เปิดสัมพันธ์ลึก!"เจ๊แดง-ร.อ.ธรรมนัส" อำพรางสถานะ"ขาใหญ่" โควตาหวยรัฐ?
"..เมื่อ หจก. ขวัญฤดี และ บริษัท หยาดน้ำเพ็ชร จำกัด เป็นเอกชนกลุ่มเดียว เมื่อนับรวมโควตาสลากที่อยู่ในมือของเอกชนทั้งสองราย นี้ ที่ถูกระบุว่าได้รับรายละ 1.6 ล้านฉบับ/งวด ก็เพิ่มเป็น 3.2 ล้านฉบับ ต่องวดทันที และส่งผลทำให้การจัดอันดับตัวแทนจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล ของเอกชนกลุ่มนี้ ขยับขึ้นมาอยู่อันดับ 2 แทนที่ สมาคมสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่ได้รับโควตา จำนวน 2.7 ล้านฉบับ/งวด..."
แม้ว่าภูมิทัศน์แห่ง "ตัวแทน" จำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่ได้รับโควตาจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ในปัจจุบันจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ตามมุมมองของสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า
หลังจาก "มูลนิธิสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล" ปรากฎรายชื่อเป็นผู้ครอบครองโควตาสลากในปัจจุบันมากกว่า 14 ล้านฉบับต่องวด ถือเป็นอันดับหนึ่ง ในบรรดาจำนวนตัวแทนที่ได้รับโควตาจากสำนักงานสลากฯ นับ 10 ราย จากปริมาณสลากทั้งหมด 74 ล้านฉบับ
ส่วนอันดับที่ 2 คือ สมาคมสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ 2.7 ล้านฉบับ อันดับที่ 3 องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก 2.35 ล้านฉบับ อันดับที่ 4 สมาคมพนักงานผู้เกษียณอายุสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล 2 ล้านฉบับ
ขณะที่โควตาสลากกินแบ่งรัฐบาล ในมือของเอกชน ปัจจุบันมีอยู่จำนวน 3 ราย คือ ห้างหุ้นส่วนจำกัดขวัญฤดี ของ ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า, บริษัท สลากมหาลาภ จำกัด ของ น.ส.สะเรียง อัศววุฒิพงษ์ และบริษัทหยาดน้ำเพชร ของนางปลื้มจิตต์ กนิษฐสุต อยู่ที่จำนวนรายละ 1.6 ล้านฉบับต่องวด ถูกจัดอยู่อันดับที่ 5 โดยในส่วนของบริษัท สลากมหาลาภ จำกัด เคยถูกระบุชื่อเป็นหนึ่งในกลุ่ม "5 เสือกองสลาก" ที่เป็นตัวแทนจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลรายใหญ่ต่อเนื่องยาวนานหลายปี
แต่มีข้อเท็จจริงประการหนึ่ง ที่น่าสนใจ และไม่ควรมองข้าม คือ ความเชื่อมโยงของบริษัทเอกชน 2 ใน 3 ราย ดังกล่าว
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัดขวัญฤดี และ บริษัท หยาดน้ำเพ็ชร จำกัด แท้จริงแล้วมีความเชื่อมโยงเป็นเอกชนกลุ่มเดียวกัน
บริษัท หยาดน้ำเพ็ชร จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2537 มีทุน 1 ล้านบาท ตั้งอยู่เลขที่ 110/2 ถนนวุฒากาศ แขวงตลาดพลู เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร แจ้งประกอบธุรกิจตัวแทนจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล
ปรากฎชื่อ นาง ปลื้มจิตต์ กนิษฐสุต (ในวงการขายสลากกินแบ่ง เรียกว่า "เจ๊แดง" เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ
รายชื่อผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 30 เมษายน 2557 มีจำนวน 6 ราย นาง ปลื้มจิตต์ กนิษฐสุต ถือหุ้นใหญ่สุด 3,000 หุ้น มูลค่า 300,000 บาท นางสาว ปลื้มใจ ศศะรมย์ ถืออยู่ 1,500 หุ้น มูลค่า 150,000 บาท นางสาว ศรีพธู กนิษฐสุต ถืออยู่ 470 หุ้น มูลค่า 47,000 บาท นางสาว พันธุ์ทิพ วัฒนธนาทรัพย์ นาง ภาณี วัฒนธนาทรัพย์ นาย ศิริพงศ์ วัฒนธนาทรัพย์ ถืออยู่เท่ากัน คนละ 10 หุ้น รวมมูลค่า 1,000 บาท
ขณะที่ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ขวัญฤดี จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2550 มีทุน 3 ล้านบาท แจ้งที่ตั้งเลขที่ 888 ถนนอโศก-ดินแดง 3 แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร แจ้งประกอบธุรกิจจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล - ค้าปลีก
ปรากฎชื่อ ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า และ นางสาวขวัญฤดี กนิษฐสุต เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการผู้มีอำนาจ นาย สุธี พงษ์เพียรชอบ เป็นหุ้นส่วนกรรมการ
ทั้งนี้ นางสาวขวัญฤดี กนิษฐสุต มีนามสกุลเดียวกับ นางปลื้มจิตต์ กนิษฐสุต
ขณะที่ในช่วงต้นปี 2555 ร.อ.ธรรมนัส เคยออกมายอมรับว่า เป็นเพื่อนของลูกบุญธรรม นาง ปลื้มจิตต์ และได้ให้ยืมเงินไปลงทุนโควต้าล็อตเตอรี่ แล้วยังไม่คืน จึงต้องไปถือหุ้นใน หจก.ขวัญฤดี
ดังนั้น เมื่อหจก. ขวัญฤดี และ บริษัท หยาดน้ำเพ็ชร จำกัด เป็นเอกชนกลุ่มเดียว เมื่อนับรวมโควตาสลากที่อยู่ในมือของเอกชนทั้งสองราย นี้ ที่ถูกระบุว่าได้รับรายละ 1.6 ล้านฉบับ/งวด ก็เพิ่มเป็น 3.2 ล้านฉบับ ต่องวดทันที
และส่งผลทำให้การจัดอันดับตัวแทนจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล ของเอกชนกลุ่มนี้ ขยับขึ้นมาอยู่อันดับ 2 แทนที่ สมาคมสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่ได้รับโควตา จำนวน 2.7 ล้านฉบับ/งวด
ขณะที่ บทบาทของ ร.อ.ธรรมนัส ในช่วงที่ผ่านมา ก็นับจับตามองอยู่ไม่น้อย
เพราะเคยปรากฎชื่อเป็นอดีตผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย และหนึ่งในบุคคลที่ถูกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรียกเข้าไปรายงานตัว หลังการทำรัฐประหาร 22 พ.ค.57 ด้วย
นอกจากนี้ ยังปรากฎชื่อเป็นเจ้าของธุรกิจหลายแห่ง ในจำนวนนี้มีธุรกิจรักษาความปลอดภัยชื่อ บริษัท ธรรมนัส การ์ด จำกัด หุ้นร่วมกับ พล.อ.ไตรรงค์ อินทรทัต (เสธ.ไอซ์)
(อ่านประกอบ : ธุรกิจ 130 ล้าน“ผู้กองธรรมนัส”อดีตหุ้น“เสธ.ไอซ์”)
ในอดีต ร.อ.ธรรมนัส เป็นผู้กว้างขวางเคยเกี่ยวข้องกับคดีฆาตกรรม นายพูลสวัสดิ์ จิราภรณ์ หนุ่มนักเรียนนอกเมื่อปลายปี 2541 คดีนี้ตำรวจออกหมายจับขณะนั้นใช้ชื่อ ร.อ.พชร หรือ มนัส พรหมเผ่า ในฐานะเจ้าของบ้านเกิดเหตุ กับพวกรวม 3 ต่อมาศาลมีคำพิพากษาวันที่ 27 ตุลาคม 2546 ยกฟ้อง ร.อ.ธรรมนัสกับลูกน้องที่เป็นทหาร
ระหว่างนั้น ร.อ.ธรรมนัส ออกจากราชการ หันมาเป็นนักธุรกิจเต็มตัว ปี 2542 จับมือกับ เอกราช ช่างเหลา ทำธุรกิจอสังหาฯ สร้างบ้านหรูขายที่ขอนแก่น “เมืองแกรนด์วิลล์”
ต่อมาตกเป็นข่าวชนะการประมูลบริหารตลาดคลองเตยช่วงปลายปี 2551 ในนามบริษัท “ลีเกิ้ล” จากกลุ่มเดิมที่บริหารตลาดมาต่อเนื่องหลายสิบปี แต่ก็เกิดเหตุวุ่นวายเมื่อพ่อค้า-แม่ค้าไม่ยอมรับ ก่อม็อบประท้วงปิดถนนบริเวณแยกคลองเตย เกิดเหตุรุนแรงขึ้นหลายครั้งจนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต มีการไปแจ้งความร้องทุกข์ แล้วเรื่องก็เงียบหาย
กระทั่งกลับมาสร้างความฮือฮา กรณี ซื้อที่ดิน 616 ไร่ ริมถนนพหลโยธิน จาก บริษัท สินทรัพย์ไทย หรือ บสท. ในราคา 3,205 ล้านบาท โดยมีเจ้าของกิจการ รถโดยสารประจำทาง และอีกรายเป็นห้างสรรพสินค้าชื่อดัง เข้าแข่งขัน และนำไปสู่เหตุการณ์ ชายฉกรรจ์ 200 คนบุกเข้าเผาไล่ที่บ้านกลุ่มสภาประชาชน 4 ภาค ที่ปลูกเพิงพักอาศัยอยู่บนที่ดินโรงงานไทยอเมริกัน เท็กซ์ไทล์ จำกัด และโรงงานไทยเมล่อน เท็กซ์ไทล์ จำกัด ถนนพหลโยธิน ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2554
เมื่อ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี" ใช้อำนาจในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่งแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล อาทิ การตั้งบอร์ดชุดใหม่ขึ้นทำหน้าที่แทนชุดเดิม จัดตั้งกองทุนใช้จ่ายเงินช่วยแก้ไขปัญหาสังคม และกำหนดบทลงโทษสำคัญผู้ที่ฝ่าฝืนขายล็อตเตอร์รี่แพงเกินราคากำหนด มีโทษจำคุก ไม่เกินหนึ่งเดือน ปรับหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
และล่าสุดมีการแต่งตั้งให้ พลตรี อภิรัชต์ คงสมพงษ์ เข้ามาทำหน้าที่เป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล
การทำธุรกิจ"ตัวแทน" จำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล ในกลุ่มบริษัทของ ร.อ.ธรรมนัส นับจากนี้ไป จึงน่าสนใจ และน่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง!
และอาจเป็นเหตุผลสำคัญประการหนึ่ง ว่า ทำไม พล.อ.ประยุทธ์ ต้องเลือกใช้งาน "พลตรี อภิรัชต์" ในการเข้ามาแก้ไขปัญหาเรื่องสลากกินแบ่งรัฐบาล?
อ่านประกอบ :
1,575 ล้าน! รายได้ล่าสุด บ.สลากมหาลาภ รับโควตาหวย 1.6 ล้านใบ/งวด
ถึงคิว!ใช้ ม.44 ล้างกองสลากฯ ขาย ล็อตเตอร์รี่เกินราคา เจอคุก 1 เดือน
“บิ๊กตู่”ตั้ง“พล.ต.อภิรัชต์”ปธ.บอร์ดกองสลาก หลังใช้ม.44แก้ปัญหาหวยแพง