เบื้องหลัง!กรณีเครื่องฝึกบินฉาว เอแบคสั่งตั้งกก.สอบแล้ว "ฝ่ายบริหาร" ผิดจริง
ดูชัดๆ ใบเสร็จค่าหุ้นบ.ไฟล์ทฯ"อธิการฯ-ผู้ช่วย"50 ล. ก่อนมหาวิทยาลัย อนุมัติเงินซื้อกิจการมาบริหารต่อ 94 ล้าน ไม่ผ่านมติสภาฯ เผยเบื้องหลังนายกสภาฯ ได้อนุมัติแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงแล้ว พบ"ฝ่ายบริหาร" ทำผิดระเบียบจริง แต่ยังไม่มีการพูดถึงเรื่องการลาออกแสดงความรับผิดชอบ แต่รับปากจะปรับปรุงการบริหารงานให้ดีขึ้น
หลายคนอาจจะทราบข้อมูลกันไปแล้ว ว่า บริษัท ไฟล์ท ซิมูเลเตอร์ กรุ๊ป จำกัด ที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ อนุมัติเงินจำนวน 94 ล้านบาท เข้าไปซื้อหุ้น 100 % ต่อจากผู้ถือหุ้นกลุ่มเดิม จำนวน 900,000 หุ้น ในราคาหุ้นละ 100 บาท โดยหุ้นที่ซื้อปรากฎเป็นชื่อ นายบัญชา แสงหิรัญ อธิการบดี 899,998 หุ้น นายกมล กิจสวัสดิ์ และ นางสาวณัฐฑยามณฑ์ พยนต์ คนละ 1 หุ้น ขณะที่มติสภามหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เมื่อวันที่ 19 ก.ย.56 อนุมัติให้มหาวิทยาลัยเข้าไปซื้อหุ้นบริษัท ไฟล์ทฯ แห่งนี้ เพียงแค่วงเงิน 15 ล้านบาท
เป็นบริษัท ที่ถูกจดทะเบียนจัดตั้ง โดย "คน" ของมหาวิทยาลัยเอง
และก่อนหน้าที่ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ จะใช้เงินจำนวน 94 ล้านบาท เข้าไปซื้อหุ้นทั้ง 100 % ดังกล่าว ประมาณ 2 เดือน ณ วันที่ 3 ก.ค.56 นายบัญชา แสงหิรัญ อธิการบดี และนายสุทธิพร ปทุมเทวาภิบาล ผู้ช่วยรองอธิการบดีฝ่ายวิจัย และหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมการบิน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ยังปรากฎรายชื่อเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทฯ วงเงินหลายสิบล้านบาท
(อ่านประกอบ : หลักฐาน"บิ๊กเอแบค"ตั้งบ.จัดหาเครื่องบิน ก่อนมหาลัยใช้เงินซื้อหุ้นตัวเอง 94 ล.)
ทั้งนี้ เพื่อให้เห็นภาพข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้ชัดเจนมากขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้สรุปความเคลื่อนไหวของบริษัทไฟล์ทฯ นับตั้งแต่จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 30 พ.ค.56 จนกระทั่งถึงวันที่ 19 ก.ย.56 ที่สภามหาวิทยาลัย อนุมัติวงเงินจำนวน 15 ล้านบาท ให้มหาวิทยาลัย เข้าไปซื้อหุ้นบริษัทฯ เพื่อร่วมทุนธุรกิจโครงการห้องปฏิบัติเครื่องบินฝึกจำลอง แต่มหาวิทยาลัย กลับใช้เงินจำนวน 94 ล้านบาท เข้าไปซื้อหุ้นบริษัทฯ ทั้งหมดมานำเสนอแบบชัดๆ อีกครั้งดังนี้
1. บริษัท ไฟล์ทฯ จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 30 พ.ค.56 ทุน 35 ล้านบาท โดยปรากฎชื่อ นายสุทธิพร ผู้ช่วยรองอธิการบดีฝ่ายวิจัย และหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมการบิน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เป็นหนึ่งใน 3 ผู้ร่วมก่อการ และเป็นถือหุ้นอยู่จำนวน 91,000 หุ้น มูลค่า 9,100,000 บาท
2. ต่อมา เมื่อวันที่ 15 ก.ค.2556 บริษัทฯ ได้แจ้งเพิ่มทุนจดทะเบียน เป็น 90 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นอีก 55 ล้านบาท จากเดิม 35 ล้านบาท) โดยระบุที่มาแหล่งเงิน จาก นายสุทธิพร จำนวน 14,350,000 บาท นายบัญชา อธิการบดี จำนวน 16,350,000 บาท นายสุรจัวน์ สุขเจริญไกรศรี จำนวน 12,600,000 บาท นางสาวธนพร ภูวนาทนรานุบาล จำนวน 11,700,000 บาท
ขณะที่รายชื่อผู้ถือหุ้น บริษัท ณ วันที่ 3 ก.ค.2556 นายบัญชา แสงหริญ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่สุด จำนวน 369,000 หุ้น มูลค่า 36,900,000 บาท นางวิลาสินี นฤปกรณ์ และนายสุทธิพร ปทุมเทวาภิบาล ถืออยู่เท่ากัน คือ 144,000 หุ้น มูลค่า 28,800,000 บาท นายสุรจัวน์ สุขเจริญไกรศรี ถืออยู่จำนวน 126,000 หุ้น มูลค่า 12,600,000 บาท นางสาวธนพร ภูวนาทนรานุบาล ถืออยู่จำนวน 117,000 หุ้น มูลค่า 11,700,000 บาท
คิดเฉพาะมูลค่าหุ้น ที่ นายบัญชา และ นายสุทธิพร เป็นวงเงินกว่า 50 ล้านบาท โดยปรากฎเป็นหลักฐานในใบสำคัญชำระเงินค่าหุ้น ที่ออกให้โดยบริษัท ไฟล์ทฯ (ดูหลักฐานประกอบ)
3. ต่อมาในวันที่ 19 ก.ย.56 สภามหาวิทยาลัย อนุมัติวงเงินจำนวน 15 ล้านบาท ให้มหาวิทยาลัย เข้าไปซื้อหุ้นบริษัทฯ เพื่อร่วมทุนธุรกิจโครงการห้องปฏิบัติเครื่องบินฝึกจำลอง แต่มหาวิทยาลัย กลับใช้เงินจำนวน 94 ล้านบาท เข้าไปซื้อหุ้นบริษัทฯ ทั้งหมด โดยไม่ผ่านมติสภามหาวิทยาลัย
อย่างไรก็ตาม การพิจารณาว่า นายบัญชา และ นายสุทธิพร ได้รับประโยชน์ทางธุรกิจ จากการที่มหาวิทยาลัย ใช้เงินจำนวน 94 ล้านบาท เข้าไปซื้อหุ้นบริษัทฯ ทั้งหมด หรือไม่ เนื่องจากปรากฎรายชื่อเป็นผู้ถือหุ้นกลุ่มเดิมอยู่ด้วย
คงต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมในประเด็นหลัก คือ "แหล่งเงิน" ที่ นายบัญชา และ นายสุทธิพร นำไปใช้ในการซื้อหุ้นบริษัทฯ ก่อนหน้าที่มหาวิทยาลัย จะเข้าไปซื้อหุ้นบริษัทฯ 100% โดยแยกเป็นเงินในส่วนของนายบัญชา จำนวน 36,900,000 บาท และของ นายสุทธิพร จำนวน 14,400,000 บาท เป็นเงินส่วนตัวของบุคคลทั้งสองเอง หรือ เงินของมหาวิทยาลัย
แหล่งข่าวระดับสูงจากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา ว่า ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการจัดตั้งบริษัท ไฟล์ทฯ และมีคนในมหาวิทยาลัยเข้าไปร่วมถือหุ้นดังกล่าว เกิดขึ้นจากการที่มหาวิทยาลัยต้องการดำเนินโครงการห้องฝึกปฏิบัติการเครื่องบินฝึกจำลอง จึงได้มอบหมายให้ผู้รับผิดชอบ ไปติดต่อผู้ถือหุ้นในต่างประเทศ เข้าให้มาร่วมลงทุนทางธุรกิจด้วยกัน ในลักษณะการจัดตั้งบริษัทร่วมกัน และใช้เงินทุนของมหาวิทยาลัย ไปดำเนินการ
แต่ปรากฎว่า เมื่อถึงเวลาผู้ร่วมลงทุนในต่างประเทศ ไม่มาดำเนินการรวมลงทุนด้วย จึงทำให้ผู้ถือหุ้นบริษัทมีเพียงแค่ในส่วนของฝ่ายไทย จึงต้องมีการเชิญผู้ถือหุ้นภายนอกเข้ามาลงทุนด้วย
แต่หลังจากนั้นไม่นานทางมหาวิทยาลัย ก็ได้มีการอนุมัติเงินจำนวน 90 ล้านบาท เพื่อซื้อหุ้นคืนจากผู้ถือหุ้นรายอื่นทั้งหมด เพื่อนำมาบริหารงานเอง ก่อนที่บริษัทจะประสบปัญหาการขาดทุนในเวลาต่อมา
"ประเด็นของเรื่องนี้ ไม่ได้เป็นเรื่องการมีผลประโยชน์ทับซ้อนอะไร เพราะเงินที่อธิการบดีนำไปใช้ในการซื้อหุ้นบริษัทเป็นเงินของมหาวิทยาลัย แต่มันอยู่ที่การนำเงินของมหาวิทยาลัยไปใช้โดยไม่มีการขออนุญาตจากสภาฯ ก่อน ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงแรกที่มีการนำเงินของมหาวิทยาลัยไปใช้ในการซื้อหุ้นบริษัท ก่อนที่จะมีขออนุมัติสภาฯ ในภายหลังเป็นวงเงิน 15 ล้านบาท และช่วงสองเมื่อได้รับอนุมัติจากสภาฯ ไปแล้ว กลับนำเงินไปใช้ซื้อหุ้นทั้งหมดคืนมาอีกเป็นจำนวนเงิน 90 กว่าล้าน ไม่ใช่จำนวน 15 ล้านบาท และยังมีการปล่อยเงินกู้ยืมให้กับบริษัทอีก 235 ล้านบาท ซึ่งก็ไม่ได้ผ่านการอนุมัติจากสภาฯ เช่นกัน นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องการแจ้งข้อมูลการใช้จ่ายเงินกับ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายอีกด้วย "
แหล่งข่าวยังระบุด้วยว่า กรณีโครงการห้องปฏิบัติการเครื่องฝึกบินดังกล่าว ปัจจุบันนายกสภาฯ ได้มีการสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนไปแล้ว และมีการสรุปผลออกมาอย่างเป็นทางการ โดยพบว่า ฝ่ายบริหารมีความผิดจริง ในกรณีที่ไม่ปฏิบัติตามระเบียบ โดยเฉพาะการนำเงินของมหาวิทยาลัย ไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต และเงินบางส่วนก็ถูกดึงมาจากเงินกองทุนและมูลนิธิ ที่มีข้อห้ามเรื่องการนำมาใช้จ่าย
"หลังจากที่ผลการสอบสวนออกมาชัดเจน ทางอธิการฯ ก็ยอมรับว่าทำไม่ถูกต้องตามระเบียบจริง แต่ยังไม่มีการพูดถึงเรื่องการลาออกแสดงความรับผิดชอบ แต่รับปากว่าจะปรับปรุงการบริหารงานให้ดีขึ้น " แหล่งข่าวระบุ