พบ13โรฮิงญากลางป่ายางพาราหาดใหญ่ กรรมการสิทธิขยับลงพื้นที่
เจ้าหน้าที่เริ่มพบชาวโรฮิงญาที่รอดชีวิตมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ตำรวจออกหมายจับขบวนการค้ามนุษย์เพิ่มเป็น 18 คน รองนายกเล็กปาดังฯดอดมอบตัว ผบ.ตร.สั่งย้ายตำรวจ 38 นายที่อาจบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่
วันพฤหัสบดีที่ 7 พฤษภาคม 2558 นายณรงค์พร ณ พัทลุง นายอำเภอหาดใหญ่ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่อาสารักษาดินแดน หรือ อส.ประจำอำเภอหาดใหญ่ ได้นำกำลังไปควบคุมตัวชาวโรฮิงญาในพื้นที่ป่าสวนยางพารา หมู่ 7 ตำบลฉลุง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา หลังจากได้รับแจ้งจากกำนันและผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ โดยพบชายชาวโรฮิงญาจำนวน 13 คน อายุ 19-35 ปี จึงได้ควบคุมตัวทั้งหมดไปสอบสวนเพิ่มเติมยังที่ว่าการอำเภอหาดใหญ่ ก่อนนำตัวส่งไปให้พนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรทุ่งตำเสา อำเภอหาดใหญ่ เพื่อดำเนินการต่อไป
นายอำเภอหาดใหญ่ กล่าวว่า จากการสอบถามหัวหน้าชาวโรฮิงญากลุ่มนี้ ทราบว่าเดิมอยู่ด้วยกันทั้งหมดประมาณ 30 คน เดินทางโดยใช้เรือมาจากจังหวัดเกาะสอง ประเทศเมียนมาร์ ขึ้นฝั่งที่จังหวัดสตูล และเดินอยู่ในป่ากันเองเป็นเวลา 13 วัน กระทั่งมาพบชาวบ้านดังกล่าว โดยชาวโรฮิงญากลุ่มนี้ไม่ได้ใช้วิธีจ่ายเงินค่าจ้างในการเดินทาง แต่ใช้วิธีหลบหนีไปประเทศที่สาม มีคนนำทาง เมื่อถึงปลายทางจะทำงานชดใช้ให้นายจ้างเป็นเวลา 2 ปี แต่กรณีนี้คนนำทางได้หลบหนีไปก่อนหลายวันแล้ว
นอกจากชาวโรฮิงญา 13 คนที่พบในวันนี้แล้ว เมื่อวานในพื้นที่อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นพื้นที่รอยต่อกับตำบลฉลุง อำเภอหาดใหญ่ เจ้าหน้าที่พบชาวโรฮิงญาอีก 16 คน มีทั้งผู้หญิงและเด็ก
ขุดสุสานอีกแห่ง-เจอแคมป์เก่า
ช่วงเช้าวันเดียวกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดนที่43 ได้เข้าตรวจสอบกุโบร์ หรือสุสานของมุสลิม ในพื้นที่ป่าสาธารณะ หมู่7 บ้านฉลุง ตำบลฉลุง อำเภอหาดใหญ่ เขตรอยต่อกับพื้นที่หมู่ 10 ตำบลกำแพงเพชร อำเภอรัตภูมิ ซึ่งเป็นสุสานเก่าที่ถูกทิ้งร้างมานานเกือบ 40 ปี โดยพบหลุมฝังศพต้องสงสัยมีประมาณ 30 หลุม ลักษณะหลุมเหมือนกับที่พบบนยอดเขาแก้ว ตำบลปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ชาวบ้านยืนยันว่าภายในกุโบร์แห่งนี้เดิมมีหลุมฝังศพอยู่เพียง 6 หลุมเท่านั้น ส่วนหลุมที่พบคาดว่าน่าจะนำมาฝังประมาณ 1 ปีก่อนหน้านี้ ซึ่งเมื่อราวปี 2556 บริเวณดังกล่าวเคยถูกใช้เป็นสถานที่พักชาวโรฮิงญาขนาดใหญ่อีกแห่งหนึ่งของจังหวัดสงขลา และเคยถูกเจ้าหน้าที่นำกำลังเข้าทลาย
ขณะเดียวกัน จากการออกลาดตระเวนพื้นที่หมู่ 10 บ้านคลองต่อ ตำบลกำแพงเพชร อำเภอรัตภูมิ ใกล้กับที่พบหลุมฝังศพต้องสงสัยแห่งใหม่ พบแคมป์เก่าที่เคยใช้พักชาวโรฮิงญาซึ่งถูกทิ้งร้างมานาน มีร่องรอยของผ้าใบ แคร่ เสื้อผ้า และกระเป๋า รวมทั้งขวดน้ำอยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งแคมป์แห่งนี้ตั้งอยู่กลางสวนยางพารา น่าจะเคยเป็นที่พักชั่วคราวระหว่างเดินทางมาจากจังหวัดสตูล ก่อนพาไปส่งยังอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา และรอข้ามแดนไปประเทศเพื่อนบ้าน
ออกหมายจับเพิ่ม-เด้ง 38 สีกากี
พลตำรวจเอก เอก อังสนานนท์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตำรวจภูธรภาค 9 ได้ออกหมายจับขบวนการค้ามนุษย์ทั้ังหมด 18 คน จากเดิม 8 คน แบ่งเป็นพลเรือน 11 คน และเจ้าหน้าที่รัฐ 7 คน ซึ่งเป็นตำรวจ 2 นาย และข้าราชการท้องถิ่นอีก 2 ราย จนถึงขณะนี้สามารถควบคุมตัวได้แล้ว 4 คน อายัดตัวอีก 1 คน
มีรายงานว่า นายประสิทธิ์ เหล็มเหล๊ะ รองนายกเทศมนตรี เทศบาลเมืองปาดังเบซาร์ หนึ่งในผู้ต้องหาที่ถูกออกหมายจับ ได้เข้ามอบตัวกับ พลตำรวจเอกเอก ที่ศูนย์ปฎิบัติการตำรวจภูธรภาค 9 ส่วนหน้า สถานีตำรวจภูธรหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยเป็นการขอเข้ามอบตัวแบบเงียบๆ เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้แจ้งข้อหาร่วมกันค้ามนุษย์ ร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขัง และร่วมกันเรียกค่าไถ่
ก่อนหน้านี้ พลตำรวจเอกสมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้ลงนามในคำสั่งย้ายตำรวจ 38 นายที่อาจเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์และบกพร่องต่อหน้าที่ แบ่งเป็นตำรวจสังกัดกองบังคับการตำรวจตรวจคนเข้าเมือง 6 จำนวน 13 นาย ตั้งแต่ยศพันตำรวจเอก ถึง ร้อยตำรวจตรี
ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ หรือ ปคม. 7 นาย ระดับ พันตำรวจเอกลงไปถึงพันตำรวจตรี, ตำรวจกองบังคับการตำรวจน้ำ 6 นาย ตั้งแต่ระดับพันตำรวจเอกถึงพันตำรวจโท
ตำรวจภูธรภาค 8 จำนวน 7 นาย ระดับพันตำรวจเอกถึงจ่าสิบตำรวจ และตำรวจภูธรภาค 9 จำนวน 5 นาย ระดับพันตำรวจเอก ถึงร้อยตำรวจเอก
นายกฯสั่งเอ็กซเรย์พื้นที่ใน 10 วัน
ก่อนหน้านั้น เมื่อวันพุธที่ 6 พฤษภาคม พลตรีสรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายรัฐมนตรี กล่าวถึงการพบสถานที่พักพิงและสุสานชาวโรฮิงญา บนเทือกเขาแก้ว ตำบลปะดังเบซาร์ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลาว่า นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ตรวจพื้นที่ภายใน 10 วัน และดำเนินการไม่ให้มีสถานที่กักขัง ควบคุมชาวโรฮิงญา
พร้อมกันนี้ได้มอบหมายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการรับผิดชอบ ส่วนในระดับจังหวัด ให้มีการประชุมร่วมกันของเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อชี้แจงหน้าที่และแนวทางดำเนินการให้ชัดเจน หากพบว่ามีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้ามาเกี่ยวข้องและไม่สามารถดำเนินการได้ ก็ให้แจ้งผ่านกรมการปกครองส่วนกลางเพื่อเข้ามากำกับดูแล
"ประวิตร"ไฟเขียวฟันทหารเอี่ยวค้ามนุษย์
พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง กล่าวถึงข่าวมีทหารเข้าไปเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์โรฮิงญาว่า ผู้บัญชาการทหารบกดูแลอยู่แล้ว หากพบว่าเชื่อมโยงไปถึงข้าราชการทหารคนใด สามารถสั่งย้ายได้ทันที ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ได้เสนอเพิ่มบทลงโทษในกฎหมายเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ ให้เทียบเท่ากับกฏหมายแรงงานประมง เพื่อให้เทียบเท่ากับสากล
ข่าวที่ระบุว่ามีทหารเข้าไปเกี่ยวพันรับผลประโยชน์จากนายหน้าค้าแรงงานชาวโรฮิงญานั้น มีการเปิดข้อมูลเพิ่มเติมว่าเป็นนายทหารยศพันตรี
เลขาฯ ศอ.บต.คาดโทษเจ้าหน้าที่ปกครอง
นายภาณุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. กล่าวถึงสถานการณ์การค้ามนุษย์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า กรณีที่อำเภอสะเดานั้น ทาง ศอ.บต.ได้ตรวจสอบอย่างละเอียดตั้งแต่ที่ได้รับข้อมูล และให้ดำเนินการตรวจสอบผู้เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ ทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และข้าราชการฝ่ายปกครอง หากพบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในทางใดทางหนึ่ง ก็จะถูกลงโทษทันที
ขุดสุสานเก่าพบเพิ่ม 6 ศพโรฮิงญา
ช่วงเช้าวันเดียวกัน พลตำรวจเอกเอก ได้ประชุมตั้งศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้าตำรวจภูธรภาค 9 เพื่อบูรณาการการทำงานสืบสวนสอบสวนคดีค้ามนุษย์ จากนั้นได้ขึ้นบินสำรวจพื้นที่เทือกเขาแก้ว เพื่อตรวจสอบแหล่งพักพิงชั่วคราวของชาวโรฮิงญา
อีกด้านหนึ่ง เจ้าหน้าที่กู้ภัย และเจ้าหน้าที่กองวิทยาการจังหวัดสงขลา ได้ร่วมกันขุดศพชาวโรงฮิงญา ภายในสุสานร้างบริเวณบ้านเกาะใหญ่ หมู่ 8 บ้านตะโล๊ะ ตำบลปาดังเบซาร์ และพบศพเพิ่มอีก 6 ศพ เป็นหญิง 4 ศพ ชาย 2 ศพ
สาเหตุของการขุดสุสานร้างที่ชาวบ้านระบุว่าไม่ได้ใช้ฝังศพมานานกว่า 20 ปีนั้น เพราะพบพิรุธหลายอย่าง โดยเฉพาะร่องรอยการนำศพมาฝังไม่นานนัก
กสม.จี้ตำรวจเร่งหาสาเหตุการเสียชีวิตโรฮิงญา
นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานคณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม. เปิดเผยหลังการประชุมเร่งด่วนกับคณะอนุกรรมการ เกี่ยวกับการพบศพชาวโรฮิงญาจำนวนมากว่า เจ้าหน้าที่ควรตรวจสอบอัตลักษณ์บุคคลของผู้เสียชีวิต และไต่สวนสืบหาสาเหตุการเสียชีวิตอย่างรอบคอบ เนื่องจากเรื่องดังกล่าวมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการติดตามค้นหาศพผู้เสียชีวิต
ส่วนการที่รัฐบาลอาศัยอำนาจพิเศษในการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ นายแพทย์นิรันดร์ คาดว่า จะส่งผลให้การแก้ปัญหาเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปมีส่วนร่วมในขบวนการค้ามนุษย์ ทำได้สะดวกยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ทาง กสม.เตรียมลงพื้นที่ปาดังเบซาร์ในวันที่ 13 พฤษภาคม เพื่อพูดคุยกับภาคประชาสังคมในพื้นที่ และเก็บข้อมูลต่างๆ ด้วย จากนั้นในวันที่ 20 พฤษภาคม จะเชิญจุฬาราชมนตรี สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และตัวแทนเครือข่ายโรฮิงญาผู้เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ เข้ามาชี้แจงข้อมูล ก่อนจะรวบรวมจัดทำเป็นรายงานเสนอรัฐบาลต่อไป
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : สถานที่พักพิงชาวโรฮิงญาที่เจ้าหน้าที่พบเพิ่มเติม