ยูนิเซฟชี้แผ่นดินไหวเนปาลทำเด็กเกือบหนึ่งล้าน อดไปโรงเรียน
กรุงกาฐมาณฑุ 8 พฤษภาคม 2558 – องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือยูนิเซฟ ระบุวันนี้ว่าเด็กอย่างน้อย 950,000 คนในเนปาลจะไม่สามารถกลับเข้าเรียนได้อีก หากไม่มีการจัดหาพื้นที่เรียนรู้ชั่วคราวและซ่อมแซมอาคารเรียนที่ได้รับความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวอย่างเร่งด่วน โดยขณะนี้มีห้องเรียนเกือบ 24,000 แห่งที่ได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหวและอาฟเตอร์ช็อกที่ผ่านมา
ในขณะที่โรงเรียนในเนปาลมีกำหนดเปิดเทอมในวันที่ 15 พฤษภาคมนี้ ยูนิเซฟคาดว่าวิกฤตด้านการศึกษานี้จะรุนแรงยิ่งขึ้นในอีกไม่ช้าเมื่อได้รับข้อมูลความเสียหายเพิ่มเติมจากพื้นที่ห่างไกลที่ได้รับผลกระทบ
“เด็กเกือบหนึ่งล้านคนที่เคยได้ไปโรงเรียนตามปกติก่อนแผ่นดินไหว ตอนนี้ไม่มีที่จะไปเรียน” นายโทโมโอะ โฮซูมิ ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประจำประเทศเนปาลกล่าว
“แม้ว่าตอนนี้เด็กๆ ต้องการความช่วยเหลือในด้านต่างๆ เช่น น้ำสะอาดและที่อยู่อาศัยเพื่อการอยู่รอด แต่การได้ไปโรงเรียนก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกันแม้ว่าจะเป็นการจัดตั้งโรงเรียนแบบชั่วคราวก็ตาม ทั้งนี้เพราะมันช่วยให้การศึกษาของเด็กไม่ขาดตอน และการไปโรงเรียนยังช่วยปกป้องคุ้มครองเด็กจากความเสี่ยงที่ถูกแสวงประโยชน์หรือถูกล่วงละเมิด รวมทั้งยังช่วยให้เด็กๆ ได้รับข่าวสารที่จำเป็นในการดูแลตัวเอง นอกจากนี้ การไปโรงเรียนยังช่วยให้เด็กรู้สึกกลับมามีชีวิตตามปกติได้เร็วขึ้น ซึ่งถือเป็นการช่วยเยียวยาจิตใจเด็กๆ จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น”
ขณะนี้ มีการประมาณการณ์ว่า โรงเรียนกว่าร้อยละ 90 ในเขตที่ได้รับผลกระทบรุนแรง ได้แก่ กอร์ข่า สินธุปาโชค และนุวะโกฏได้รับความเสียหาย ขณะที่โรงเรียนร้อยละ 80 ในเขตดาห์ดิงพังถล่มลงมา สำหรับในพื้นที่อื่นๆ เช่น กาฐมาณฑุและเขตบัคตาปูร์ อาคารเรียนที่เหลืออยู่ประมาณ 9 ใน 10 แห่งถูกใช้เป็นที่พักพิงชั่วคราวสำหรับผู้ประสบภัย
ยูนิเซฟมีความกังวลว่า ความเสียหายเหล่านี้จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่ออัตราการเข้าเรียนระดับชั้นประถมของเด็กๆ ในเนปาล ซึ่งอัตราการเข้าเรียนได้เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 64 ในพ.ศ. 2533 เป็นกว่าร้อยละ 95 ในปัจจุบัน
นอกจากนี้ การออกจากโรงเรียนกลางคันของเด็กในเนปาลก็เป็นปัญหาสำคัญที่มีอยู่ก่อนแผ่นดินไหว โดยเด็กเนปาลอายุระหว่าง 5 ถึง 16 ปีราว 1.2 ล้านคน ไม่เคยเข้าเรียนหรือไม่ก็เลิกเรียนกลางคัน ยูนิเซฟพบว่าเด็กที่ไม่ได้เข้าเรียนเป็นเวลานาน รวมถึงในช่วงที่เกิดเหตุภัยพิบัติ มักจะไม่ค่อยได้กลับเข้าเรียนอีก
“การหยุดเรียนเป็นเวลานานส่งผลเสียต่อพัฒนาการและโอกาสในอนาคตของเด็ก เพราะฉะนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการจัดตั้งพื้นที่เรียนรู้ชั่วคราว ตลอดจนเร่งประเมินและซ่อมแซมอาคารเรียน และรณรงค์ให้ครอบครัวส่งลูกหลานกลับเข้าเรียนตามเดิม” นายโฮซูมิกล่าว
ยูนิเซฟและพันธมิตรกำลังเร่งดำเนินการเพื่อให้เด็กได้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาโดยเร็วที่สุด ซึ่งรวมถึงการจัดตั้ง “พื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก” และพื้นที่เรียนรู้ชั่วคราวในเขตที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว 14 แห่ง ในขณะเดียวกันก็ทำการประเมินโครงสร้างและความปลอดภัยของอาคารเรียนที่ยังใช้การได้
ขณะนี้ยูนิเซฟยังคงระดมทุนจำนวน 50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมแก่ผู้ประสบภัยในอีกสามเดือนข้างหน้า
อัพเดทภาพและวิดีโอคลิปจากยูนิเซฟเพิ่มเติม
http://uni.cf/1HH6SbO