สู่เสรีภาพที่ฝันใฝ่... สื่อไทย กำกับดูแลกันเองได้จริงหรือ?
“...เราจะมาบอกว่า วงการสื่อมีเสียงข้างมากเสียงข้างน้อย แล้วเอาเสียงข้างมากไปจัดการเสียงข้างน้อยไม่ได้ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เราให้องค์กรวิชาชีพสื่อมีอำนาจ มันจะเกิดสภาพอย่างนั้น ดังนั้นเราจะทำอย่างไร คิดหาจุดตรงกลางที่อยู่ภายใต้เส้นแบ่งนี้”
30 เมษายนที่ผ่านมา คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดการประชุมเสวนาเรื่อง “สื่อมวลชน...กำกับดูแลกันเองได้จริงหรือ” มีตัวแทนสื่อมวลชน และนักวิชาการสื่อ ร่วมถกปัญหาดังกล่าวอย่างเข้มข้น
“สำนักข่าวอิศรา” ถอดความบทเสวนาร้อนๆ มาฝากคุณผู้อ่านในวันสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนโลก 3 พฤษภาคม
วันที่องค์กรวิชาชีพสื่อไทย ออกแถลงการณ์ให้คสช.ยกเลิกคำสั่งคสช.ที่จำกัดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของสื่อมวลชน เพื่อสร้างบรรยากาศแห่งการปรองดองพูดคุยอย่างเสรีและปลอดภัย
แต่ขณะเดียวกันก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เชิงลบจากสังคมไม่น้อยถึงการทำหน้าที่ของสื่อไทย และนำไปสู่ข้อถกเถียงเรื่องการปฏิรูปสื่อมาอย่างต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้
…………
“เทพชัย หย่อง” นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวเปิดประเด็นว่า สื่อมวลชนต้องกำกับดูแลกันเองได้ และเชื่อว่าสื่อมวลชนวิชาชีพที่แท้จริงส่วนใหญ่มีความพร้อมในการกำกับดูแลกันเอง
“มีสัญญาณที่ชัดเจนมากขึ้นว่าคนทำสื่อก็พร้อมเป็นส่วนหนึ่งของกลไกเหล่านี้โดยเฉพาะสื่อทีวีดิจิทัล ผมเห็นบรรยากาศความจริงใจ ความตั้งใจ มีความมุ่งมั่นของฝ่ายข่าวในทีวีทุกช่องที่ต้องการเห็นสื่อได้รับการยอมรับจากสังคมในความรับผิดชอบที่ชัดเจนมากขึ้น”
นอกจากนี้ คุณภาพของคนทำสื่อถือเป็นประเด็นหลักสำคัญ เพราะหากคนทำสื่อมีความรู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาสังคม ถูกสังคมตั้งคำถาม และพร้อมที่จะปรับหรือตอบสนองต่อสิ่งเรียกร้องของสังคม ก็อาจจะเป็นคำตอบว่าสื่อพร้อมจะกำกับดูแลกันเองหรือไม่
มากกว่านั้น ในปัจจุบันยังมีสื่อใหม่หรือโซเชียลมีเดียเกิดขึ้นจำนวนมากซึ่งเป็นกลไกเชิงบวกประการหนึ่งในการช่วยกำกับสื่อกระแสหลักได้ คอยชี้ให้เห็นว่าสื่อไหนมั่ว สื่อไหนเอียงข้าง สื่อไหนที่สังคมควรปฏิเสธ
“ทุกวันนี้ กลไกที่กำกับสื่ออย่างไม่เป็นทางการที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดกลับเป็นโซเชียลมีเดีย เป็นกลไกบางอย่างในสังคมนี้ที่ช่วยตรวจสอบ ช่วยกำกับสื่ออย่างไม่เป็นทางการที่เอื้อที่จะนำไปสู่การทำให้เกิดกลไกการกำกับสื่อกันเองได้โดยไม่ต้องมีภาครัฐเข้ามายุ่งชัดเจนมากขึ้น” เทพชัย กล่าว
นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ กล่าวว่า ที่สุดแล้วคงต้องหาจุดตรงกลางที่จะทำให้สื่อมีบทบาทในการดูแลกำกับกันเอง โดยมีส่วนร่วมจากภาคสังคมที่มีความชัดเจนมากขึ้น เพื่อให้สังคมเห็นกลไกและมีความไว้วางใจได้ว่า เป็นกลไกที่จะทำให้สื่อกำกับดูแลกันเองได้
เขายอมรับว่า ที่ผ่านมาแม้จะมีสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติคอยทำหน้าที่ดังกล่าวแต่เป็นเพียงกลไกที่ไม่มีอำนาจในการบังคับใช้บทลงโทษได้ เป็นเพียงขอความร่วมมือหรือลงโทษโดยอาศัยแรงกดดันทางสังคม ทำให้กลไกนี้ถูกมองว่าไม่สามารถตอบสนองได้เท่าที่ควรจะเป็น
กระนั้นก็ตาม ยังเป็นกลไกที่ควรส่งเสริมให้ทำหน้าที่ต่อไป แต่ขณะเดียวกันกลไกใหม่ที่จะมีขึ้นคงต้องคุยกัน เช่น กลไกที่มีอำนาจทางกฎหมายรองรับที่เอื้อต่อการทำงานของสื่อ ทำให้สื่อทำหน้าที่อย่างมีความรับผิดชอบ และต้องทำให้เกิดความมั่นใจกับสังคมได้ด้วยว่ามีกฏ กติกา และกระบวนการตรวจสอบสื่อได้เช่นกัน
“นี่คือสิ่งที่ต้องมาคุยกันอย่างจริงจังและออกแบบกลไกนี้ขึ้นมาเพื่อที่จะ ให้คนในวงการสื่อทุกระดับรู้ว่าตนเองมีกลไกบางอย่าง มีหลักกติกาบางอย่างที่ต้องเห็นตรงกัน และยืนยันในการปฏิบัติตามร่วมกัน”
“เทพชัย” ยกตัวอย่างถึงไทยพีบีเอสซึ่งเป็นแบบอย่างพิสูจน์ได้ว่า การกำกับดูแลกันเองของสื่อทำได้จริง แม้อาจไม่ได้เป็นกลไกของสื่อทั้งหมด แต่กล่าวได้ว่าเป็นตัวแทนของสื่อระดับหนึ่งที่สามารถกำกับดูแลกันเองได้
“ไทยพีบีเอสมีกลไกรับเรื่องร้องเรียน มีกระบวนการลงโทษ มีการเยียวยา กระบวนการ อบรมสั่งสอนจริยธรรม มีกลไกตรวจสอบการทำหน้าที่คนในองค์กร ซึ่งทำสำเร็จแล้วในระดับ หนึ่ง ดังนั้นควรจะใช้ตรงนี้เป็นบทเรียนขยายการพูดเรื่องนี้ให้กลายเป็นเรื่องที่สื่อทุกแขนง สามารถไปปรับหรือทำเป็นแบบอย่างที่อาจจะตอบคำถามได้ว่า สื่อดูแลกันเองได้หรือไม่”
“เทพชัย” ยังเชื่อว่า การกำกับดูแลกันเองของสื่อน่าจะดีที่สุด และมีความมั่นใจมากขึ้นเพราะเห็นคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาในวงการสื่อมวลชน โดยเฉพาะสื่อทีวีดิจิทัล ที่มีความหวังและความเชื่อในเรื่องเหล่านี้
“วสันต์ ภัยหลีกลี้” รองประธานคณะกรรมการปฏิรูปการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ชี้ว่า การกำกับดูแลกันเองของสื่อในปัจจุบันยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในทางปฏิบัติ ขณะเดียวกันสื่อยังคงถูกแทรกแซงอย่างหนักจากรัฐและทุน
ดังนั้นจึงควรมีส่วนอื่นเข้ามาส่งเสริมเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพได้ผลจริง รวมทั้งปกป้องสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนและคุ้มครองผู้บริโภคสื่อได้จริง เช่น การกำกับโดยภาคประชาชน หรือการใช้กฎหมาย
ทั้งนี้ คณะกรรมการปฏิรูปสื่อฯ สปช. เห็นว่า การปฏิรูปสื่อมี 3 เรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ ประกอบด้วย 1.การกำกับสื่อโดยภาคประชาชนและองค์กรกำกับดูแลที่มีกฎหมายรองรับ 2. การป้องกันและแทรกแซงสื่อจากภาครัฐและทุน 3. เสรีภาพสื่อบนความรับผิดชอบ
ล่าสุด ได้ตั้งอนุกรรการฯขึ้นมาให้มาดูเรื่ององค์การวิชาชีพสื่อที่จะมาทำหน้าที่เรื่องการกำกับดูแลสื่อ ซึ่งมีบรรจุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 49
“การกำกับดูแลของสื่อทั้งหมดควรจะมีร่มใหญ่ทำหน้าที่เชื่อมประสานสื่อ ที่มีกฏหมายรองรับ มีการกำหนดมาตรฐานกลางมากำกับดูแลกันเองให้ประสิทธิภาพมากขึ้น” สปช. วสันต์ กล่าว
อย่างไรก็ตามบทบาทขององค์กรร่มใหญ่ ไม่ใช่การถือดาบลงโทษ แต่ควรทำหน้าที่ใน สนับสนุนให้เกิดการกำกับดูแลกันเองให้มีประสิทธิภาพและเป็นจริง สร้างแรงจูงใจในการ รวมกลุ่มกัน รวมให้ความรู้ในการดูแลสิทธิและผลประโยชน์ของประชาชน
“ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์” ผู้อำนวยการสถาบันอิศรา กล่าวว่า ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับ2558 ได้ระบุว่าจะต้องมีกฎหมายในการจัดตั้งองค์กรวิชาชีพหรือสภาควบคุมสื่อกันเอง หากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่าน ก็น่าสนใจว่าองค์กรดังกล่าวแต่จะออกมาในรูปแบบใด
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย(คปก.) ได้ศึกษาเรื่องนี้และเห็นว่า ต้องมีการกำกับใน 3 ระดับ ประกอบด้วย 1.องค์กรกำกับภายใน เช่น คณะกรรมการกำกับดูแลแบบเดียวสถานีข่าวไทยพีบีเอส มีคณะกรรมการตรวจสอบรับเรื่องร้องเรียน ดูแลบุคคลในองค์กรตนเอง
2. สภาวิชาชีพในระดับรวม ดูแลสื่อมวลชนแยกประเภทวิทยุโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์โซเชียลมีเดีย เว็บไซด์ เป็นองค์กรจัดตั้งชัดเจน มีสังกัดในสภาวิชาชีพ ไม่รวมสื่อบุคคลหรือเฟสบุค
แต่ขณะนี้ยังไม่ตกผลึกว่าจะแบ่งประเภทเป็นวิทยุโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ หรือโซเชียลมีเดียหรือไม่ หรือจะมีสภากลางที่มีหน้าที่ในการกำหนดมาตรฐานคอยให้ความรู้ทางวิชาการ หรือสร้างแรงจูงใจ
หรือหากองค์กรสื่อใดทำดี กำกับกันเองมีประสิทธิภาพ สภาชุดนี้อาจจะให้ทุนสนับสนุน แต่ต้องกำหนดกฏเกณฑ์ชัดเจน ไม่ใช่การรุมทึ้งกัน รวมทั้งมีหน้าที่ไปบริหารจัดการดูแลสื่อที่ไม่มีสังกัด
3. สภากลาง มีหน้าที่กำกับดูแลองค์กรและให้ความรู้ประชาชนให้รู้เท่าทันสื่อ ส่วนเรื่องตัวบุคคลให้กลไกสื่อภายในไปจัดการกันเอง
สำหรับการกำหนดบทลงโทษยังต้องถกเถียงกันอย่างละเอียด เช่น เมื่อมีสภากลางแล้วกสทช.ไม่ควรทำหน้าที่ตามาตรา 39 ,40 แต่อาจจะมีการกำหนดขั้นตอนวิธีการลงโทษที่ผ่านขั้นตอนการวินิจฉัยขององค์กรมาแล้ว
“นี่คือโครงสร้างคร่าวๆ หากมีกฎหมายจัดตั้ง คุณหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่หากเรายังปล่อยให้สังคมมองสื่ออยู่ว่าคุณไม่มีน้ำยา ก็ต้องยอมรับเรื่องนี้ และตราบใดที่เห็นว่าไม่ควรจัดตั้งองค์กรมาดูแลกันเอง ก็ต้องสร้างกติกาให้ชัดเจน” ประสงค์ กล่าว
ด้าน “ดร.สุดารัตน์ ดิษยวรรธนะ จันทราวัฒนากุล” คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ เห็นว่า ทุกวันนี้ความหมายและบริบทสื่อเปลี่ยนแปลงไปมาก ซึ่งอาจจะต้องมาถกเถียงกันใหม่เกี่ยวกับคำจัดกัดความของคำว่าสื่อสารมวลชนคืออะไร
นอกจากนี้ยังระบุว่า ปัจจุบันความเชื่อมันในตัวสื่อเองก็ลดลง ขณะเดียวกันพฤติกรรมการบริโภคสื่อของประชาชนในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมากเช่นกัน ฉะนั้น ปัญหาการกำกับดูแลกันเองของสื่อจึงมีหลายขั้นตอนและซับซ้อน แต่ปัญหาใหญ่ก็คือ สื่อจะยอมรับได้หรือไม่ในการให้คนอื่นเข้ามากำกับควบคุม
“ความเชื่อมันในตัวสื่อเองก็ลดลง แต่ปัญหาก็คือว่า ยอมได้หรือเปล่าที่จะให้คนอื่นมาควบคุม ถ้าในนามของสื่อก็ยังคงต้องยืนยันเรื่องเสรีภาพบนความรับผิดชอบที่จะต้องเท่าๆกัน การที่จะได้มาซึ่งความรับผิดชอบก็จะต้องอยู่ที่สำนึกของคนเป็นสื่อเป็นหลัก คนทำสื่อก็ต้องมีคุณภาพ”
“เช่นเดียวกับนโยบายองค์กรสื่อเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญมาก ต้องยึดกรอบความรับผิดชอบให้ได้ ต้องมีคณะกรรมการจริยธรรมองค์กรขึ้นมาดูแล รับเรื่องร้องเรียน ตรวจสอบแก้ไข และสื่อสารกับผู้บริโภค ทำความจริงให้ปรากฏในตัวองค์กรของตนเองเสียก่อน”
“ฉะนั้น ก่อนที่จะไปถึงสภาจริยธรรม องค์กรสื่อต้องทำให้ตนเองเข้มแข็งเสียก่อน กระบวนการต้องชัดเจน มีการแบ่งหน้าที่ให้ลงตัว อย่าใช้การเมืองมาก ที่สำคัญคือเจ้าของสื่อต้องร่วมมือ หากเจ้าของไม่ร่วมมือ คนอื่นก็เข้ามาแทรกแซงได้” ดร.สุดารัตน์ กล่าว
“ดร.พิรงรอง รามสูต” อาจารย์ศูนย์ศึกษานโยบายสื่อ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพิรงรอง ฟันธงว่า ปัจจุบันสื่อมวลชนกำกับดูแลกันเองยังได้ไม่จริง เพราะ1. ไม่มีแรงจูงใจเพียงพอในการกำกับดูแลกันเอง
2. การรวมตัวกันขององค์กรวิชาชีพสื่อ มีแรงจูงใจจากเรื่องการเมืองและผลประโยชน์กลุ่มสื่อ มากกว่าความรับผิดชอบต่อสังคม เพราะสื่อรู้สึกว่าหากรวมกันเราอยู่ก็จะสามารถธำรงเสรีภาพไว้ได้ ทั้งนี้ จากการวิจัยหลายครั้งพบว่า กิจกรรมขององค์กรวิชาชีพสื่อ คือการออกแถลงการณ์เรื่องเสรีภาพปรากฏต่อสาธารณชนมากที่สุด
“เสรีภาพของสื่อถูกคุกคาม ไม่ได้บอกว่าไม่สำคัญ สำคัญเช่นกัน แต่หากไม่ใช่เรื่องของเสรีภาพสื่อ เป็นเรื่องของคนที่ถูกกระทบกลับเป็นเรื่องรอง ไม่ได้บอกว่าไม่สำคัญ ก็สำคัญ แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่เรื่องเสรีภาพสื่อเป็นหลัก”
“ดังนั้น การรวมตัวตรงนี้ ทำให้กระบวนการของการกำกับดูแลไม่ค่อยเข้มแข็ง เนื่องจากรวมตัวกันเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มมากกว่าที่จะดูแลเยียวยาผลประโยชน์ของประชาชน”
3. แนวโน้มการใช้กฎหมายกำกับดูแล เนื่องจากการกสทช.มีอำนาจชัดเจนมากกว่าสภาการหนังสือพิมพ์ฯ ส่งผลให้แนวโน้มการใช้อำนาจของกสทช.ยิ่งไปบดบังบทบาทองค์กรวิชาชีพ
4. การขาดความเข้าใจของสังคมเกี่ยวกับความสำคัญในการกำกับดูแล ซึ่งจริงๆแล้วการกำกับดูแลที่ชัดเจนที่สุดคือ การรับเรื่องราวร้องเรียนจากประชาชน
แต่ตราบใดก็ตามที่ประชาชนไม่ทราบว่าตนเองมีหน้าที่ตรวจสอบสื่อ ก็จะไปบ่นระบายในเฟสบุค หรือแสดงความคิดเห็นในเว็บไซด์พันทิพย์ นั่นเป็นเพราะไม่รู้ช่องทางที่ชัดเจนว่าจะจัดการกับสื่อที่ไม่มีจริยธรรมได้อย่างไร
ด้าน “อธึกกิต แสวงสุข” คอลัมนิสต์อิสระและบรรณาธิการอาวุโส Voice TV เห็นว่า การตรวจสอบกันเองของสื่อมวลชนยังต้องยึดอำนาจกฎหมายเป็นหลัก เนื่องจากเป็นเรื่องความเสมอภาคและความชัดเจนทางกฎหมาย แต่หากมีแนวคิดให้มีองค์กรใดองค์กรหนึ่งมาใช้อำนาจโดยไม่ใช่อำนาจของตุลาการใช้ผ่านกระบวนการยุติธรรม อาจจะก่อให้เกิดปัญหาได้โดยเฉพาะองค์กรสื่อด้วยกันเอง
“ผมถามว่ามันคืออำนาจอะไร เราบอกว่าไม่ให้คสช.ปิดสื่อ ไม่ให้กสทช.ปิดสื่อ แล้วเราจะปิดกันเองทำได้เหรอครับ ผมไม่คิดว่าองค์กรวิชาชีพสื่อจะรับอำนาจนี้มาทำได้ มันเกินอำนาจของการที่จะบอกว่ามีสภาวิชาชีพแล้วไปถอดคนนั้นคนนี้ออกจากรายการ”
“ผมถามว่าเมื่อไหร่ที่สมาคมนักข่าวฯหรือสมาคมวิชาชีพอะไรสักอย่าง มีอำนาจที่จะปลดคุณออกจากการเป็นนักข่าว มีอำนาจออกใบประกอบวิชาชีพ ผมว่ามันจะเริ่มยุ่ง แต่จะปล่อยกันเองต่อไปแบบนี้ไหม ผมก็คิดว่าไม่ถูก แต่เราต้องหาว่าอะไรคือเส้นที่ทำกันได้ ดีที่สุดในกรอบหนึ่ง ที่พอจะจำกัดเรื่องคุณธรรม จริยธรรมได้” อธึกกิต กล่าว
บรรณาธิการอาวุโส Voice TV มองว่า การแข่งขันของสื่อในปัจจุบันเป็นกลไกการตรวจสอบกันเองอยู่พอสมควร ดังนั้นจึงควรเน้นการตรวจสอบ การแข่งขันกัน และในอนาคตอาจจะต้องส่งเสริมหรือรณรงค์ให้ภาคประชาชนตรวจสอบสื่อมากยิ่งขึ้น แต่ไม่เห็นด้วยที่จะให้องค์กรวิชาชีพสื่อมามีอำนาจตรวจสอบ
“ผมเห็นด้วยว่าสื่อเป็นหลักประกันเสรีภาพของประชาชน ซึ่งในระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบเสียงข้างมากกับเสียงข้างน้อย เสียงข้างมากได้อำนาจ แต่ก็ต้องปกป้องเสรีภาพเสียงข้างน้อย ซึ่งเสียงข้างน้อยก็ต้องหวังพึ่งสื่อ สื่อก็คือเสรีภาพของเสียงข้างน้อย ก็มีหลักประกันเสรีภาพสื่อ”
“แต่เราจะมาบอกว่า วงการสื่อมีเสียงข้างมากเสียงข้างน้อย แล้วเอาเสียงข้างมากไปจัดการเสียงข้างน้อยไม่ได้ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เราให้องค์กรวิชาชีพสื่อมีอำนาจ มันจะเกิดสภาพอย่างนั้น ดังนั้นเราจะทำอย่างไรคิดหาจุดตรงกลางที่อยู่ภายใต้เส้นแบ่งนี้”
“นี่คือปัญหาที่จะต้องหาจุดที่เหมาะสม ถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เอาเรื่องเสรีภาพไว้ก่อน แล้วก็เน้นเรื่องการแข่งขัน ส่งเสริมภาคประชาชนให้ตรวจสอบสื่อ ส่วนองค์กรวิชาชีพอยากจะรณรงค์ อยากเปิดเผยความจริงเกี่ยวกับปัญหาในวงการสื่อให้ประชาชนทราบที่รณรงค์ไป”
“แต่ว่าอะไรที่บอกว่า อาจจะมีองค์กรแบบแพทย์สภา แบบสมาคมทนายความ มันไม่ได้ เพราะสื่อปัจจุบันค่อนข้างกว้าง มีหลากหลายรูปแบบ และหลักประกันของสื่อคือเรื่องเสรีภาพ ไม่ว่าจะเสียงข้างน้อย เสียงข้างมาก ต้องมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น” อธึกกิต สรุปทิ้งท้าย
ขอบคุณภาพจาก:คลังภาพ ศูนย์สื่อทำเนียบ