“เจ้าสัวธนินท์”เก้าอี้ร้อน! สั่งลั่นกลองรบสู้สงครามข่าวไซเบอร์โจมตี“ซีพี”
กระหึ่มโลกออนไลน์! ฟังทุกทัศนะจาก “พลเมืองเน็ต” ถึง “นักวิชาการ" ปม “ดราม่าเครือซีพี” ประกาศไม่ซื้อสินค้าร้านเซเว่นฯ 5 วัน ทำ “เจ้าสัวธนินท์” เก้าอี้ร้อนสั่งตรวจสอบเบื้องหลังกระแสต้าน
กลายเป็นประเด็น “ดราม่า” ขึ้นในสังคมอีกครั้ง เมื่อพูดถึงชื่อ “เครือซีพี (CP)” ในห้วงเวลานี้ !
โดยเฉพาะกรณีล่าสุดที่บรรดาคนในโลก “โซเชียลเน็ตเวิร์ค” ต่างผุดแคมเปญ “บอยคอต” สินค้าเครือซีพี และงดการซื้อของในร้าน “เซเว่น-อีเลฟเว่น” ในช่วงวันที่ 7-11 พ.ค.นี้ นัยว่าเป็นการล้อกับชื่อของร้านค้าปลีกยักษ์ใหญ่ดังกล่าวนั่นเอง
เนื่องจาก “พลเมืองเน็ต” ต่างตั้งข้อสงสัยถึงการ “ลอกเลียนแบบ” สินค้า “คู่แข่ง” ยกตัวอย่างล่าสุดที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนาหูนั่นคือ กรณีการกล่าวหาว่า “ซีพี” ลอกเลียนแบบขนม “โตเกียวบานาน่าไทย” ที่ครั้งหนึ่งเคยสนใจจะสั่งซื้อเพื่อวางขายในร้าน ก่อนจะบอกเลิก และหันมาผลิตจัดจำหน่ายเอง เป็นต้น
และนี่ยังไม่นับกรณีสินค้าหลากหลายแบรนด์ ต่างถูก “ลอกเลียนแบบ” จนหลาย ๆ เจ้าต่างได้รับความเสียหายทางธุรกิจไปตาม ๆ กัน
นอกเหนือไปจากกรณีดังกล่าวแล้ว ก่อนหน้านี้ก็มีอีกหลายประเด็นที่ก่อให้เกิด “ดราม่า” ขึ้นกับบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งนี้
เพื่อขยายความให้ชัดขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ประมวลความเคลื่อนไหว ปรากฏการณ์ “บอยคอต” สินค้าเครือซีพีไว้ ดังนี้
เรื่องราวการผูกขาดธุรกิจของ “เครือซีพี” ถูกเขียนลงบทความเผยแพร่และนำมาขยายความโดยนักวิชาการชื่อดังมาหลายครั้งแล้ว ก่อนหน้าที่เรื่องราวจะบานปลาย จนเกิดกรณี (ที่เขาหาว่า) “Copy & Paste” สินค้าแบรนด์อื่น ๆ นำมาวางขาย
ดังนั้นร้านค้าปลีกยักษ์ใหญ่ มีสาขาเยอะที่สุดในประเทศไทยอย่าง “เซเว่น-อีเลฟเว่น” จึงตกเป็นเป้าใหญ่อย่างช่วยไม่ได้ เพราะนอกจากจะเป็นหนึ่งในเครือซีพีแล้ว ยังเป็นที่จัดจำหน่ายสินค้าเหล่านั้นอีกด้วย
โดยเฉพาะกรณี “โตเกียวบานาน่าไทย” ที่ถูก “เจ้าของจริง” ออกมาเปิดเผยว่า ช่วงแรก “ซีพี” สนใจจะสั่งซื้อเพื่อนำไปวางขายใน “เซเว่นฯ” แต่ต่อมากลับบอกเลิกสัญญา และหันกลับไปผลิตจัดจำหน่ายเอง ส่งผลให้ถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์กันเกรียวกราว
แม้ “ซีพี” จะออกมาชี้แจงรายละเอียดในประเด็นดังกล่าวไปแล้ว โดยระบุว่ามีการเจรจาธุรกิจจริง แต่ก็อยู่ระหว่างเจรจา และพัฒนาสินค้าร่วมกัน ส่วนขนมปังรสกล้วยของ “เลอแปง (หนึ่งในสินค้าเครือซีพี)” ก็ไม่ได้ลอกเลียนแบบ แต่มีวิธีผลิตเฉพาะที่แตกต่าง และพัฒนาโดยทีมวิจัยของบริษัทกว่า 200 คน
แต่การชี้แจงดังกล่าวก็ไม่ได้ลด-ละ-เลิกความข้องใจของสังคมลงได้เลยแม้แต่น้อย !
ล่าสุด นายบัญญัติ คำนูณวัฒน์ ผช.กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ออกมาระบุถึงกรณีนี้ว่า บริษัทมีหน้าทีทำทุกอย่างให้ดีที่สุดสำหรับลูกค้าของร้าน เช่น หาสินค้าที่ดีที่สุด มีคุณภาพมากที่สุด ขายราคาคุ้มค่าที่สุด มีบริการที่ให้ลูกค้าดีที่สุด เมื่อบริษัทมีสินค้าและบริการที่ดี ทุกอย่างย่อมเป็นไปตามกลไกที่ลูกค้าจะเป็นคนเลือกเอง
นอกเหนือไปจากประเด็นการลอกเลียนแบบแล้ว เมื่อช่วงปลายเดือนเมษายน 2558 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติรับทราบแนวทางการแก้ไขปัญหาผลผลิตไข่ไก่ล้นตลาดและราคาตกต่ำ ตามข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ (เอ้กบอร์ด) ด้วยการกำหนดโควตาการนำเข้าไก่ไข่พ่อ-แม่พันธุ์ โดยให้เอ้กบอร์ดมีอำนาจบริหารจัดการไก่ไข่ทั้งระบบ และกรมปศุสัตว์ควบคุมปริมาณการเลี้ยงไก่ไข่และบริหารไก่ไข่โพยพันธุ์ ควบคุมเคลื่อนย้ายสัตว์เข้าเลี้ยงในฟาร์ม
ซึ่งหลายฝ่ายต่างกังวลว่านี่เป็นการปูทางกลับสู่การ “ผูกขาด” อุตสาหกรรม “ไข่ไก่” ให้กับ “นายทุนยักษ์ใหญ่” อีกครั้ง !
เนื่องจากมีอย่างน้อย 2 บริษัทที่เรียกร้องเงินชดเชยให้มีการจำกัดการนำเข้าพ่อ-แม่พันธุ์ไก่ไข่ ล้วนตั้งอยู่ในตึก “ซีพี” ทั้งสิ้น
ขณะเดียวกัน บรรดานักวิชาการทั้งหลายต่างพาเหรดกันเรียกร้องถึงกรณีการผูกขาดสินค้าของซีพี ไม่ว่าจะเป็น “สารี อ๋องสมหวัง” จากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่ระบุว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ได้กลายเป็นบรรษัทข้ามชาติที่มีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมอาหารของภูมิภาคและของโลก ในธุรกิจอาหารสัตว์ การเลี้ยงสัตว์ อาหารแปรรูป และค้าปลีกสมัยใหม่ นี่ยังไม่รวมถึงอุตสาหกรรมและบริการอื่น ๆ (เช่น เครือข่ายโทรศัพท์ (ทรูมูฟ) หรือห้างสรรพสินค้า (แม็คโคร) เป็นต้น-ผู้เขียน)
“เครือเจริญโภคภัณฑ์ครอบครองตลาดเกินครึ่งในกิจการเมล็ดพันธุ์ข้าวและผัก มีอิทธิพลเหนือตลาดในกิจการที่เกี่ยวข้องกับการกระจายอาหารในร้านสะดวกซื้อและห้างค้าส่งขนาดใหญ่ นอกจากนี้ยังเป็นผู้ครอบครองตลาดในสัดส่วนอันดับหนึ่ง เหนือว่าบริษัทอื่น ๆ ในกิจการปุ๋ยเคมี อาหารสัตว์ การผลิตไก่เนื้อ อาหารแช่เย็น แช่แข็ง ฯลฯ”
พร้อมยืนยันว่า “หากปราศจากกติกาควบคุมกลุ่มทุนโดยสังคม การผูกขาดเช่นนี้จะนำไปสู่ปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองอย่างสำคัญ”
นอกจากนั้นมีการส่งต่อบทความที่อ้างว่าเป็นของ “ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์” อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต อดีตประธานรัฐสภาที่ ระบุว่า ระบบการค้าที่ไร้จริยธรรมหวังเพียงผลกำไรนั้นจะทำลายสังคมไม่ต่างกับฝูงตั๊กแตนที่ลงกินไร่จนหมดแล้วบินจากไปกินไร่อื่นต่อ แต่ถ้าเป็นการค้าที่ไม่ได้ข้ามชาติแล้วยังใช้ระบบฝูงตั๊กแตนกินไร่ในการทำธุรกิจ ฝูงตั๊กแตนจะต้องอดตายไปพร้อมกับไร่นั้น
“ซีพีก็เช่นกัน”
ก่อนจะเปรียบเทียบกับประเทศเม็กซิโกและอาร์เจนตินาที่โดนระบบการค้าทุนสูงเข้ามาถล่มอุตสาหกรรมเกษตรของตัวเองจนล่มสลายมาแล้ว ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็น “อาชญากรรมทางเศรษฐกิจ” โดยอำนาจทุนที่เหนือกว่าสมคบกับนักการเมืองที่ไม่ทำหน้าที่ปกป้องประชาชนของตัวเอง ทำลายรากฐานของประเทศจนสังคมดั้งเดิมของประชาชนอยู่ไม่ได้
“ทุกวันนี้สังคมเมืองของไทยก็ไม่ต่างกัน ผู้ค้ารายย่อยถึงกับต้องปิดตัวเองลงทั้งหมดเมื่อมีร้านสะดวกซื้อของซีพีเข้าไปตั้ง ซึ่งกินตลาดเข้าไประดับล่างจนถึงร้านอาหารที่ต้องสู้กับอาหารกล่อง จนแม้แต่รถเข็นหมูปิ้งยังต้องสะเทือนเพราะที่ร้านของซีพีก็มีหมูปิ้งขายเช่นกัน อุตสาหกรรมพื้นฐานหลายอย่างที่ส่งสินค้าเข้าไปขายก็โดนแย่งตลาดโดยมีของที่ห้างโลตัสและซีพี ผลิตติดตราของตัวเองออกมาแข่งขันบนหิ้งเดียวกันแต่ราคาถูกกว่า แล้วไล่สินค้ายี่ห้อดั้งเดิมออกไปวางที่หิ้งหลังร้านแทน”
ทั้งนี้ “ดร.อาทิตย์” สรุปว่า เวลานี้ “แม็คโคร” ก็โดนซื้อจากซีพีไปเรียบร้อยแล้ว “เทสโก้โลตัส” ก็มีข่าวออกมาครึ่งปีว่ากำลังดีลซื้อ จะบอกว่าการค้าส่งและค้าปลีกเกือบทั้งประเทศอยู่ในกำมือของบริษัทเดียวก็ว่าได้ การแข่งขันราคาสินค้าก็จะหมดไป จะตั้งราคาบวกกำไรอย่างไรก็ดี เพราะทุกอย่างอยู่ในมือหมดแล้ว
ที่น่าสนใจคือ ไม่ว่าจะเป็นบรรดานักวิชาการหรือประชาชนจำนวนไม่น้อยต่างกังขากับ “พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542” ซึ่งนับตั้งแต่มีกฎหมายป้องกันการผูกขาดนี้มากว่า 16 ปี กลับไม่มีธุรกิจใดถูกดำเนินคดีด้วย “การค้าที่ไม่เป็นธรรม” แม้แต่รายเดียว ?
อย่างไรก็ตาม ดร.อาทิตย์ออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้เขียนบทความดังกล่าว
ต่อมาเรื่องนี้ภายหลังทาง “ซีพี” ก็แก้เกมด้วยการระบุว่า “ร้านเซเว่น-อีเลฟเว่น” กว่าครึ่ง เป็นแฟรนไชส์ ซึ่งล้วนเป็น “ผู้ประกอบการรายย่อย” ของพี่น้องคนไทยทุกภูมิภาค”
พร้อมยืนยันว่า “ซีพี” เป็นผู้ประกอบการไทยที่ให้ความเคารพกฏหมาย กฎระเบียบของสังคม ไม่ได้มีอิทธิพลทางการเมือง ที่ผ่านมารัฐบาลหรือองค์กรทางการเมืองได้ขอความร่วมมือหรือขอความคิดเห็นต่อการดำเนินนโยบายในการพัฒนาหรือปัญหาของประเทศ ซึ่งก็ได้เสนอแนะข้อคิดตามประสบการณ์และความรู้ที่ซีพีมี ที่ต้องการเห็นการพัฒนาประเทศที่มั่นคงแข็งแรง เป็นประโยชน์
ส่วนกรณีเทสโก้โลตัส-แม็คโครโดนซีพีซื้อแล้วจะทำให้เกือบทั้งประเทศตกอยู่ในกำมือนั้น “ซีพี” แจงว่า ซีพีเป็นริเริ่มนำเทสโก้โลตัสและแม็คโครเข้ามาในไทย แต่ต้องขายกิจการทั้งสองในช่วงเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ซึ่งซีพีเพิ่งซื้อแม็คโครกลับมา ที่มีตลาดสำคัญอย่างร้านค้าย่อย ร้านอาหาร ภัตตาคาร หรือโรงแรม
“ซีพีไม่ได้คุมกิจการอย่างที่เข้าใจ แม้แต่ร้านเซเว่นฯ ซีพีมีสาขาอยู่ปัจจุบัน 8 พันสาขา แต่ร้านโชห่วยทั่วประเทศมีอยู่ถึง 8 แสนราย ซึ่งซีพีมีนโยบายส่งเสริมให้ร้านโชห่วยมีความรู้ มีการบริหารจัดการร้านที่ทันสมัยอีกด้วย”
ด้านข้อครหาที่ว่าแข่งขันแบบเป็นธรรมกับใครไม่เป็นนั้น “ซีพี” ยืนยันว่า เชื่อมั่นในการแข่งขันเสรี และไม่เชื่อว่าการทำธุรกิจผูกขาดจะเป็นผลดี เพราะการผูกขาดทำให้ขาดประสิทธิภาพขาดการสร้างสรรค์ ซึ่งซีพีเชื่อมาตลอดว่าเราไม่ได้เก่งตลอดเวลา ไม่ได้เก่งคนเดียว จึงต้องพัฒนาตัวเองตลอด จึงอยากเห็นผู้ประกอบการไทยมีการพัฒนาขีดความสามารถอยู่ตลอดเวลาเพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันอยู่สม่ำเสมอ
ขณะที่ ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนและการตลาด กล่าวผ่านรายการ “ขยายข่าว : เรื่องจริง..ธุรกิจในโลกเสรี” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ TNN24 ตอนหนึ่งถึงกรณีซีพีว่า ใช้คำว่าผูกขาดยังไงก็ผิด เพราะสินค้าที่ซีพีขายไม่ได้มีเจ้าเดียว ยกตัวอย่างหยิบของในเซเว่นฯมาเลยว่ามีของอะไรบ้างที่ซีพีมีเจ้าเดียว หรือแม้แต่เซเว่นฯก็ไม่ได้ผูกขาด ก็ยังมีร้านอื่น เช่น 108Shop หรือลอว์สัน หรือไม่ เพียงแต่ซีพีได้เปรียบเพราะมีสาขาเยอะกว่า ดังนั้นได้เปรียบกับเอาเปรียบเป็นคนละคำกัน
“ไม่ใช่การผูกขาดแน่นอน” ดร.เสรี ยืนยัน
ส่วนกรณีที่ว่าเป็นการผูกขาดการตลาดนั้น ดร.เสรี อธิบายว่า เมื่อมีการทำธุรกิจหลากหลาย พอทำหลากหลายก็หาว่าผูกขาด แต่จริงแล้วไม่ได้ผูกขาด เพราะบริษัทใหญ่ ๆ ในต่างประเทศเมื่อถึงจุด ๆ หนึ่งก็จะหันเหไปลงทุนสินค้าอื่น ๆ ที่หลากหลายเท่าทีโอกาสอำนวย ซึ่งเรื่องนี้เป็นหลักการของการตลาด
“อยากให้เข้าใจว่า แนวโน้มการทำธุรกิจเป็นอย่างไร ถ้าสมมติว่าเขาทำแล้วขาดจริยธรรม เอาเปรียบ หรือจะกีดกัน หรืออะไรต่าง ๆ อันนั้นค่อยว่ากัน แต่ถ้าทำตามครรลองของธุรกิจ แล้วกระทบใคร คนที่ถูกกระทบต้องรู้จักเตรียมตัว หรือปรับตัว ไม่จำเป็นต้องตาย ถ้าปรับตัวอยู่ได้ แต่ต้องรู้ว่าจะปรับอย่างไร” ดร.เสรี ยืนยันสำหรับคำถามที่ว่า ซีพีเหมือนเจ้าใหญ่ที่รังแกชาวบ้าน ทำให้ร้านโชว์ห่วยตายหมดทั่วประเทศ
ก่อนจะอธิบายว่า หากทำธุรกิจเล็ก ๆ ก็ต้องสร้างภาพลักษณ์ความเชี่ยวชาญให้ได้ แต่ต้องระวังอย่าทำสิ่งที่บริษัทใหญ่อยากจะทำ สำหรับกรณีชาวบ้านนั้นก็ต้องมีการปรับตัวอีกด้วย
(ดูฉบับเต็ม : https://www.youtube.com/watch?v=CIEwAegIjfY&feature=youtu.be&app=desktop)
ทั้งหมดนี้คือทัศนะของบรรดา “สังคมโลกออนไลน์-นักวิชาการ” ทั้ง 2 ฟากฝั่ง ต่อกรณี “ซีพี” ที่กำลังจะปะทุกลายเป็น “สงครามขนาดย่อม” อยู่บนโลกอินเตอร์เน็ต
ล่าสุด มีรายข่าวแจ้งว่า “เจ้าสัวธนินท์” ธนินท์ เจียรวนนท์ ซีอีโอของเครือซีพี ถึงกับ “เก้าอี้ร้อน” นั่งไม่ติด สั่งให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องหลังกระแสต้านดังกล่าวแล้ว ส่วนจะแก้ไขได้หรือไม่ต้องจับตาดู
เบื้องต้นยังไม่มีใครทราบได้ว่า “สงคราม” นี้จะจบอย่างไร แต่ปรากฏการณ์นี้สะท้อนให้เห็นว่า “ซีพี” อยู่ในจุดอันตรายแล้ว
เพราะหากทำธุรกิจไม่มีธรรมาภิบาลตามข้อครหาจริง อาจจะเจอปัญหาไม่รู้จบ !