ประกาศใช้แล้ว ‘กม.อุ้มบุญ’ ห้ามหญิงไม่เคยมีบุตรมาก่อนตั้งท้องแทน
ราชกิจจาฯ ประกาศใช้ กม.อุ้มบุญ ตั้งคณะกรรมการคุ้มครองเด็กฯ มีปลัด สธ.เป็นประธาน กำหนดนโยบาย-คุ้มครอง-หลักเกณฑ์ สร้างเงื่อนไขห้ามใช้ไข่ในหญิงรับตั้งครรภ์แทน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2558 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ.2558 โดยให้บังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ทั้งนี้ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวมีสาระสำคัญ กำหนดให้มีคณะกรรมการคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ (กคทพ.) มีปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานกรรมการ ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่สำคัญในการเสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีในการกำหนดนโยบายคุ้มครอง พัฒนา เด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์
นอกจากนี้ยังกําหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาตและการอนุญาตเกี่ยวกับการดําเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนตามมาตรา 23 ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาวิจัยทางจริยธรรม กฎหมาย หรือวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ เป็นต้น
สำหรับการตั้งครรภ์แทนนั้น พ.ร.บ.ได้กำหนดเงื่อนไขอย่างน้อยต้องเป็นสามีและภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งภริยาไม่อาจตั้งครรภ์ได้ที่ประสงค์จะมีบุตร โดยให้หญิงอื่นตั้งครรภ์แทน ต้องมีสัญชาติไทย ในกรณีที่สามีหรือภริยามิได้มีสัญชาติไทย ต้องจดทะเบียนสมรสมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี
ทั้งนี้ หญิงที่รับตั้งครรภ์แทนต้องเป็นหญิงที่เคยมีบุตรมาก่อนแล้วเท่านั้น ถ้าหญิงนั้นมีสามี ที่ชอบด้วยกฎหมายหรือชายที่อยู่กินฉันสามีภริยา จะต้องได้รับความยินยอมจากสามีที่ชอบด้วยกฎหมาย หรือชายดังกล่าวด้วย
โดยการดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนต้องใช้ตัวอ่อนที่เกิดจากอสุจิของสามีและไข่ของภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายที่ประสงค์จะให้มีการตั้งครรภ์แทนหรือใช้ตัวอ่อนที่เกิดจากอสุจิของสามีหรือไข่ของภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายที่ประสงค์จะให้มี การตั้งครรภ์แทนกับไข่หรืออสุจิของผู้อื่น ทั้งนี้ ห้ามใช้ไข่ของหญิงที่รับตั้งครรภ์แทน
อย่างไรก็ตาม เด็กที่เกิดจากอสุจิ ไข่ หรือตัวอ่อนของผู้บริจาค แล้วแต่กรณี โดยใช้เทคโนโลยี ช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ตาม พ.ร.บ.นี้ ไม่ว่าจะกระทําโดยการให้ภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย ของสามีซึ่งประสงค์จะมีบุตรเป็นผู้ตั้งครรภ์ หรือให้มีการตั้งครรภ์แทนโดยหญิงอื่น ให้เด็กนั้นเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของสามีและภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งประสงค์จะมีบุตร แม้ว่าสามีหรือภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งประสงค์จะมีบุตรถึงแก่ความตายก่อนเด็กเกิด
ส่วนชายหรือหญิงที่บริจาคอสุจิหรือไข่ซึ่งนํามาใช้ปฏิสนธิเป็นตัวอ่อนเพื่อการตั้งครรภ์หรือผู้บริจาคตัวอ่อน และเด็กที่เกิดจากอสุจิ ไข่ หรือตัวอ่อนที่บริจาคดังกล่าว ไม่มีสิทธิและหน้าที่ระหว่างกันตามประมวลกฎหมาย แพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัวและมรดก
ทั้งนี้ ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมผู้ใดให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ทางการแพทย์โดยไม่มีคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
พ.ร.บ.ยังระบุบทเฉพาะกาลให้ผู้ที่เกิดจากการตั้งครรภ์แทนก่อนวันที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ ไม่ว่าจะมีข้อตกลงเป็นหนังสือหรือไม่ก็ตาม สามีหรือภริยาที่ดําเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทน หรือพนักงานอัยการ มีสิทธิยื่นคําร้องต่อศาลให้มีคําสั่งให้ผู้ที่เกิดจากการตั้งครรภ์แทนก่อนวันที่พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของสามีและภริยาที่ดําเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนนับแต่วันที่ผู้นั้นเกิด
ทั้งนี้ ไม่ว่าสามีและภริยาที่ดําเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนจะเป็นสามีและภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แต่ทั้งนี้จะอ้างเป็นเหตุเสื่อมสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทําการโดยสุจริตในระหว่างเวลาตั้งแต่เด็กเกิด จนถึงเวลาที่ศาลมีคําสั่งว่าเป็นบุตรไม่ได้ .
อ่านประกอบ:พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีฯ ฉบับเต็ม
ภาพประกอบ:เว็บไซต์ SANOOK