ข้อเสนอ ป.ป.ช.ชงแก้สารพัดปัญหาแรงงานไทย! ยุคเปิดเสรีอาเซียน
"...ให้กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เร่งเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพของบุคคลากรในประเทศ โดยพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะการใช้ภาษาอังกฤษให้ได้มากขึ้น และส่งเสริมการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ ฝึกให้เกิดความคุ้มเคยในการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ เริ่มตั้งแต่ระดับเยาวชนและประชาชนทั่วไป ..."
ในการนำเสนอมาตรการป้องกันการทุจริตในกระบวนการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศ ของ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบอย่างเป็นทางการ ช่วงปลายเดือนมีนาคม 2558 ที่ผ่านมา
นอกเหนือจากการเร่งรัดการปฏิบัติงานของ คณะกรรมการพัฒนาการจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน จัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์ใหม่ สำหรับการไปทำงานต่างประเทศของแรงงานไทยให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
รวมถึงแนวทางการป้องกันปัญหาการทุจริต อันเกิดจากความร่วมมือกันระหว่าง นักการเมือง และข้าราชการ ที่เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์จากธุรกิจบริษัทจัดหางาน ตามที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำเสนอไปแล้ว
(อ่านประกอบ : ปูด "นักการเมือง" ตั้งบ.ผู้ขาดธุรกิจจัดหางาน-เรียกสินบน! ป.ป.ช.ชงมาตรการแก้ทั้งระบบ)
ป.ป.ช. ยังได้เสนอแนวทางในการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีภายใต้ประชาคมอาเซียน ให้ที่ประชุม ครม. รับทราบอย่างเป็นทางการด้วย
โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. เร่งกำหนดนโยบายและปรับโครงสร้างการบริหารจัดการให้สอดคล้องกับพันธกรณีภายใต้ประชาเศรษฐกิจอาเซียน รวมทั้งการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในสาขาต่างๆ เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และกำหนดมาตรการคุ้มครองธุรกิจและอุตสาหกรรมของประเทศ เพื่อความเหมาะสม พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและเสริมสร้างสมรรถนะความสามารถในด้านการแข่งขันกับประเทศในกลุ่มอย่างเป็นธรรมและมีประสิทธิภาพ
รวมทั้ง กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและข้อบังคับเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือและคุ้มครองแรงงานไทย เช่น กำหนดสัดส่วนความเป็นเจ้าของธุรกิจของนักลงทุนต่างประเทศ
2. ให้กระทรวงแรงงานและหน่วยงานอื่นของรัฐ ที่มีบทบาท หน้าที่ และรับผิดชอบเกี่ยวกับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐฏิจอาเซียนด้านการเปิดเสรีเคลื่อนย้ายแรงงาน ประสานและบูรณาการการปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมทั้งภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง
อาทิ สภาหอการค้าและหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมวิชาชีพต่างๆ เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ในการเตรียมความพร้อมรองรับการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีภายใต้ประชาคมอาเซียน ในปี พ.ศ.2558
3. จัดตั้งสำนักงานแรงงานไทยในอาเซียน เพื่อช่วยเหลือกลุ่มอาชีพที่โยกย้ายไปทำงานในต่างประเทศ ให้ปฏิบัติงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และถูกต้องตามกฎระเบียบที่ตั้งขึ้นของประเทศสมาชิกอาเซียน
พร้อมทั้งกำหนดกลยุทธ์ในด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์ โดยหาวิธีการสร้างแรงจูงใจให้แรงงานมีฝีมือที่มีคุณภาพเป็นคนดีและคนเก่งให้ทำงานอยู่ในประเทศ ป้องกันปัญหาสมองไหลไปสู่องค์กร ของต่างประเทศ และป้องกันปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งเป็นที่ต้องการทั้งจากองค์กรภายในและองค์กรภายนอกประเทศ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งพัฒนาและปรับปรุงแรงงานมีฝีมือในสาขาวิชาชีพต่างๆ ให้เท่าเทียมนานาประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อมที่จะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
พร้อมทั้งเร่งพัฒนาทักษะด้านฝีมือแรงงานไทยให้สามารถรองรับและสอดคล้องกับภาคการผลิตและอุตสาหกรรมการใช้เครื่องจักรกลและคอมพิวเตอร์สารสนเทศ
4. ควรดำเนินการวางแผนและจัดทำระบบการนำเข้าและส่งออกแรงงานที่ดี เพื่อความสมดุลและเป็นไปตามมาตรฐานสากล ได้แก่ การจัดให้มีการขึ้นทะเบียนแรงงานระดับชาติ การจัดอบรมด้านภาษา การให้โอกาสในการฝึกอบรมแก่นายจ้างและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในเรื่องความแตกตางทางเชื้อชาติ ศาสนา ระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง การจัดอบรมทางวิชาชีพ การรับเรื่องร้องทุกข์และการจัดกลไกการเยียวยาแก่ผู้มีปัญหาด้านแรงงาน ตลอดจนจัดให้มีการรวมกลุ่มของแรงงานย้ายถิ่นเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
5. ให้ กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เร่งเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพของบุคคลากรในประเทศ โดยพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะการใช้ภาษาอังกฤษให้ได้มากขึ้น และส่งเสริมการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ ฝึกให้เกิดความคุ้มเคยในการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ เริ่มตั้งแต่ระดับเยาวชนและประชาชนทั่วไป โดยมุ่งหวังให้สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้เทียบเท่ากับประเทศเพื่อนบ้านในหลายประเทศที่สามารถใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวันได้ โดยกระทรวงศึกษาธิการ ตลอดจนมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งของรัฐและเอกชน ต้องปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อเตรียมความพร้อมและพัฒนาทักษะด้านภาษาอังกฤษและภาษาที่ใช้ในอาเซียนให้กับนักเรียนนักศึกษาเพิ่มเติม
ทั้งหมดนี่ คือ ข้อเสนอของป.ป.ช. ที่มองเห็นถึงปัญหาการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรึภายใต้ประชาคมอาเซียน ในปี 2558 ของประเทศไทย ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในขณะนี้