนมัติที่เป็นส่วนของค่าใช้จ่ายในการดำเนินการร้อยละ 12 และเมื่อหลังหักส่วนลดให้ตัวแทนจำหน่ายแล้ว ควรมีการวางเป้าหมายในการนำเงินรายได้สทุธิฺในส่วนนี้ี ไปใช้ประโยชน์สาธารณะให้ชัดเจน
----
ทั้งหมดนี่ เป็นข้อเสนอของป.ป.ช. ที่นำเสนอให้ ครม. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พิจารณาอย่างเป็นทางการมาแล้ว
แต่ดูเหมือนว่าปัจจุบันปัญหาหลายส่วนก็ยังปรากฎให้เห็นอยู่เหมือนเดิม
น่าสนใจว่า ในยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่ประกาศว่าจะแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจัง ข้อเสนอของป.ป.ช. เหล่านี้ จะถูกหยิกยกขึ้นมาพิจารณาหรือไม่
หรือจะปล่อยให้ถูกเก็บเข้าแฟ้มไปให้ฝุ่นขึ้นต่อไป เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น?