ผลสรุปอนุฯป.ป.ช.ซัดผู้บริหารท้องถิ่นตัวการใหญ่! ใช้นโยบาย-อิทธิพลเอื้อโกง
ผู้บริหารท้องถิ่นตัวการใหญ่! เปิดรายงานสรุปปัญหาการทุจริตใน อปท. พบก่อนเลือกตั้งมีการซื้อเสียง อาศัยอิทธิพลนักการเมืองระดับชาติ อ้างนโยบายหาเสียงเอื้อโกง หลังนั่งเก้าอี้จัดสรรเงินให้เกิดการวิ่งเต้น กินเปอร์เซ็นต์โบนัส ข่มขู่ ขรก.ให้ช่วยฮั้วจัดซื้อจัดจ้าง
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : เป็นสรุปรายงานสภาพปัญหาการทุจริตในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ของคณะอนุกรรมการมาตรการป้องกันการทุจริตเชิงนโยบายของผู้บริหารท้องถิ่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ได้จากการประชุมระดมความคิดเห็น และการตอบแบบสอบถามจากหน่วยงานต่าง ๆ
----
จากการศึกษาสภาพปัญหาและสาเหตุของการทุจริตเชิงนโยบายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รวมทั้งมาตรการ ความเห็น และข้อเสนอแนะของผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้อง คณะทำงานจัดทำมาตรการป้องกันการทุจริตเชิงนโยบายของ อปท. พิจารณาแล้วมีความเห็นว่า กระบวนการทุจริตเชิงนโยบายของ อปท. นั้น มักเกิดจากการกระทำของผู้มีอำนาจ กำหนดนโยบายของ อปท. ซึ่งก็คือ ผู้บริหารท้องถิ่น
ดังนั้น จึงสรุปข้อมูลสภาพปัญหาที่พบ โดยแบ่งออกเป็น 3 มิติ ดังนี้
1.มิติก่อนการเข้าสู่ตำแหน่งของผู้บริหารท้องถิ่น
พบสภาพปัญหาหลัก ๆ 3 ประการ ได้แก่
1.1 ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้บริหารท้องถิ่นบางส่วน กระทำการทุจริตเพื่อให้ได้เข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารท้องถิ่น กล่าวคือ มีการซื้อเสียง หรือกระทำการอื่นใดที่ขัดต่อกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง โดยอาศัยความเป็นผู้มีอิทธิพล/เครือญาติ หรือเครือข่ายกับนักการเมืองระดับชาติ และบางส่วนก็ได้รับการสนับสนุนจากนายทุนในการสมัครรับเลือกตั้ง ทำให้เมื่อเข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหารท้องถิ่นแล้ว มีการกำหนดนโยบายเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ตนเองและพวกพ้อง
1.2 ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้บริหารท้องถิ่นบางส่วนขาดประสบการณ์ และความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือความรู้ด้านอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการบริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
1.3 ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้บริหารท้องถิ่นบางส่วน กำหนดนโยบายที่ใช้ในการหาเสียงโดยมิได้คำนึงกฎหมาย ระเบียบ และอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ว่าสามารถดำเนินการตามที่ได้หาเสียงไว้ได้หรือไม่ ทั้งนี้เมื่อได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้บริหารท้องถิ่นแล้วก็อ้างถึงความชอบธรรมที่ได้หาเสียงไว้กับประชาชน ผลักดันนโยบายไปสู่การปฏิบัติ เพื่อเอื้อผลประโยชน์แก่ตนเองและพวกพ้อง
2.มิติระหว่างการดำรงตำแหน่งของผู้บริหารท้องถิ่น
สรุปสภาพปัญหา โดยแบ่งตามประเด็นที่ใช้ในการศึกษาจำนวน 3 ประเด็น ได้แก่
2.1 ปัญหาที่พบเกี่ยวกับการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่น สรุปได้ 3 ส่วน ดังนี้
1) กระบวนการจัดทำแผนพัฒนาตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจัดทำแผนพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2548 ให้อำนาจผู้บริหารท้องถิ่นในการจัดทำ การแก้ไข การเพิ่มเติม และการเปลี่ยนแปลงพัฒนามากเกินไป ทำให้ผู้บริหารท้องถิ่นใช้อำนาจดังกล่าว บรรจุแผนงาน/โครงการที่มีวัตถุประสงค์แอบแฝง ก่อนนำไปสู่การจัดทำข้อบัญญัติ หรือเทศบัญญัติ งบประมาณรายจ่าย ทำให้แผนพัฒนาท้องถิ่นนั้นไม่เป็นไปตามความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นอย่างแท้จริง แต่มุ่งการแสวงหาผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง
2) กระบวนการนำแผนพัฒนาท้องถิ่นไปปฏิบัติเป็นช่องทางให้เอื้อประโยชน์ต่อผู้บริหารท้องถิ่นและพวกพ้อง
3) การติดตามและประเมินผลแผนพัฒนาฯ ไม่มีประสิทธิภาพ อันนำไปสู่การจัดทำแผนพัฒนาฉบับใหม่ที่ไม่สนองตอบต่อการแก้ไขปัญหาของท้องถิ่นอย่างแท้จริง หากแต่แฝงวัตถุประสงค์ในการเอื้อประโยชน์แก่ผู้บริหารท้องถิ่นและพวกพ้อง
2.2 ปัญหาที่พบเกี่ยวกับการเงิน การคลังและงบประมาณ สรุปได้ ดังนี้
1) การใช้ดุลยพินิจของผู้บริหารท้องถิ่นหรือเจ้าหน้าที่ในการจัดเก็บรายได้ เช่น การใช้อำนาจในการเป็นผู้พิจารณาประเมินภาษี และใช้อำนาจพิจารณาอุทธรณ์ภาษี เป็นต้น ในลักษณะที่เอื้อประโยชน์แก่เครือญาติหรือพวกพ้อง
2) การจัดสรรเงินอุดหนุนเฉพาะกิจให้แก่ อปท. เอื้อให้เกิดการวิ่งเต้นเพื่อให้ได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนของผู้บริหารท้องถิ่นบางแห่ง โดยมีผลประโยชน์แลกเปลี่ยน ตลอดจนมีการกำหนดแผนงานโครงการที่มีผลประโยชน์แอบแฝงรองรับการจัดสรรเงินอุดหนุนเฉพาะกิจดังกล่าว ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม และเป็นช่องทางก่อให้เกิดการทุจริตด้วย
3) การจัดสรรงบประมาณตามนโยบายของผู้บริหารท้องถิ่นหลายโครงการ มุ่งเพื่อประโยชน์ในการสร้างคะแนนนิยมให้กับตนเอง โดยไม่ได้คำนึงถึงผลประโยชน์สาธารณะและความคุ้มค่าในการใช้งบประมาณ เช่น การตั้งงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการที่เอื้อประโยชน์ให้กับหัวคะแนน เครือญาติและพวกพ้อง หรือการตั้งงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการศึกษาดูงานทั้งในและต่างประเทศ โดยไม่ได้มุ่งหวังผลในการพัฒนาท้องถิ่นอย่างแท้จริง แต่แฝงด้วยเจตนาเพื่อหวังคะแนนนิยม เป็นต้น
4) ผู้บริหารท้องถิ่นใช้อำนาจจัดสรรเงินให้เป็นประโยชน์ตอบแทนอื่นเป็นกรณีพิเศษ อันมีลักษณะเป็นเงินรางวัลประจำปีแก่พนักงานส่วนท้องถิ่น (โบนัส) โดยไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่กำหนด และเป็นการใช้เงินของ อปท. ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ กล่าวคือ ผู้บริหารท้องถิ่นบางแห่งนำเงินที่ควรนำไปพัฒนาท้องถิ่นมาจัดสรรเป็นเงินโบนัส นอกจากนั้นผู้บริหารท้องถิ่นบางแห่งยังมีการเรียกรับเงินเปอร์เซ็นต์จากโบนัสของพนักงานส่วนท้องถิ่นอีกด้วย
5) ผู้บริหารท้องถิ่นใช้อำนาจโดยกำหนดนโยบายหรือการใช้อำนาจข่มขู่บังคับให้ข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น ให้ความร่วมมือในการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นการเอื้อประโยชน์ต่อตนเอง เครือญาติ และพวกพ้อง ตลอดจนการร่วมมือกับผู้ประกอบการในการฮั้วประมูล ทำให้การจัดซื้อจัดจ้างของ อปท. ขาดความโปร่งใส
2.3 ปัญหาที่พบเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล
1) ผู้บริหารท้องถิ่นบางส่วนใช้อำนาจทางการบริหารงานบุคคลท้องถิ่นโดยมิชอบ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่เครือญาติ พวกพ้อง หรือนายทุน ทำให้การบริหารงานบุคคลของท้องถิ่นไม่เป็นไปตามระบบคุณธรรม (Merit System)
2) ผู้บริหารท้องถิ่นใช้อำนาจกำหนดกรอบอัตรากำลังของ อปท. ไม่สัมพันธ์กับภาระงานที่มีอยู่จริง เนื่องจากผู้มีอำนาจเปิดกรอบอัตรากำลังเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเครือญาติหรือพวกพ้องของตนโดยไม่คำนึงถึงความเหมาะสมกับปริมาณงานที่มีอยู่ในปัจจุบัน
3.มิติการกำกับดูแลและการตรวจสอบ
สรุปปัญหาได้ ดังนี้
กระบวนการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจของผู้บริหารท้องถิ่น จากทั้งภายในองค์กร ได้แก่ ฝ่ายสภาหน่วยตรวจสอบภายใน และจากภายนอกองค์กร ได้แก่ องค์กรอิสระ สื่อมวลชน ภาคประชาสังคมไม่มีประสิทธิภาพ นำไปสู่การกำหนดนโยบายที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ตนเองและพวกพ้อง รวมถึงหน่วยงานที่กำกับดูแลมีความเชื่อมโยงกับ อปท. ในเรื่องการขอสนับสนุนงบประมาณอุดหนุน ทำให้หน่วยงานกำกับดูแลมีความเกรงใจไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่กำกับดูแลได้อย่างเต็มที่
ส่วนการดำเนินงานของหน่วยงานตรวจสอบ เช่น ป.ป.ช. มีความล่าช้า ไม่ทันต่อสถานการณ์ทุจริต ส่งผลให้ผู้บริหารท้องถิ่นบางแห่งไม่มีความเกรงกลัวต่อกฎหมาย รวมถึงไม่มีบทลงโทษเรื่องการถอดถอนผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมาชิกสภาท้องถิ่น ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดในภายหลังจากที่ผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมาชิกสภาท้องถิ่น พ้นวาระการดำรงตำแหน่งแล้ว และอยู่ระหว่างการดำรงตำแหน่งวาระใหม่
นอกจากนี้ในส่วนของการใช้ดุลยพินิจในการตีความข้อกฎหมาย ระเบียบ ของเจ้าหน้าที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทำให้การตรวจสอบ อปท. แต่ละแห่งมีความแตกต่างกัน อาจนำไปสู่ความร่วมมือระหว่างผู้บริหารท้องถิ่นและหน่วยงานตรวจสอบในการทุจริตเชิงนโยบายอีกด้วย
อ่านประกอบ : ท้องถิ่นไม่กลัวกม.! เหตุ ป.ป.ช.ปราบโกงช้า-ไร้บทลงโทษจริงจัง