มาเลย์ดึงผู้เห็นต่างฯ6กลุ่มตั้ง "องค์กรร่ม" พูดคุยดับไฟใต้กับรัฐบาลไทย
มาเลเซียดึงกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ 6 กลุ่มร่วมพูดคุยสันติสุขดับไฟใต้กับรัฐบาลไทย ในนามองค์กร MARA Patani หรือที่ใช้ชื่อเป็นภาษาไทยอย่างไม่เป็นทางการว่า สภาพันธะแห่งประชาชนปาตานี
กระบวนการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่รัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศเดินหน้าตั้งแต่ตั้งรัฐบาลใหม่ๆ เมื่อปีที่แล้วนั้น ที่ผ่านมากลับไม่มีความคืบหน้าที่ชัดเจน แม้ฝ่ายไทยจะมีการตั้ง พลเอกอักษรา เกิดผล ประธานคณะที่ปรึกษากองทัพบก เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายไทย พร้อมเห็นชอบให้ ดาโต๊ะ สรี อาหมัด ซัมซามิน ฮาซิม เป็นผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุย ต่อเนื่องจากการพูดคุยที่ริเริ่มขึ้นในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่มี พลโทภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายไทย
มาเลเซียได้ตั้งสำนักงานเลขานุการของคณะทำงานร่วมกระบวนการพูดคุยสันติสุข หรือ Joint Working Group-Peace Dialogue Process (JWG-PDP) ขึ้นมา โดยมี ดาโต๊ะซัมซามิน เป็นประธาน ซึ่งในช่วงต้นมีความคืบหน้าค่อนข้างน้อย เพราะอยู่ในขั้นตอนการร่างข้อตกลงและสร้างความเข้าใจร่วมกัน ขณะที่รัฐบาลไทยเรียกร้องให้มาเลเซียนำ "ตัวจริง" มาร่วมโต๊ะพูดคุย
ล่าสุดเรื่องนี้มีความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญแล้ว คือ สำนักงานเลขานุการคณะทำงานร่วมกระบวนการพูดคุยสันติสุข ได้จัดประชุมร่วมกับตัวแทนกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ 6 กลุ่ม ในนามองค์กร MARA Patani (Majlis Amanah Rakyat Patani) หรือ สภาพันธะแห่งประชาชนปาตานี โดย 6 กลุ่มที่เข้าร่วม ประกอบด้วย บีอาร์เอ็น, พูโล 3 กลุ่มย่อย, บีไอพีพี และจีเอ็มไอพี
ทั้งนี้ พูโล 3 กลุ่มย่อย มีกลุ่มของ นายกัสตูรี มาห์โกตา ซึ่งถูกกีดกันไม่ให้เข้าร่วมในช่วงแรก รวมอยู่ด้วย ขณะที่บีอาร์เอ็นมี นายอาวัง ยาบะ คนสนิทของ นายฮัสซัน ตอยิบ อดีตหัวหน้าคณะพูดคุยสันติภาพฝ่ายบีอาร์เอ็นในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ซึ่งเคยปรากฏตัวในวันลงนามในข้อตกลงริเริ่มกระบวนการพูดคุยเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2556 เป็นหนึ่งในผู้แทน
ข้อตกลงการตั้งองค์กร MARA Patani เป็นความเห็นร่วมกันของทั้ง 6 กลุ่มเพื่อให้ฝ่ายผู้เห็นต่างสามารถติดต่อสื่อสารถึงกันและกันได้สะดวก รวดเร็ว และเป็นเอกภาพ
การประชุมดังกล่าวซึ่งทางการมาเลเซียจัดขึ้นนั้น ถือเป็นการประชุมอย่างเป็นทางการครั้งแรกภายใต้องค์กร MARA Patani ภายหลังจากที่มีการประชุมนอกรอบกันก่อนหน้านั้นที่ประเทศอินโดนีเซีย
ตัวแทนทั้ง 6 กลุ่มเห็นพ้องกันว่า องค์กร MARA Patani จะทำหน้าที่เป็นองค์กรตัวแทนสูงสุดในการพูดคุยสันติสุขกับรัฐบาลไทย แต่ก็มีการเสนอให้มีคำสั่งหรือการมอบอำนาจเป็นลายลักษณ์อักษรจากฝ่ายต่างๆ ตามลำดับชั้น เพื่อไม่ให้ข้อตกลงหรือฉันทามติถูกปฏิเสธในภายหลัง
หลังจากนี้จะมีการประชุมนอกรอบกันอีกครั้งเพื่อวางแผนการเปิดตัวและประชาสัมพันธ์องค์กรสู่สาธารณะ ก่อนจะนัดเปิดโต๊ะพูดคุยกับรัฐบาลไทยอย่างเป็นทางการในช่วงต้นเดือนมิถุนายน ซึ่งทางการไทยต้องการให้เป็นการประชุมลับ ขณะที่ฝ่ายผู้เห็นต่างเสนอให้มาเลเซียกดดันรัฐบาลไทยให้ประกาศเรื่องการพูดคุยสันติสุขเป็นวาระแห่งชาติ
นักรบในพื้นที่ยันบีอาร์เอ็นไม่ร่วมวง
มีรายงานจากในพื้นที่ชายแดนใต้ว่า ก่อนการเปิดตัวองค์กร MARA Patani มีความเคลื่อนไหวจากคณะพูดคุยสันติสุขฝ่ายไทย นำโดย พลเอกอักษรา เกิดผล พร้อมด้วยนายทหารในคณะพูดคุย ได้เปิดวงพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการเพื่อทำความรู้จักกับแกนนำฝ่ายบีอาร์เอ็น พูโล บีเอ็นพีพี และจีเอ็มไอพี โดยรูปแบบการประชุมเป็นการประชุมลับ
"เขาพยายามจะคุยกับแกนนำต่างๆ ในประเทศมาเลเซีย แต่ไม่มีใครมั่นใจและกล้าออกมา (หมายถึงกลุ่มแกนนำตัวจริง) เพราะกลัวทหารหลอก ปีที่ผ่านมาในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่นายฮัสซัน ตอยิบ ออกมาร่วมพูดคุยนั้น ก็เพราะถูกฝ่ายมาเลเซียกดดัน ไม่ได้ออกมาอย่างเต็มใจ และผลที่ออกมาก็ถือว่าล้มเหลว โดยเฉพาะข้อเรียกร้อง 5 ข้อที่บีอาร์เอ็นเสนอ" แหล่งข่าวผู้เห็นต่างจากรัฐซึ่งพำนักอยู่ในพื้นที่ชายแดนใต้ ระบุ
ย้ำตัวจริงอยู่ในพื้นที่-เตือนรัฐอย่าหลงทาง
ขณะที่อดีตแกนนำบีอาร์เอ็นซึ่งเคยเคลื่อนไหวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้กล่าวว่า ทุกวันนี้ทหารพยายามขยับทุกทาง ทั้งทางลับและทางเปิดเพื่อให้การพูดคุยเกิดขึ้นให้ได้ โดยต้องการให้บีอาร์เอ็นร่วมโต๊ะพูดคุยด้วย แต่เท่าที่ทราบบีอาร์เอ็นไม่ยอมออกมา เพราะรู้ว่าออกมาจะเกิดอะไรต่อหลังจากนั้น
"รัฐไทยไม่จริงใจ ข้อเรียกร้อง 5 ข้อที่เสนอในยุค นายฮัสซัน ตอยิบ ก็ไม่ได้หยิบยกมาคุยแม้แต่ข้อเดียว ทั้งที่บางข้อก็ไม่ได้ผิดรัฐธรรมนูญไทย แต่ก็ไม่ยอมให้ แล้วจะให้ออกมาคุยอะไร ที่สำคัญถ้าจะคุยก็ต้องมาคุยในพื้นที่ เพราะคนที่สั่งการอยู่ในพื้นที่ ยังสามารถสั่งการได้ตามปกติ ยังไม่ถูกหมายอะไรด้วยซ้ำ ทหารคิดแต่จะคุยกับคนที่อยู่มาเลเซีย คนพวกนั้นเป็นระดับเบอร์สาม เบอร์สี่แล้ว" อดีตแกนนำบีอาร์เอ็น ระบุ
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ดาโต๊ะซัมซามิน