กางกม.-คำชี้แจง“วิชา” ไฉน“มนัส”โดน “คุณหญิงเป็ด”รอดคดีถอดถอน ?
“…ดังนั้นจึงเรียนว่า ป.ป.ช. มิได้เลือกปฏิบัติที่จะถอดถอนนายมนัสแต่อย่างใด เพราะในกรณีของนายไกรสร ป.ป.ช. ก็ส่งเรื่องมาถอดถอนเช่นเดียวกัน ฉะนั้นก็อาศัยแนวทางเดียวกัน และเป็นกระบวนการที่ทำตามอำนาจหน้าที่ ไม่มีสองมาตรฐาน หรือหลายมาตรฐาน แต่มีมาตรฐานเดียวคือมาตรฐานเพื่อแผ่นดิน…”
กลายเป็นประเด็นหนึ่งที่โต้แย้งกันเผ็ดร้อนในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) !
กรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติตีตกสำนวนคดีถอดถอน “คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา” อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กรณีเบิกตั๋วเครื่องบินฟรีไปดูงานต่างประเทศ ช่วงปี 2546
(อ่านประกอบ : “คุณหญิงเป็ด”โล่ง! ป.ป.ช.ตีตกคดีเบิกตั๋วฟรีดูงานตปท. เหตุลงโทษไม่ได้)
แต่กลับส่งคำร้องขอถอดถอน “มนัส สร้อยพลอย” อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ในคดีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) โดยทุจริตและมิชอบ ร่วมกับ 2 นักการเมืองชื่อดัง “บุญทรง เตริยาภิรมย์-ภูมิ สาระผล” อดีต รมว.พาณิชย์ และอดีต รมช.พาณิชย์ ตามลำดับ
ขณะที่วิป สนช. และ สนช. บางราย ตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใด ป.ป.ช. ไม่ส่งการถอดถอนคุณหญิงจารุวรรณ ให้ สนช. เมื่อเทียบกับนายมนัส โดยอ้างว่าพ้นตำแหน่งไปแล้ว ทั้งที่นายมนัสก็เป็นข้าราชการระดับสูงและพ้นตำแหน่งแล้วเช่นกัน
ซึ่งหากเป็นเช่นนี้จะเกิดคำถามต่อสังคมว่าเป็นการทำงานแบบ “สองมาตรฐาน” หรือ “มีธง” ไว้แล้วหรือไม่ ?
เพื่อไขข้อข้องใจดังกล่าว “วิชา มหาคุณ” ได้อธิบายกรณีนี้ระหว่างแถลงปิดสำนวนคดีถอดถอนใน สนช. ไว้แล้ว สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำมาเรียบเรียง ดังนี้
“บังเอิญว่า ได้มีการรายงานต่อสภาแห่งนี้ มีผู้สงสัยว่ากระบวนการถอดถอนนายมนัส เป็นกระบวนการเลือกปฏิบัติหรือไม่ อย่างไร เพราะนายมนัสเองก็เป็นข้าราชการที่พ้นจากตำแหน่ง เหตุใดคุณหญิงจารุวรรณ ซึ่งก็ได้มีการแจ้งให้ สนช. ทราบ ทำไม ป.ป.ช. จึงไม่ดำเนินการถอดถอน”
“ขอเรียนว่า กรณีนายมนัส เป็นกระบวนการที่ถูกร้องเรียนและกล่าวหาว่ากระทำผิดทางอาญา และเป็นตัวการร่วมกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คือ นายบุญทรง และนายภูมิ จึงเป็นกรณีไต่สวนตามมาตรา 66 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 เมื่อ ป.ป.ช. มีมติว่าข้อกล่าวหามีมูลตามมาตรา 56 (1) จึงต้องส่งกระบวนการถอดถอนมายัง สนช.”
“ส่วนกรณีของคุณหญิงจารุวรรณ มิได้มีการร้องเรียนว่ากระทำผิดร่วมกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามมาตรา 66 แต่เริ่มต้นร้องเรียนตามมาตรา 84 คือ ร้องเรียนว่ากระทำความผิดทางวินัยและอาญา ซึ่งเป็นกระบวนการที่เมื่อตรวจสอบพบว่าประพฤติไม่เหมาะสม ปรากฏว่าตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ไม่มีความผิดทางวินัย และไม่มีการยื่นเข้ามาให้ถอดถอน ป.ป.ช. จึงไม่อาจดำเนินการเรื่องถอดถอนได้ แต่ต้องแจ้งให้ สนช. รับทราบ เป็นกระบวนการตามปกติ”
พร้อมกับยกตัวอย่างว่า “กรณีนายมนัสนั้น ป.ป.ช. เคยส่งเรื่องให้วุฒิสภาในอดีตถอดถอน นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีต รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) และนายไกรสร พรสุธี อดีตปลัดกระทรวงไอซีที กรณีอนุมัติแก้ไขสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ เพื่อลดสัดส่วนการถือหุ้นของกลุ่ม ชินแซตเทิร์นไลท์ แต่ว่าทางวุฒิสภาได้ลงคะแนนเสียงข้างมากไม่ถอดถอน”
“ดังนั้นจึงเรียนว่า ป.ป.ช. มิได้เลือกปฏิบัติที่จะถอดถอนนายมนัสแต่อย่างใด เพราะในกรณีของนายไกรสร ป.ป.ช. ก็ส่งเรื่องมาถอดถอนเช่นเดียวกัน ฉะนั้นก็อาศัยแนวทางเดียวกัน และเป็นกระบวนการที่ทำตามอำนาจหน้าที่ ไม่มีสองมาตรฐาน หรือหลายมาตรฐาน แต่มีมาตรฐานเดียวคือมาตรฐานเพื่อแผ่นดิน”
เพื่อขยายความให้ชัดขึ้น สำหรับมาตรา 66 ของ พ.ร.บ.ป.ป.ช. ระบุว่า ในกรณีที่มีผู้เสียหายกล่าวหาว่าผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือข้าราชการการเมืองอื่นร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น ให้ผู้เสียหายยื่นคำร้องเป็นหนังสือต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.
บทบัญญัติตามวรรคหนึ่งให้ใช้บังคับกับกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาหรือบุคคลอื่นเป็นตัวการ ผู้ใช้หรือผู้สนับสนุนด้วย
ส่วนมาตรา 84 นั้น ระบุว่า การกล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐดังต่อไปนี้ว่ากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ให้กล่าวหาต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในขณะที่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่เกินห้าปี ได้แก่
1.ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือผู้บริหารระดับสูงซึ่งมิใช่บุคคลตามมาตรา 66 2.ผู้พิพากษาและตุลาการ 3.พนักงานอัยการ 4.เจ้าหน้าที่ของรัฐในหน่วยงานของศาลและองค์กรตามรัฐธรรมนูญ 5.ผู้บริหารท้องถิ่นฯ 6.เจ้าหน้าที่ของรัฐในสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร-วุฒิสา 7.เจ้าหน้าที่ของรัฐในหน่วยงาน ป.ป.ช. 8.เจ้าหน้าที่รัฐซึ่งกระทำผิดในลักษณะที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นควรดำเนินการ และ 9.เจ้าหน้าที่รัฐซึ่งร่วมกระทำผิดกับบุคคลข้างต้น
ให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับกับกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลอื่นเป็นตัวการ ผู้ใช้หรือผู้สนับสนุนด้วย
ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยอายุความ ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐตามวรรคหนึ่งได้พ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐไปเกินห้าปีแล้ว ย่อมไม่เป็นการตัดอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่จะยกคำกล่าวหาที่ได้มีการกล่าวหาไว้แล้ว หรือกรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นกระทำผิดขึ้นไต่สวนได้ ทั้งนี้ต้องไม่เกินสิบปีนับแต่วันที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพ้นจากตำแหน่งหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐแล้วแต่กรณี
หากสรุปให้ง่ายขึ้นตามคำพูดของ “วิชา” ก็คือ กรณีคุณหญิงจารุวรรณนั้น ถูกร้องเรียนตามมาตรา 84 ของ พ.ร.บ.ป.ป.ช. ซึ่งเป็นการร้องเรียนทางวินัยและอาญา โดยไม่มี “นักการเมือง” มาเกี่ยวข้อง ดังนั้น เมื่อคดีถึงที่สุด เอาผิดทางวินัยและอาญาไม่ได้ จึงไม่จำเป็นต้องส่งเรื่องมาให้วุฒิสภา (สนช. ปฏิบัติหน้าที่แทน) ถอดถอน
ทว่ากรณีของนายมนัส ถูกร้องเรียนตามมาตรา 66 ของ พ.ร.บ.ป.ป.ช. ซึ่งเป็นการร้องเรียนทางคดีอาญาและมี “นักการเมือง” มาเกี่ยวข้องด้วย ดังนั้น เมื่อคดีถึงที่สุด นอกจากจะต้องส่งสำนวนให้กับอัยการสูงสุด (อสส.) ฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้ว ยังต้องส่งเรื่องให้ สนช. เป็นผู้ถอดถอน เช่นเดียวกับกรณีนายไกรสร อีกด้วย
ส่วนจะเป็นเรื่อง “สองมาตรฐาน” หรือ “มีธง” หรือจะเป็น “ความยุติธรรมอำพราง” จริงหรือไม่นั้น
การกระทำที่ผ่านมาย่อมพิสูจน์ได้เป็นอย่างดี !