ปากคำโรฮิงญาเดนตาย...รอดชีวิตจากค่ายกักกันเขาแก้ว
เริ่มมีการพบชาวโรฮิงญาที่รอดชีวิตจากการถูกกักในค่ายหรือแคมป์บนเขาแก้ว ตำบลปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และผู้รอดชีวิตเหล่านี้น่าจะเป็นพยานปากเอกในการสืบหาตัวและดำเนินคดีแก๊งค้ามนุษย์ซึ่งล้วนเป็นผู้มีอิทธิพล
พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เดินทางลงพื้นที่ปาดังเบซาร์เมื่อวันจันทร์ที่ 4 พ.ค.2558 และได้ไปเยี่ยมชาวโรงฮิงญา 2 คน กับชาวบังคลาเทศ 2 คน ซึ่งเป็นผู้ที่เคยถูกกักตัวอยู่ที่แคมป์บนยอดเขาแก้ว ก่อนเจ้าหน้าที่ขึ้นไปตรวจสอบและขุดหลุมฝังศพจำนวน 32 หลุม โดยทั้งหมดยังคงรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลปาดังเบซาร์
ผบ.ตร.พูดผ่านล่ามให้ทั้ง 4 คนให้ความร่วมมือกับ เจ้าหน้าที่ และบอกข้อมูลเกี่ยวกับแคมป์กักกัน รวมทั้งเบาะแสผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด โดยจะให้ความคุ้มครองดูแลอย่างดีที่สุด หลังจากนี้เจ้าหน้าที่จะสอบสวนทั้ง 4 คนเพิ่มเติมและจะกันไว้เป็น พยานเพื่อดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องที่ได้ออกหมายจับไปแล้ว 8 คน และจะมีการออกหมายจับเพิ่มเติมอีกบางส่วน
นายทู (นามสมมติ) ชาวบังคลาเทศ ซึ่งเจ้าหน้าที่พบตัวนอนป่วยอยู่ในวันที่เข้าตรวจแคมป์บนยอดเขาแก้ว กล่าวว่า เดิมทำงานอยู่ในประเทศบังคลาเทศ เป็นผู้จัดการบัญชีของบริษัทน้ำตาลและเกลือ แต่ถูกใช้อาวุธปืนบังคับลักพาตัวมาจากประเทศบังคลาเทศทางทะเลด้วยเรือ และมีการนำขึ้นฝั่ง เดินไปพักแคมป์ต่างๆ ในประเทศไทย
"ผมผ่านมาหลายแคมป์แล้ว รวมเวลาที่ออกมาจากประเทศบังคลาเทศ อยู่ในทะเล และในป่าตามแคมป์ต่างๆ นานกว่า 9 เดือน" นายทู บอก
จากนั้นได้มีการนำภาพผู้ต้องหาค้ามนุษย์ที่ถูกออกหมายจับและจับกุมแล้ว 3 คนในวันเดียวกันให้ นายทู ดูว่าเคยพบเห็นที่แคมป์หรือไม่ นายทู ระบุว่า เคยพบเห็น 2 ใน 3 คน เพราะเคยปรากฏตัวอยู่บนแคมป์กักกัน เป็นผู้ขนข้าวของต่างๆ ขึ้นไปส่งให้ผู้คุมที่อยู่ด้านบน ซึ่งมีอยู่ประมาณ 5-6 คน โดยข้อมูลจากนายทูทอนซาฮา ตรงกับที่เจ้าหน้าที่ตำรวจแถลงระบุว่า ผู้ต้องหา 2 คนเป็นผู้ส่งเสบียงอาหารขึ้นไปที่แคมป์กักกันดังกล่าว ส่วนผู้ต้องหาอีกรายในภาพ นายทู บอกว่าไม่เคยเห็น
ต่อมาเวลา 15.30 น. อาสาสมัครกู้ชีพกู้ภัยไม้ขม อำเภอสะเดา ได้นำตัวหญิงชาวโรฮิงญาซึ่งอยู่ในสภาพอิดโรย มาส่งยังโรงพยาบาลปาดังเบซาร์ โดยทราบเพียงว่า พบตัวหญิงรายดังกล่าวบริเวณเขตรอยต่อชายแดนไทย-มาเลเซีย ซึ่งทางเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลได้สอบถามในเบื้องต้นทราบว่า หญิงรายนี้ชื่อ นางโร (นามสมมติ) ไม่ทราบอายุ เป็นหญิงชาวโรฮิงญา และยอมรับเคยอยู่ที่แคมป์กักกันบนยอดเขาแก้ว
สำหรับชาวโรฮิงญา และชาวบังคลาเทศ ที่เป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ที่เจ้าหน้าที่พบตัวและได้รับการช่วยเหลือ จนถึงขณะนี้มีทั้งหมด 6 คน เป็นชายชาวบังคลาเทศ 2 คน ชายชาวโรฮิงญา 3 คน และหญิงชาวโรฮิงญา 1 คน
รายละเอียดการพบตัว ได้แก่
วันที่ 1 พ.ค.58 พบ 2 คน เป็นชาวบังคลาเทศ 1 คน นอนป่วยบนแคมป์กักกัน (คือนายทู) และชาวโรฮิงญา 1 คน พบในสวนยางพาราพื้นที่ใกล้เคียงกัน
วันที่ 2 พ.ค.58 พบเยาวชนชาวบังคลาเทศอายุ 14 ปี และชาวโรฮิงญา อายุ 17 ปี ในสวนยางพาราพื้นที่ใกล้เคียงยอดเขาแก้ว
วันที่ 4 พ.ค.58 ช่วงเช้าพบเยาวชนชาวโรฮิงญา อายุ 14 ปี ช่วงบ่ายพบหญิงชาวโรฮิงญา 1 คน (นางโร)
สำหรับเยาวชนชาวโรฮิงญา อายุ 14 ปีที่เพิ่งพบตัวช่วงเช้าของวันจันทร์ที่ 4 พ.ค.นั้น ที่มาที่ไป คือ เจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดนที่ 4303 ได้รับแจ้งจากชาวบ้านในพื้นที่บ้านหน้าถ้ำ อำเภอสะเดาว่า พบเด็กชาวโรฮิงจาหลบหนีออกมาจากแคมป์ที่พักบริเวณบ้านหน้าถ้ำ มาขอพักอาศัยนอนที่บ้านชาวบ้านเมื่อคืนที่ผ่านมา
หลังรับแจ้งจึงนำกำลังรุดไปตรวจสอบ และรับตัวไปส่งให้เจ้าหน้าที่ทหาร
จากการสอบถามเยาวชนโรฮิงญารายได้กล่าว ทราบชื่อคือ เด็กชายไน (นามสมมติ) อายุ 14 ปี เดินทางออกมารัฐยะไข โดยมีนายหน้าจัดส่งมา ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 เดือน หลังจากนั้นได้ขึ้นฝั่งซึ่งเป็นป่า ไม่ทราบสถานที่ หลังจากนั้นมีคนพาขึ้นรถกระบะ มีผ้าใบปิด มาส่งในพื้นที่ปาดังเปซาร์ เดินทางมาด้วยกันประมาณ 15 คน หลังจากมาถึงปาดังเบซาร์แล้ว ได้เข้าพักในที่พักซึ่งมีลักษณะเป็นบ้าน อยู่ได้ประมาณ 2 วันก็ถูกส่งไปที่คอกบ้านหน้าถ้ำ บนภูเขา และได้พบชาวโรฮิงญารวมกันอยู่แล้วประมาณ 50 คน แบ่งเป็นชายประมาณ 35 คน หญิง 15 คน ปัจจุบันมีชาวโรฮิงญาถูกกักอยู่บนนั้นจำนวน 3 คอก
มีรายงานเพิ่มเติมว่า หลังจากเจ้าหน้าที่ทหารได้ปูพรมตรวจค้นพื้นที่โดยรอบของเทือกเขาแก้ว ปรากฏว่าพบหลุมศพเพิ่มอีก 3-5 หลุม อยู่ห่างออกไปจากแคมป์และสุสานฝังศพโรฮิงญาจุดแรก (ที่พบ 32 หลุม) ประมาณ 300 เมตร คาดว่าเป็นหลุมฝังศพของชาวโรฮิงญาเช่นกัน โดยในวันอังคารที่ 5 พ.ค. ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมด้วยชุดกู้ภัยจะขึ้นไปขุดพิสูจน์ต่อไป
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ชาวบังคลาเทศและโรฮิงญาที่รอดชีวิตจากค่ายกักกันของขบวนการค้ามนุษย์
2 เยาวชนโรฮิงญาที่หลบหนีลงมาจากคอกขังบนภูเขา
หมายเหตุ : ศูนย์ข่าวอิศราใช้เทคนิคพรางภาพเพื่อเคารพสิทธิเหยื่อ