หายนะ...จุดตัดทางรถไฟ อุบัติเหตุ หรือ ความหละหลวมของภาครัฐ?
เหตุการณ์รถบรรทุกดิน หมายเลขทะเบียน 81-2864 ชัยนาท พุ่งตัดหน้ารถไฟดีเซลรางขบวนที่ 413 นครราชสีมา-หนองคาย บริเวณจุดตัดทางรถไฟบ้านหนองกุง หมู่ 17 ต.ศิลา อ.เมือง จ.ขอนแก่น ระหว่างสถานีขอนแก่น เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2557 ที่ผ่านมา เป็นเหตุให้รถบรรทุกสิบล้อถูกแรงอัดจากรถไฟกระเด็นไปไกลกว่า 50 เมตร ส่วนรถไฟเสียหลักกระเด็นตกราง 2 โบกี้ สภาพพังยับเยิน ทำให้มีผู้เสียชีวิต 5 ราย ทั้งพนักงานขับรถไฟ ช่างเครื่องประจำขบวน และผู้โดยสารอีก 3 ราย โดยมีผู้โดยสารก่า 40 รายได้รับบาดเจ็บ ส่งผลให้ต้องหยุดเดินรถไฟจากจังหวัดขอนแก่น ไปจังหวัดอุดรธานีและจังหวัดหนองคาย
“ประมาท”.... จำเลยหลัก อุบัติเหตุจุดตัดทางรถไฟ
ผู้เห็นเหตุการณ์ เล่าว่า เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. รถบรรทุกคันที่เกิดเหตุ บรรทุกดินและหินมาเต็มคันรถ ปิดกระจกทั้ง 2 ด้านของห้องโดยสาร ระหว่างผ่านจุดตัดทางรถไฟ เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ขบวนรถไฟกำลังจะเคลื่อนเข้ามา พร้อมเปิดหวูดเสียงดังเพื่อเตือนว่า รถไฟกำลังจะผ่านจุดตัดกับถนน ซึ่งขบวนรถไฟจะเปิดทุกครั้งที่ผ่านชุมชนหรือจุดตัดระหว่างถนนกับทางรถไฟ แต่รถบรรทุกยังขับข้ามจุดตัดไป ทำให้ชนกันอย่างแรง
คำบอกเล่านี้ ทำให้อุบัติเหตุที่เกิดขึ้น ถูกมองว่า เป็นผลมาจากความประมาทของผู้ขับขี่รถบรรทุกเท่านั้น
แต่คำให้การของคนขับรถบรรทุก...ต่างออกไป
คนขับรถบรรทุก ซึ่งถูกตั้งข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต.. ให้การแก่พนักงานสอบสวน สภ.เมืองขอนแก่นว่า... “จุดตัดทางรถไฟนี้ไม่มีแผงกั้น และมองไม่เห็นว่ามีรถไฟกำลังวิ่งมา”
จุดตัดทางรถไฟบ้านหนองกุง เป็นจุดตัดทางรถไฟผ่านถนนสายรองสายรองในชุมชน ได้รับอนุญาตถูกต้องตามกฎหมายและมีป้ายหยุด ป้ายระวังรถไฟ ติดไว้อย่างชัดเจน
แต่....ไม่มีเครื่องกั้นอัตโนมัติ
พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 ในมาตรา 62 ซึ่งระบุว่า “ในทางเดินรถตอนใดที่มีทางรถไฟผ่าน ถ้าปรากฏว่ามีเครื่องหมายหรือสัญญาณระวังรถไฟแสดงว่ารถไฟกำลังจะผ่าน หรือมีสิ่งปิดกั้นหรือมีเจ้าหน้าที่ให้สัญญาณแสดงว่ารถไฟกำลังจะผ่าน หรือมีเสียงสัญญาณของรถไฟหรือรถไฟกำลังแล่นผ่าน ผู้ขับขี่ต้องลดความเร็วของรถและหยุดรถให้ห่างจากทางรถไฟไม่น้อยกว่า 5 เมตร เมื่อรถไฟผ่านไปแล้วและมีเครื่องหมายหรือสัญญาณให้รถผ่านได้ ผู้ขับขี่จึงจะขับรถผ่านไปได้”...
ส่วนมาตรา 63 ระบุว่า “ในทางเดินรถตอนใดที่มีทางรถไฟผ่าน ไม่ว่าจะมีเครื่องหมายระวังรถไฟหรือไม่ ถ้าทางรถไฟนั่นไม่มีสัญญาณระวังรถไฟ หรือสิ่งปิดกั้น ผู้ขับขี่ต้องลดความเร็วของรถและหยุดรถห่างจากทางรถไฟในระยะไม่น้อยกว่า 5 เมตร เมื่อเห็นว่าปลอดภัยแล้วจึงจะขับผ่านไปได้”
กฎหมาย จึงเป็นแนวทางที่การรถไฟแห่งประเทศไทยใช้อธิบาย เมื่อมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นเช่นนี้ และไม่ต้องรับเป็นความผิดของการรถไฟ
“กฎหมาย” .... ช่วยลดอุบัติเหตุจากจุดตัดทางรถไฟ... จริงหรือ
เมื่อยังมีผู้คนไม่น้อยมาสังเวยชีวิตบนจุดตัดทางรถไฟ...หรือมีปรากฏการณ์ ที่ชี้ให้เห็นว่า เพียงข้อความในกฎหมาย ไม่สามารถหยุดยั้งการเกิดอุบัติเหตุที่เป็นรูปธรรมได้
ชาวบ้านหนองกุงรายหนึ่ง เปิดเผยว่า ตนใช้เส้นทางจุดตัดรถไฟบ้านหนองกุง-ศิลาจุดที่เกิดเหตุนี้เป็นประจำ ในฐานะของผู้ขับขี่บนทางถนนได้ทำตามกฎจราจรคือหยุดรถมองซ้ายและมองขวาก่อนข้ามจุดตัดทางรถไฟในบริเวณนี้ แต่พอมาหยุดดูรถไฟก่อนตัดสินใจข้าม พบว่าดินถูกยกสูงจากการทำทางรถไฟใหม่ ซึ่งแตกต่างจากที่อื่นซึ่งถนนระนาบไปในระดับเสมอกัน และหญ้าขึ้นรกบังทัศนวิสัยในการมองเห็น และจากการสังเกตไม่พบว่ามีหน่วยงานไหนออกมาดูแลปรับเกลี่ยพื้นที่ในจุดนี้ ซึ่งมองว่าจุดนี้เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ ทั้งนี้เกิดจากความประมาทของผู้ขับขี่ด้วยเช่นกัน
จากข้อมูลทางสถิติของการรถไฟแห่งประเทศไทย ตลอด 12 ปี ระหว่างปี 2545-2557 ระบุชัดเจนว่า มีอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดทางรถไฟเกิดขึ้นรวมถึง 1,200 ครั้ง เฉลี่ยถึงปีละ 100 ครั้ง และหากพิจารณาข้อมูลล่าสุด ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 57 ถึงเดือนตุลาคม 2557 มีตัวเลขที่สอดคล้องกัน คือ เกิดอุบัติเหตุสูงถึง 127 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 33 ราย และบาดเจ็บ 116 ราย
ช่วงระหว่างวันที่ 28 ธ.ค.57 ถึงวันที่ 2 ม.ค. 58 เกิดอุบัติเหตุบนจุดตัดทางรถไฟถึง 3 ครั้งในรอบ 1 สัปดาห์ ที่จุดตัดทางรถไฟบ้านอุดมพัฒนา ม. 2 เทศบาลตำบลหนองขอนกว้าง อ.เมือง จ.อุดรธานี เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตรวม 5 ราย บาดเจ็บ 4 ราย ตรวจสอบผ่านกล้องวงจรปิดพบว่า เส้นทางมีแสงสว่างไม่เพียงพอ ป้ายเตือนไม่สะท้อนแสง และทางรถไฟมีระดับเดียวกับพื้นถนน ... สาเหตุเหล่านี้ สะท้อนให้เห็น “ความบกพร่องของระบบ” ที่มากกว่า “ความประมาท”
นายวัฒนา คงมั่น ผู้อำนวยการศูนย์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในภาคอีสานมีจุดตัดรถไฟมากถึง 300 แห่ง มีกว่า 150 แห่ง ที่ยังไม่มีเครื่องกั้นรถไฟอัตโนมัติ เพราะต้องใช้เงินลงทุนสูงถึง 4 ล้านบาทต่อการติดตั้ง 1 จุด ประกอบด้วย อุปกรณ์ทางอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องรับล้อ อุปกรณ์ติดตั้ง สายเคเบิล เป็นต้น ซึ่งขณะนี้เพิ่งได้รับอนุมัติให้มีการดำเนินการติดตั้งเครื่องกั้นรถไฟอัตโนมัติทั้งหมด 61 แห่ง จากทั้งหมด 130 แห่งทั่วประเทศ โดยหนึ่งในนั้น คือ จุดตัดทางรถไฟบ้านหนองกุง-ศิลา จ.ขอนแก่นที่เกิดเหตุล่าสุด ได้รับการจัดสรรอยู่ในกรอบงบประมาณปี 58
นั่นคงสะท้อนได้ว่า ภาครัฐเอง รับรู้ดีว่า อุบัติเหตุบนจุดตัดทางรถไฟ ไม่ได้เกิดจากความประมาทเท่านั้น
เช่นเดียวกับจุดตัดทางรถไฟไม่ถาวร หรือที่เรียกว่าทางลักผ่าน หรือเส้นทางเก่าที่ชาวบ้านใช้ดั้งเดิมอยู่แล้ว การรถไฟแห่งประเทศไทย ถือว่า เป็นเส้นทางที่ยังไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งแม้จะห้ามปราม แต่ชาวบ้านก็ยังคงใช้เส้นทางตามปกติอยู่ จึงต้องเร่งทำให้เกิดมาตรฐาน ทั้งสัญญาณเตือนโดยระบบไฟฟ้า และทำป้ายเตือนระวังรถไฟไปก่อน
ส่วนปัญหาหญ้ารกตามข้างทางที่บดบังทัศนวิสัยของผู้ขับขี่รถข้ามจุดตัดทางรถไฟ ทางการรถไฟแห่งประเทศไทย อ้างว่า มีเจ้าหน้าที่สารวัตรบำรุงทางคอยดูแลตรวจสอบความเรียบร้อยของพื้นที่โดยรอบทางรถไฟตลอดเวลาอยู่แล้ว
ปัจจุบันจุดตัดทางรถไฟในประเทศไทยมีอยู่ 2,518 แห่ง แบ่งเป็น ทางตัดที่มีคานกั้นถนน 834 แห่ง ทางตัดที่มีไฟเตือน 40 แห่ง จุดตัดที่มีป้ายจราจรเตือน 788 แห่ง ทางลักผ่าน 590 แห่ง ทางตัดผ่านของเอกชน 5 แห่ง ทางตัดที่เป็นสะพานข้าม (Over Pass)144 แห่ง ทางตัดตัดที่มีทางลอดใต้ทางรถไฟ (Under Pass) 177 แห่ง (ที่มาจากสำนักงานนโยบายและแผนการรถไฟแห่งประเทศไทย)
แต่สิ่งที่ชี้ปัญหาชัดเจน คือ อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบริเวณจุดตัดทางรถ ส่วนใหญ่เกิดที่บริเวณจุดตัดทางรถไฟที่ไม่มีเครื่องกั้นประกอบด้วย จุดตัดทางรถไฟประเภททางลักผ่าน และจุดตัดทางรถไฟที่ควบคุมด้วยเครื่องหมายจราจรเพียงอย่างเดียว
ส่วนสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุในบริเวณจุดตัดทางรถไฟ เช่น การมีเครื่องหมายจราจรไม่ครบถ้วน ไม่ได้มาตรฐาน หรือ อยู่ในสภาพชำรุด ถนนช่วงเข้าสู่จุดตัดทางรถไฟมีความลาดชันจึงทำให้ไม่สามารถหยุดยานพาหนะได้ทัน สภาพผิวจราจรบริเวณจุดตัดทางรถไฟชำรุด มีสิ่งปลูกสร้าง พุ่มไม้หรือหญ้าสูงบริเวณข้างทางรถไฟ ทำให้ระยะการมองเห็นรถไฟที่กำลังเคลื่อนเข้ามาในบริเวณจุดตัดทางรถไฟมีไม่เพียงพอ การไม่มีไฟฟ้าและแสงสว่างบริเวณจุดตัดทางรถไฟ หรือการที่ผู้ขับขี่มีพฤติกรรมที่ขับฝ่าเครื่องกั้น